โลกแห่งศตรวรรษที่ 21 ได้ก้าวสู่ยุคเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology) ที่มีบทบาทสำคัญต่อทั้งเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เรียกว่าเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องในการดำรงชีวิตของคนเราตลอดเวลาและท่ามกลางการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ก็ได้ส่งผลให้เกิด Disruptive Technology หรือเทคโนโลยีที่สร้างมูลค่าให้กับตัวผลิตภัณฑ์ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและอาจทำให้ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีแบบเดิมๆ ล้มหายตายจากไปนั่นเอง
ด้วยกระแสของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดังกล่าวรัฐบาลปัจจุบันจึงมุ่งเน้นแผนงานในการตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีว่าด้วยไทยแลนด์ 4.0 (Thailand 4.0) ที่มุ่งเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเดิมๆไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมหรือกล่าวง่ายๆ หากเป็นภาคอุตสาหกรรม ก็มุ่งไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม ภาคเกษตรก็ต้องเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยีหรือ Smart Farmingโดยเกษตรกรต้องร่ำรวยขึ้น และเป็นเกษตรกรแบบเป็นผู้ประกอบการ
วิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) แบบเดิมก็จะเปลี่ยนไปสู่การเป็น Smart Enterprises และ Startups ที่มีศักยภาพสูง เป็นต้น ซึ่งแผนงานภายใต้ยุทธศาสตร์ต่างๆ มุ่งหวังที่จะทำให้ไทยก้าวไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนนั่นเอง ซึ่งแน่นอนว่ากลไกหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามเพื่อการตอบโจทย์สิ่งเหล่านี้นั่นคือ “พลังงาน” ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
พลังงานยุคปัจจุบันกำลังพัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด และเข้าถึงชุมชนมากขึ้น อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย (โซลาร์รูฟท็อป) เทคโนโลยีแบตเตอรี่(ESS) ฯลฯ ซึ่งหากมองย้อนกลับมาที่ไทยแล้ว เวทีที่เป็นจุดประกายให้เยาวชน ได้มีโอกาส นำความคิดสร้างสรรค์ สู่การคิดค้นใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ในด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อม อย่าง โครงการ “GPSC Young Social Innovator 2019“ได้สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของเยาวชนไทย กับการพัฒนาความคิดในด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาในสังคมของตนเองไม่แพ้ชาติใดในโลกเลยทีเดียว เพราะ 5 โครงงานสิ่งประดิษฐ์เยาวชนที่ผ่านเข้ารอบในเวทีประกวดครั้งนี้น่าสนใจเป็นอย่างมาก เริ่มจาก โครงงานแรก “แคปซูลเก็บน้ำใต้ดิน”ของทีมต้นกล้าเปลี่ยนโลก จากโรงเรียนปราจีนกัลยาณี จ.ปราจีนบุรี ที่นำตัวแคปซูลที่เป็นวัสดุเหลือใช้จากในท้องถิ่นมาใช้ปลูกพืชเพียงขุดหลุมแล้วนำต้นกล้า วางเหนือแคปซูล รดน้ำ เพียงครั้งเดียวไม่ต้องกลับไปรดอีกเพราะแคปซูลจะดูแลความชุ่มชื้นจนต้นกล้าเติบโต
โครงงานที่สอง Better life battery โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง ผลงาน “Modification of Li-S battery with irradiated activated carbon derived from Sticky Rice” หรือการเปลี่ยนข้าวเหนียวเป็นพลังงานไฟฟ้า ด้วยการนำเมล็ดข้าวเหนียวดิบมาบดอบในอุณหภูมิผ่านรังสีด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ซึ่งมีอายุใช้งานกว่าแบตเตอรี่ทั่วไป 3-4 เท่า
โครงงานที่ 3 “เซลล์ไฟฟ้าแบคทีเรียเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำเสีย”จาก โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง ที่มุ่งให้ชุมชนผลิตกระแสไฟฟ้าได้เองจากน้ำเสีย โดยสร้างขั้วไฟฟ้าแบบใหม่ที่เรียกว่า L-cysteine บนอนุภาคนาโนเหล็กยึดติดกับกราฟีนออกไซด์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจับแบคทีเรียในน้ำเสีย
