บัตรเเรบบิท จ่าย “สมาร์ทบัส” ได้เเล้ว ตั้งเป้าปีหน้า 2,000 คัน-เติมเงินผ่านโมบายเเบงกิ้ง

บัตรเเรบบิท รุกตลาดรถโดยสารประจำทาง “สมาร์ทบัส” เปิดให้บริการชำระค่าโดยสาร “ไร้เงินสด” ระบบเดียวกันกับบีทีเอส นำร่องสาย 104, 150 ต้นปีหน้าขยายอีก 5 สาย ตั้งเป้าสิ้นปี 2563 ได้ 22 สาย 2,000 คัน พร้อมเปิดระบบเติมเงินผ่านโมบายแบงกิ้งของธนาคาร ไตรมาสเเรกปีหน้า

รัชนี แสนศิลป์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด (บีเอสเอส) ผู้ให้บริการบัตรแรบบิท (Rabbit Card) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา บัตรแรบบิท ได้ร่วมมือกับบริษัท สมาร์ทบัส จำกัด ผู้ประกอบการให้บริการรถร่วมบริการ ขสมก. เปิดตัวระบบการชำระค่าโดยสารด้วยบัตรแรบบิทโดยใช้มาตรฐานเดียวกับระบบที่ใช้ในรถไฟฟ้าบีทีเอส

โดยเริ่มทดลองใช้กับ รถสมาร์ทบัสสาย 104 ปากเกร็ด–หมอชิต 2 และสาย 150 ปากเกร็ด–บางกะปิ พร้อมส่วนลด 2 บาท/เที่ยว ตั้งแต่ 19 พ.ย. 62–31 มี.ค. 63 ซึ่งถือว่าเป็นการนำระบบการชำระเงินตามมาตรฐานสากลมาใช้ในรถโดยสารประจำทางสาธารณะในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก เเละสามารถใช้กับบัตรเเรบบิทได้ทุกประเภท ได้รับเสียงตอบรับที่ดี เนื่องจากสายที่ทดลองผู้ใช้เป็นนักศึกษาเเละคนทำงานที่ต้องเดินทางมาต่อรถไฟฟ้าบีทีเอสอยู่เเล้ว เเต่ก็ยังต้องการผู้ใช้ใหม่อีกมาก

นอกจากนี้ยังมีของขวัญปีใหม่มอบให้เเก่ผู้ใช้บัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพแรบบิท (Bangkok Bank Rabbit Credit Card) ที่ชำระค่าบริการรถสมาร์ทบัสสายดังกล่าว ด้วยส่วนลด 1 บาทตลอดสาย ในช่วง 1 ธ.ค. 2562- 31 ม.ค.2563 นี้เท่านั้น 

“ภายในไตรมาสแรกของปี 2563 จะมีการติดตั้งเพิ่มในรถสมาร์ทบัสอีก 5 สาย ได้เเก่ สาย 51, 52, 147 , 167 เเละอีกหนึ่งสายที่กำลังจะเปิดบริการเร็วๆ นี้ เเละคาดว่าสิ้นปี 2563 จะสามารถติดตั้งระบบการชำระเงินด้วยบัตรแรบบิทนี้ได้อย่างสมบูรณ์ในรถสมาร์ทบัสสายอื่นๆ อีกราว 22 สาย รวมกว่า 2,000 คัน พร้อมขยายบริการให้สามารถเติมเงินเรียลไทม์เเละขายบัตรเเรบบิทบนรถสมาร์ทบัสได้ด้วย “

สำหรับวิธีการแตะจ่ายบัตรแรบบิท ให้แตะบัตรแรบบิทที่ประตูทางขึ้น (ด้านหน้ารถ) ทุกครั้ง โดยที่บัตรต้องมีเงินคงเหลือไม่น้อยกว่าอัตราค่าโดยสารสูงสุด (25 บาท) เมื่อถึงป้ายรถเมล์ที่ต้องการให้แตะบัตรแรบบิทที่ประตูทางลง ระบบจะคำนวณค่าโดยสารตามระยะทางที่กำหนด คือ 4 กิโลเมตรแรก 15 บาท, 4-16 กิโลเมตร 20 บาท และ 16 กิโลเมตรขึ้นไป 25 บาท หากลืมแตะบัตร ระบบจะหักค่าโดยสารในอัตราสูงสุด

จากการขยายเครือข่ายการชำระค่าโดยสารด้วยบัตรแรบบิทในระบบขนส่งสาธารณะนี้ คาดว่าในปี 2563 จำนวนผู้ใช้บัตรแรบบิทจะเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 8 แสนถึง 1 ล้านคนต่อวัน

พร้อมทั้งอานิสงส์จากการเพิ่มเส้นทางการให้บริการของรถไฟฟ้าบีทีเอส ในระหว่างปี 2563-2564 ระยะทางจะเพิ่มขึ้นจาก 50 กม. เป็น 170 กม. ซึ่งเส้นทางที่เพิ่มขึ้น คือ สายสีเขียวเหนือ (หมอชิต–คูคต) สายสีเหลือง (ลาดพร้าว–สำโรง) และสายสีชมพู (แคราย–มีนบุรี) ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ใช้งานบัตรแรบบิทเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 1 ล้านคนต่อวัน

“ช่วงต้นปีหน้า บัตรแรบบิทจะเพิ่มความสะดวกสบายในการเติมเงินให้ผู้ใช้ โดยจะพัฒนาให้บัตรแรบบิทสามารถเติมเงินผ่าน โมบายแอปพลิเคชั่นของแรบบิท และผ่านโมบายแบงกิ้งของธนาคารต่างๆ ได้ โดยเบื้องต้นได้ร่วมกับ SCB , BBL เเละ Kbank เเล้ว”

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการออกบัตรแรบบิทไปแล้วกว่า 13 ล้านใบ โดยเป็นอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด เฉลี่ยปีละกว่า 2 ล้านใบ โดยใช้เดินทางขนส่งสาธารณะได้มากถึง 10 การเดินทาง ครอบคลุมทั้งรถไฟฟ้า รถเมล์ รถบัส และเรือ ในพื้นที่รวม 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี นครปฐม เชียงใหม่ และภูเก็ต รวมถึงการมีร้านค้าพันธมิตรเพิ่มขึ้นมากกว่า 300 ร้านค้า และจุดบริการที่ครอบคลุมทั่วประเทศกว่า 12,000 จุด

สำหรับผู้ใช้ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มนักศึกษาไปจนถึงวัยทำงาน ช่วงอายุ 20-35 ปี โดยในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส ผู้โดยสารส่วนใหญ่เดินทางด้วยบัตรแรบบิทมากถึง 70% ของจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ย 900,000 เที่ยวคนต่อวัน ส่วนที่เหลือเป็นการใช้งานบัตรโดยสารเที่ยวเดียวประมาณ 29% และบัตรโดยสารประเภทหนึ่งวันประมาณ 1% เเละมีผู้ใช้เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น 5%