“บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน)” หรือ OSP โชว์ผลประกอบการไตรมาส 3/62 เติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยกำไรสุทธิมูลค่า 838 บาท เพิ่มขึ้น 8.5% จากงวดเดียวกันของปีที่ผ่านมา ดันกำไรสุทธิ 9 เดือนแรกเพิ่มขึ้นเป็น 2,436 ล้านบาท จากความสำเร็จในการผลักดันตลาดเครื่องดื่มบำรุงกำลังและ Functional Drinks ในประเทศให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ มั่นใจไตรมาสสุดท้ายจะยังรักษาการเติบโตของผลการดำเนินงานที่ดีจากแผนการออกสินค้าใหม่ กลยุทธ์ควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่าย และกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดโรงงานใหม่ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมขยายตลาดเข้าสู่ประเทศเวียดนามและมีแผนการลงทุนในโรงงานผลิตขวดแก้วในประเทศเมียนมาร์ที่คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2564
นายเพชร โอสถานุเคราะห์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ. โอสถสภา หรือ OSP ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำของไทย เปิดเผยผลงานในไตรมาส 3/62 (งวดเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2562) ยังรักษาอัตราการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยบันทึกกำไรสุทธิมูลค่า 838 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่งผลให้กำไรสุทธิ 9 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 2,436 ล้านบาท จากความสำเร็จของกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มบำรุงกำลังที่ยังรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับหนึ่งไว้ที่ 53.5% ตามเป้า อีกทั้งยังเป็นผู้นำตลาดในส่วนเครื่องดื่ม Functional Drinks จากความสำเร็จของเครื่องดื่มซี-วิต และเปปทีน
ในไตรมาส 3/62 นั้น บริษัทฯ ยังคงเป็นผู้นำในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มบำรุงกำลังและเครื่องดื่ม Functional Drinks โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มมีการเติบโตในสินค้ากลุ่มหลักทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นสินค้าหลักอย่าง เอ็ม-150 เครื่องดื่มบำรุงกำลังที่มีส่วนผสมของสมุนไพรอย่าง โสมอินซัม รวมทั้งกลุ่มเครื่องดื่ม Functional Drinks ที่ได้รับความนิยมอย่างเครื่องดื่มซี-วิต โดยแบรนด์เอ็ม-150 ยังครองสถานภาพการเป็นผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่งถึง 37% ในขณะที่บริษัทฯ ยังผลักดันตลาด Functional Drinks ในภาพรวมให้เติบโตอย่างโดดเด่นด้วยแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักอย่าง ซี-วิต (C-Vitt) และ เปปทีนที่เติบโตถึง 37.8% และ 31.8% ตามลำดับ อีกทั้งยังมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างเครื่องดื่มวีพลัส ซึ่งเป็นเครื่องดื่มผสมเกลือแร่ วิตามินซี และคูลมินต์ และเครื่องดื่มสลิมม่า ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่ช่วยควบคุมน้ำหนักโดยลดการดูดซึมและเผาผลาญไขมันที่มีส่วนผสมของใยอาหาร แอลคาร์นิทีน และวิตามินบี ซึ่งเป็นการออกผลิตภัณฑ์โดยใช้การสร้างธุรกิจแบบสตาร์ทอัพ ที่ออกสินค้าลองตลาดเจาะผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มและจัดจำหน่ายในช่องทางเฉพาะ (Selective Channel) อาทิ ช่องทางออนไลน์ และสถานออกกำลังกาย โดยจะใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล แบรนด์ เบบี้มายด์ยังคงรักษาความเป็นผู้นำในตลาดสบู่เหลวสำหรับเด็ก ต่อยอดความสำเร็จจากกลุ่มผลิตภัณฑ์เบบี้มายด์ สวีท อัลมอนด์ ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี นอกจากนั้น ยังได้รับผลดีจากกลยุทธ์ควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่าย หรือ Fit Fast Firm อาทิ การปรับสูตรสินค้า การปรับบรรจุภัณฑ์ และอื่นๆ ส่งผลดีต่ออัตราการทำกำไรขั้นต้นให้ปรับตัวดีขึ้นเป็น 34.6% หรือเพิ่มขึ้น 2.8% จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา หนุนอัตรากำไรสุทธิให้เพิ่มขึ้นเป็นไปตามแผนที่วางไว้
“การตลาดเชิงรุกและการค้นคว้าวิจัยสร้างสูตรสินค้าใหม่ๆ ช่วยให้เราตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุดและรวดเร็ว ทำให้เรารักษาความเป็นผู้นำในตลาดของผลิตภัณฑ์กลุ่มต่างๆ ได้ดี นอกจากนี้ ไตรมาสที่ผ่านมา เราได้มีการเปิดโรงงานผลิตขวดแก้วที่ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมโรจนะและโรงงานผลิตแป้งแห่งใหม่ที่ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ช่วยเพิ่มกำลังการผลิตรองรับความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็ว” นายเพชรกล่าว
ส่วนไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ โอสถสภาต่อยอดความสำเร็จจากการเป็นผู้นำตลาดในประเทศไทยเพื่อขยายเข้าสู่ตลาดเวียดนามโดยเข้าซื้อหุ้นสัดส่วน 60% ในบริษัท Osotspa VTA Joint Stock Company เพื่อประกอบธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มบำรุงกำลังในประเทศเวียดนาม โดยบริษัทฯ เชื่อมั่นในศักยภาพการเติบโตของตลาด ทั้งด้านจำนวนประชากรที่สูงและส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาว เศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่อง และกำลังซื้อและการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้น โดยสร้างและต่อยอดเครือข่ายการจัดจำหน่ายสินค้าของหุ้นส่วนทางธุรกิจ ออกสินค้าที่มีความแตกต่าง และสร้างตำแหน่งทางการตลาดที่สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน
ในขณะที่กลุ่มประเทศ CLM (กัมพูชา ลาว และเมียนมาร์) ซึ่งเป็นตลาดหลักของบริษัทฯ นั้น ยังคงรักษาอัตราการเติบโตที่ดีได้อย่างต่อเนื่อง โดยโรงงานผลิตเครื่องดื่มแห่งใหม่ในประเทศเมียนมาร์จะก่อสร้างแล้วเสร็จในปีนี้ และจะเริ่มดำเนินการผลิตอย่างเป็นทางการในไตรมาส 1/63 ตามแผนที่วางไว้ รวมทั้งยังวางแผนลงทุนในโรงงานผลิตขวดแก้วในประเทศเมียนมาร์เพิ่มเติมผ่านทางกลุ่มบริษัท Myanmar Golden Eagle Company Limited (MGE) และบริษัท Myanmar Golden Glass Company Limited (MGG) เพิ่มอัตรากำไรให้ดีขึ้น จากระบบการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิภาพในการผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี พ.ศ. 2564