สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดตัวโครงการ “Innovation Thailand” ตั้งเป้ายกระดับประเทศไทยจากประเทศฐานวัฒนธรรม สู่ภาพลักษณ์ใหม่ในการเป็นประเทศฐานนวัตกรรม ชูนวัตกรรมเพื่อความประณีตในการใช้ชีวิต หรือ Innovation for Crafted Living ซึ่งเป็นดีเอ็นเอนวัตกรรมที่เป็นจุดเด่นของคนไทย เผยแพร่สู่สายตาชาวโลก
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า NIA เป็นองค์กรที่มีบทบาทในการเสริมสร้างระบบนวัตกรรมแห่งชาติ และมุ่งสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศแห่งนวัตกรรม โดยเล็งเห็นความสําคัญของนวัตกรรมว่าจะช่วยขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและความสุขของประชาชนได้อย่างยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการสนับสนุนทุนเพื่อสร้างนวัตกรไทย สร้างกิจกรรมและโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมเพื่อเพิ่มโอกาสให้คนไทยสามารถเข้าถึงนวัตกรรมได้อย่างทั่วถึง และล่าสุดได้ริเริ่มโครงการ “Innovation Thailand” เพื่อสร้างภาพลักษณ์และอัตลักษณ์ด้านนวัตกรรมของประเทศไทย พร้อมทั้งสื่อสารไปสู่นานาชาติ ซึ่งโครงการนี้นับว่าสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ที่มีนโยบายที่จะสร้างและพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับประเทศไทยไปสู่ประเทศฐานนวัตกรรม (Innovation Nation) โดยการพัฒนานวัตกรรมชุมชน นวัตกรรมเชิงธุรกิจ และนวัตกรรมสังคม
“ที่ผ่านมาประเทศไทยได้สร้างนวัตกรรมมาแล้วมากมาย แต่คนต่างชาติรวมถึงคนไทยด้วยกันเองอาจจยังไม่ค่อยมีการรับรู้ และยังมีติดกรอบมุมมองต่อประเทศไทยว่าเป็นประเทศแห่งวัฒนธรรม ดังนั้น การเปิดมุมมองใหม่ประเทศไทยที่แตกต่างด้วยนวัตกรรม จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างการรับรู้และสร้างการยอมรับไปยังกลุ่มเป้าหมาย โดย NIA ได้ใช้แนวคิดเกี่ยวกับนวัตกรรมเพื่อการใช้ชีวิตอย่างประณีต (Innovation for Crafted Living) เป็นธีมหลักในการสื่อสาร ซึ่งนับเป็นดีเอ็นเอของคนไทยที่มีความประณีตในการใช้ชีวิต สะท้อนให้เห็นจากนวัตกรรมที่คนไทยได้สร้างสรรค์ขึ้น เพื่อตอบโจทย์การทำให้ชีวิตมีความสะดวกสบาย มีความสุข และมีความประณีตในการใช้ชีวิตมากขึ้น” ดร.พันธุ์อาจ กล่าว
Innovation Thailand เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อสื่อสารภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศเพื่อให้คนไทยรู้สึกภาคภูมิใจกับนวัตกรรมของไทย และเป็นอีกแรงเสริมที่จะช่วยจุดประกายให้คนไทยสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้เศรษฐกิจมากขึ้น อีกกลุ่มเป้าหมายที่สําคัญคือชาวต่างชาติที่ต้องการลงทุนหรือมองหานวัตกรรมจากประเทศไทย โดยจะสื่อสารผ่านช่องทางทั้งออฟไลน์และออนไลน์ อาทิ งานแสดงนิทรรศการ Innovation Thailand Expo การออกบูธร่วมกับงานต่างๆ ข่าวประชาสัมพันธ์ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก คลิปวิดีโอ เป็นต้น ซึ่งเนื้อหาที่จะสื่อสารนั้นมีทั้งข้อมูลโครงการ Innovation Thailand เรื่องราวนวัตกรรมของไทยทั้งในรูปของผลิตภัณฑ์ บริการ กระบวนการ รวมไปถึงรูปแบบใหม่ๆ ของธุรกิจที่มีการคิดค้นสร้างสรรค์และต่อยอดโดยคนไทย และความรู้หรือเทรนด์นวัตกรรม ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดนี้จะกลายเป็นฐานข้อมูลด้านนวัตกรรม (Innovation Database) และเป็น Hub of Innovation ให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงข้อมูลนวัตกรรมของประเทศไทยที่เป็นจริง จับต้องได้ และอัพเดท พิสูจน์ได้ว่าประเทศไทยมีนวัตกรรมมากมายและหลากหลาย
“การปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ให้กับประเทศไทยในครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน ซึ่งหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในแต่ละส่วนงานจะทำงานแบบบูรณาการ โดยเฉพาะเรื่องของการร่วมมือร่วมใจสร้างความเข้มแข็งและความเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน โดยมีเป้าหมายร่วมกันว่าจะผลักดันนวัตกรรมประเทศไทยให้เป็นยอมรับและได้อันดับสูงขึ้นจากการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก (GLOBAL INNOVATION INDEX) ซึ่งปีนี้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับความสามารถด้านนวัตกรรมอยู่ที่ 43 เพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 44 เมื่อปี 2561 และยังติดอันดับ 4 จากทั้งหมด 34 ประเทศในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง เป็นประเทศที่สามารถพัฒนานวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพเกินความคาดหมายเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ” ดร.พันธุ์อาจ กล่าว