โครงงานที่ 4 “ปลอกเทียมห่อผลไม้” โรงเรียนพนมสารคาม “พนมอดุลวิทยา” จ.ฉะเชิงเทรา ที่คิดค้นวิธีป้องกันแมลงกัดกินผลไม้และลดการใช้กระดาษที่ย่อยสลายไม่ได้ในการหุ้มผลไม้ด้วยการนำเส้นใยจากหญ้ามาปั่นแล้วตากแห้ง จากนั้นตัดให้เป็นรูปทรงตามวัตถุที่ใช้งานพร้อมกับชุบน้ำมันหอมระเหย เพื่อป้องกันแมลงแล้วเคลือบน้ำยางนำเส้นกล้วยมาติดกับปลอกเพื่อเป็นหูหิ้ว
โครงงานที่ 5 “การพัฒนาไฮโดรเจลจากไคโตซานและพอลิไวนิลแอลกอฮอล์ สำหรับอนุบาลเมล็ดข้าวพันธุ์ จาก โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยมุกดาหาร จ.มุกดาหาร เพื่อช่วยให้ชาวนาที่ไม่สามารถนำข้าวเก่ามาเพาะปลูกได้ ด้วยวิธีการหาอัตราส่วนที่เหมาะสมด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์จากนั้นนำสารผสมมาขึ้นรูปเป็นไฮโดรเจล ต่อจากนั้นนำมาอนุบาลข้าวเก่าตั้งระยะเมล็ดจนถึงระยะการเป็นต้นกล้า
สำหรับ “GPSC Young Social Innovator 2019 ” ดำเนินงานมาเป็นปีที่ 2 โดยการสนับสนุนจากบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท.ภายใต้แนวคิด “พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” โดยเปิดรับสมัครนักเรียน นักศึกษาจากทั่วประเทศส่งผลงานเข้าร่วมประกวดโดยปีนี้มีผู้สนใจส่งร่วมกว่า 200 โครงงาน และมีโครงงานที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกจำนวน 30 โครงงาน และคัดเหลือ 5 โครงงานรอบสุดท้าย ก่อนที่จะมีการตัดสินทีมผู้ชนะเลิศ ในช่วงต้นปี 2563
“การจัดทำโครงการดังกล่าวเพื่อเปิดโอกาสให้กับเยาวชนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบโครงงานและใช้องค์ความรู้ในด้านต่างๆ มาพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์ หรือวิธีการ กระบวนการที่มุ่งแก้ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน ที่จะสามารถนำไปสู่การพัฒนาต้นแบบ และมีโอกาสนำไปใช้ในพื้นที่ที่มีปัญหาได้จริง รวมถึงสามารถนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการออกสู่ท้องตลาดในเชิงพาณิชย์ เพื่อการขับเคลื่อนพัฒนาไปสู่การเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprises)” นายศิริเมธ ลี้ภากรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารสินทรัพย์ บริษัท GPSC กล่าวย้ำ ถึงแนวทางส่งเสริมขององค์กรที่มีต่อเยาวชนไทย
การคิดค้น วิจัยและพัฒนาเหนือสิ่งอื่นใดคือผลงานต้องไม่ถูกทิ้งไว้บนหิ้ง จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันต่อยอดให้เกิดผลิตภัณฑ์และการบริการที่เกิดขึ้นจริงเพื่อให้ไทยนั้นสามารถนำนวัตกรรมมาพลิกฟื้นเศรษฐกิจระดับฐานรากเพื่อตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 สร้างความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนให้กับคนไทยอย่างแท้จริง
ข้อมูลเกี่ยวกับ GPSC
GPSC ถือหุ้นโดย บมจ.ปตท. (PTT) ในสัดส่วน 22.8% บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) 22.7% บมจ.ไทยออยล์ (TOP) 8.9% บจ. ไทยออยล์ พาวเวอร์ (TP) 20.8% และนักลงทุนทั่วไป 24.8%
GPSC แกนนำในการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปโภคของกลุ่ม ปตท. ดำเนินธุรกิจหลักในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อจำหน่ายแก่ลูกค้าอุตสาหกรรม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ได้รับอนุมัติแล้วตามสัดส่วนการถือหุ้น (Equity MW) รวมประมาณ 5,026 เมกะวัตต์ ไอน้ำรวมประมาณ 2,876 ตันต่อชั่วโมง น้ำเย็นรวมประมาณ 15,400 ตันความเย็น และน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมรวมประมาณ 7,372 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง