โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เดินหน้ารุกขยายโมเดล บำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก นำร่อง “สถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์”

ท่ามกลางโลกปัจจุบันที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งเชิงโครงสร้างประชากร สัดส่วนประชากรเปลี่ยนไปเป็น “สังคมอายุยืน” ที่ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น และก้าวสู่ “สังคมสูงวัย” ขณะที่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการแพทย์เติบโตแบบก้าวกระโดด นับเป็นโอกาสและความท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่จึงจำเป็นต้อง Transform อย่างมีกลยุทธ์ มีทัศนคติเชิงบวก แสดงศักยภาพของบุคลากร และใช้เทคโนโลยีเข้ามาร่วมในกระบวนการทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรให้มีทักษะการเรียนรู้ตลอดเวลา เพื่อพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

นพ. สุธร ชุตินิยมการ ผู้อำนวยการด้านบริหาร บำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก เปิดเผยว่า “โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงในทุกๆ มิติ โดยโรงพยาบาลมีวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนองค์กรสู่การบริบาลสุขภาพแบบองค์รวมระดับโลกด้วยนวัตกรรม และมีเจตนารมณ์ที่จะขยายการให้บริการเพื่อรองรับกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น ด้วยมาตรฐานการดูแลรักษาของบำรุงราษฎร์ในวงกว้างมากขึ้น แต่ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ทั้งการเดินทาง ระยะทาง ภูมิลำเนาที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัด จึงทำให้ผู้ป่วยกลุ่มบางกลุ่มไม่สามารถเข้ารับการรักษาที่บำรุงราษฎร์ได้ ในขณะที่บำรุงราษฎร์มีทีมแพทย์ที่ขยายใหญ่ขึ้นและมีองค์ความรู้ที่สามารถถ่ายทอดแบ่งปันซึ่งกันและกันในทีมแพทย์ จึงเป็นที่มาของการริเริ่มโมเดลธุรกิจ “บำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก” (Bumrungrad Health Network) นับเป็นกลยุทธ์ในการต่อยอดพัฒนาความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลพันธมิตรเพื่อขยายกลุ่มเป้าหมายในเซกเม้นต์ระดับกลาง”

โดยบำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก ได้เริ่มนำร่องจาก “สถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์”เนื่องด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน มีผู้ป่วยที่เป็นโรคระบบประสาทไขสันหลังและกระดูกสันหลังถูกกดทับ หรือการบาดเจ็บกระดูกสันหลังในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสาเหตุของโรคมาจากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องอายุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการเสื่อมของข้อต่อและกระดูกสันหลัง การใช้อิริยาบถที่ไม่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง หรือจากอุบัติเหตุต่างๆ ที่ก่อให้เกิดแรงกระแทก ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาเส้นประสาทไขสันหลังถูกกดทับ กระดูกสันหลังเคลื่อน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการปวดหลังส่วนล่าง และพบอาการปวดหลังมากที่สุดในช่วงอายุ 40-59 ปี ถึงร้อยละ 70 และจากสถิติพบว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับประสาทไขสันหลังประมาณ 250,000 – 500,000 รายต่อปี ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน มีโอกาสสูญเสียชีวิตหรือเกิดความพิการตลอดชีวิต

นพ. วีระพันธ์ ควรทรงธรรมผู้อำนวยการสถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ ในฐานะประสาทศัลยแพทย์และผู้อำนวยการด้านการแพทย์กระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์เฮลท์เน็ตเวิร์กซึ่งเป็นผู้บรรยายและนำการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อถ่ายทอดเทคนิควิธีการผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอนโดสโคป ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผ่าตัดกระดูกสันหลังแผลเล็กขนาด 0.8 -1.1ซม. กล่าวว่า “สถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ นับเป็นสถาบันที่จัดการสอนการผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคปในระดับภูมิภาคเอเชียมาอย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปี  โดยได้รับการคัดเลือกจาก Professor Sebastien Ruettenผู้คิดค้นเทคนิคดังกล่าว ให้ร่วมกับ โรงพยาบาล Saint Anna-Herne แห่งประเทศเยอรมนีจัดตั้งศูนย์การฝึกอบรมการผ่าตัดผ่านกล้องเอ็นโดสโคปในภูมิภาคเอเชีย เป็นแห่งที่สองต่อจากที่ประเทศเยอรมนีสถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ได้มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการการผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคปร่วมกับProfessor Sebastien Ruettenมาอย่างต่อเนื่องทุกปี และในปี 2563 นี้ จะเข้าสู่การจัดอบรมครั้งที่ 51ซึ่งที่ผ่านมาได้อบรมศัลยแพทย์กระดูกสันหลังจากนานาประเทศมาแล้วกว่า 2,000 คน”

สถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ ได้สั่งสมประสบการณ์ความชำนาญและพัฒนาการรักษามาโดยตลอด เน้นการตรวจรักษาอย่างครบวงจร โดยมีแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางกว่า 40 คนในทีมแพทย์กระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์กและทีมสหวิชาชีพที่เกี่ยวข้องในการรักษาโรคกระดูกสันหลัง ซึ่งได้ผ่านการฝึกอบรมและมีประสบการณ์สูงนับตั้งแต่ก่อตั้งในปีพ.ศ. 2553จนถึงปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาทั้งด้วยวิธีการผ่าตัดและไม่ผ่าตัด(intervention) อาทิ การใช้เลเซอร์ การใช้คลื่นวิทยุ รวมกว่า 9,000 รายซึ่งเป็นการผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยเทคโนโลยีการผ่าตัดผ่านกล้องเอ็นโดสโคปมากกว่า 1,000 ราย และมีผลสำเร็จในระดับที่ดีและดีเยี่ยมกว่าร้อยละ90ซึ่งเกิดจากความทุ่มเท ความพิถีพิถัน เเละประสบการณ์จากทีมแพทย์และทีมงานมากว่า 10 ปี

นพ. สุธร กล่าวว่า “รูปแบบโมเดล‘บำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก’โรงพยาบาลจะร่วมลงทุนจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Center of Excellence) ให้กับเครือข่ายโรงพยาบาลพันธมิตร ซึ่งจะดำเนินงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในลักษณะ Joint Operation หมายรวมถึง เงินทุน ค่าใช้จ่าย ทรัพยากรและรายได้ มีการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้และความชำนาญทางการแพทย์ให้กับทีมแพทย์ของโรงพยาบาลพันธมิตร เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการรักษาตามมาตรฐานของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ให้กระจายไปในภูมิภาคต่างๆ ในราคาที่สอดคล้องกับสภาวะของภูมิภาคนั้น ทั้งนี้ บำรุงราษฎร์จะเป็นผู้จัดหาเครื่องมืออุปกรณ์และเทคโนโลยีขั้นสูงที่จำเป็นในการรักษาตามความเหมาะสมของเงินทุนและข้อตกลงร่วมกับโรงพยาบาลแต่ละแห่งโดยอยู่ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อการดูแลรักษาผู้ป่วย”

นพ. วีระพันธ์ กล่าวว่า “ความปลอดภัยของผู้ป่วย ถือเป็นหัวใจสำคัญของบำรุงราษฎร์ สำหรับโครงการ “ศูนย์กระดูกสันหลัง” แห่งแรกที่เริ่มกับโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ นั้น จะมีขั้นตอนการดูแลรักษาและมาตรฐานความปลอดภัยในระดับใกล้เคียงกับบำรุงราษฎร์ โดยมีทีมแพทย์สถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์และแพทย์ของโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิร่วมทำการรักษา รวมถึงให้คำปรึกษาและแนะนำผู้ป่วย ตั้งแต่เริ่มวินิจฉัย คัดกรองเพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมและตัดสินใจร่วมกันก่อนทำการรักษาด้วยการผ่าตัด ในการผ่าตัดนั้นสถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์จะส่งแพทย์ที่มีประสบการณ์และชำนาญการเฉพาะทางในด้านนั้นๆเข้าไปร่วมทำการผ่าตัดยกเว้นการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ซึ่งจะต้องมีการส่งตัวผู้ป่วยเพื่อเข้ารับการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ที่  ‘สถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์”

สำหรับเทคโนโลยีการผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคป

ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าต้องรักษาด้วยการผ่าตัดแพทย์จะสอดกล้องเอ็นโดสโคปผ่านทางแผลผ่าตัด ขนาดประมาณ 0.8 – 1.1 เซ็นติเมตรเข้าไปยังเส้นประสาทส่วนที่ถูกกดทับอยู่โดยตรงโดยไม่ต้องตัดเลาะกล้ามเนื้อส่วนที่ดีออก กล้องเอ็นโดสโคปจะช่วยให้แพทย์มองเห็นเส้นประสาทอย่างชัดเจนขึ้น สามารถเลือกตัดเฉพาะส่วนของหมอนรองกระดูกที่มีการกดทับเส้นประสาทออกได้ ไม่ว่าจะเป็นการกดทับจากหมอนรองกระดูกปลิ้น หรือการบีบรัดจากกระดูกข้อต่อและเส้นเอ็นก็ตาม โดยมากขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 60นาที จากนั้นผู้ป่วยสามารถเดินได้ทันทีหลังการผ่าตัดข้อดีคือผู้ป่วยจะมีอาการปวดแผลผ่าตัดน้อยลง ความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำลดการทำลายเนื้อเยื่อส่วนดีที่อยู่รอบบริเวณผ่าตัดผู้ป่วยฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็วขึ้น สามารถกลับบ้านได้ภายใน 24 ชั่วโมงและมีค่าใช้จ่ายน้อยลง

สำหรับเทคโนโลยีการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก โดยใช้เทคนิคใส่สกรูยึดกระดูกสันหลัง (Minimally InvasiveFusion Surgery: MIS) เพื่อเสริมความแข็งแรงของกระดูกสันหลังในผู้ป่วยที่มีกระดูกสันหลังหลวม เคลื่อน โดยแผลผ่าตัดมีขนาดเล็กลง เสียเลือดน้อยลง ระยะเวลาในการพักฟื้นที่โรงพยาบาลน้อยลง

นอกจากนี้ สถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ มีการใช้เครื่อง O-ARM Navigator ซึ่งเป็นเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์นำวิถี ทำให้ศัลยแพทย์เห็นภาพกระดูกอย่างชัดเจนทุกมิติจากเครื่องคอมพิวเตอร์ ช่วยให้ศัลยแพทย์วางแผนใส่เครื่องมือเชื่อมกระดูกได้แม่นยำประมาณ 99%

ทั้งนี้ โมเดลความร่วมมือในรูปแบบนี้ นับเป็นการขยายโอกาสให้กลุ่มผู้ป่วยของโรงพยาบาลพันธมิตรได้เข้าถึงการรักษากับแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะด้านอีกทางหนึ่งด้วย โดยจะมุ่งเน้นไปยังกลุ่มเป้าหมายกลุ่มใหม่ ทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและในต่างจังหวัด ตลอดจนกลุ่มผู้ซื้อประกันสุขภาพ

นพ. สุธร กล่าวถึง“แผนการดำเนินงานในปี 2563 และเป้าหมายในอนาคตของสถาบันศูนย์กระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ ในรูปแบบของโมเดล “บำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก” ว่าจะมีการรุกขยายโมเดลเข้าไปยังโรงพยาบาลพันธมิตรที่ตั้งอยู่บริเวณรอบนอกและในเขตปริมณฑล ประมาณ 4-5 แห่ง และขณะนี้ มีโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ เป็นโรงพยาบาลพันธมิตรต้นแบบ และอีก 2-3 แห่งอยู่ระหว่างการเจรจา โดยอนาคตมีแผนดำเนินการจะขยายไปยังโรงพยาบาลพันธมิตรในจังหวัดหลักๆ ตามภูมิภาคต่างๆ ในประเทศไทย และนอกจากจะให้บริการเกี่ยวกับโรคกระดูกสันหลังแล้ว บำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก ยังมุ่งเน้นให้บริการอีก 3 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคข้อผู้ป่วยวิกฤต และโรคตา ซึ่งการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์นั้น จะขึ้นอยู่กับความพร้อมของโรงพยาบาลพันธมิตรว่าต้องการให้เข้าไปช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในด้านใดเชื่อมั่นว่าโมเดล “บำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก” นี้ จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยและมั่นใจได้ถึงมาตรฐานความปลอดภัยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งอาจจะมีข้อแตกต่างกันด้วยสภาพแวดล้อม ทำเลที่ตั้ง สถานที่การให้บริการ รวมถึงข้อปฏิบัติของโรงพยาบาลนั้นๆ แต่อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่สำคัญที่สุด คือการยกระดับการดูแลผู้ป่วยทั่วภูมิภาคและการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีมาตรฐานสากลได้เพิ่มขึ้น”