สมัยก่อน “ร้านโชห่วย” หรือร้านค้าปลีกขนาดเล็กในชุมชน ถือได้ว่าเป็นขวัญใจของหมู่บ้าน ด้วยสินค้าที่หลากหลาย ใช้จริงในชีวิตประจำวัน เเถมความสนิทสนมกับเจ้าของร้าน ก็เชื้อเชิญให้เราเข้าไปใช้บริการทุกวัน วันละหลายเวลา สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการเป็นกอบเป็นกำ เเต่สมัยนี้กลับลดลงมาก จนเราได้ยินกันบ่อยๆ ว่า…ใกล้จะอวสานร้านโชห่วยจริงหรือ
เเม้ว่าจะมีการเข้ามาของร้านสะดวกซื้อ เข้าถึงคนได้ง่ายเเละภาพลักษณ์สวยงามกว่า รวมถึงเหล่า Hyper Market เเละ Modern Trade สมัยใหม่ แต่ก็ยังมีร้านโชห่วยที่สามารถยืนหยัดได้อย่างแข็งแกร่ง เเม้จะอ่อนกำลังลงก็ตามจากข้อมูลของกองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่าภาคธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีกคิดเป็น 16.49% ของอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทย รวมมูลค่าทางเศรษฐกิจ 2.6 ล้านล้านบาท โดยกลุ่มใหญ่ภาคธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก คือกลุ่มค้าส่ง-ค้าปลีกท้องถิ่นระดับจังหวัด และกลุ่มร้านค้าปลีกขนาดเล็กอย่าง “โชห่วย” ล่าสุดมีจำนวนกว่า 500,000 ร้านค้าทั่วประเทศ (ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์) และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านบาท
ย้อนกลับมาดู ข้อมูลปี 2017 ของ Nielsen Thailand ที่รายงานว่า จำนวนร้านโชห่วยในไทยช่วง10 ปีที่ผ่านมา มีตัวเลขผู้ประกอบการเปิดร้านใหม่ มากกว่าปิดร้าน เเละจำนวนร้านโชห่วยจึงเพิ่มมากขึ้นจาก 300,000 ร้านค้า มาเป็น 400,000 ร้านค้าหรืออาจจะมากกว่านี้อีก (ข้อมูลสิ้นปี 2017)
สถิติเหล่านี้ทำให้เราเห็นว่าร้านค้าส่งค้าปลีกที่มีความผูกพันอย่างใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของคนไทยมายาวนานก็ยังมีความสำคัญ เเม้จะต้องเจอการเเข่งขันที่สูงเเละมีอุปสรรครอบด้าน โดยก็ยังคง “เสน่ห์” ของร้านค้าชุมชน อย่างเวลาพกเงินมาไม่พอก็รับของไปก่อนได้ หรือขอเปลี่ยนสินค้าหากซื้อผิด รวมถึงการถามสารทุกข์สุกดิบระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย ซึ่งอาจไม่ได้เห็นในร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธุรกิจโชห่วยยังคงมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในตลาด แต่ผู้เล่นเดิมก็ทยอยปิดตัวลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของธุรกิจ ก็จำเป็นต้องปรับตัวให้ก้าวทันโลก รวมไปถึงหาจุดเด่นเเละจุดด้อยของ “โชห่วย” เพื่อนำไปสู่ถอดบทเรียนมาการแก้ปัญหาและการช่วยเหลือที่ตรงจุด
5 ปัญหาสำคัญของร้านโชห่วยไทย
จากผลสำรวจโครงการ”เจาะใจ SMEs เจาะลึกศักยภาพการเเข่งขัน”จัดทำโดย ธนาคารเเห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุถึงปัญหาเเละอุปสรรคของร้านโชห่วยไทย ได้เเก่
- ต้นทุนสินค้าปรับสูงขึ้น เช่น ราคาเหล้า เบียร์ น้ำอัดลม ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราภาษีสรรพสามิต รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนทางการเงิน ค่าจ้างแรงงาน ค่าขนส่ง และค่าสาธารณูปโภค
- ธุรกิจขาดการปรับตัวให้สอดคล้องกับตลาด เเละมีกลยุทธ์การตลาดที่ล้าสมัย
- การบริการจัดการภายในองค์กรขาดประสิทธิภาพ เช่น ขาดการทำบัญชีเเละบริหารสต๊อก
- ขอสินเชื่อไม่ได้หรือขอกู้ยาก เนื่องจากขาดหลักทรัพย์ บัญชีไม่สวยหรือวงเงินเต็ม
- ขาดผู้สืบทอดกิจการ เนื่องจากทายาทรุ่นใหม่ไม่รับช่วงต่อเเละหันไปประกอบอาชีพอื่น
ผลสำรวจ SMEs ของ ธปท. พบว่า ปัญหาขาดผู้สืบทอดเป็นหนึ่งในปัญหาหลักของธุรกิจโชห่วย โดย 15% ของผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาดังกล่าว กำลังพิจารณาปิดกิจการ เพราะธุรกิจอยู่ในช่วงซบเซา เจ้าของมีอายุมาก และทายาทหันไปประกอบธุรกิจอื่น ๆ เนื่องจากการดำเนินงานของโชห่วยไม่หวือหวา เพราะฐานลูกค้าหลักเป็นคนในท้องถิ่นที่คุ้นเคย จึงเป็นธุรกิจที่ไม่ดึงดูดหรือเตะตาผู้ประกอบการยุคใหม่ ที่ส่วนใหญ่มองหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า การที่ SMEs ปรับตัวด้วยการเข้าสู่ตลาดออนไลน์ แต่ยังคงขายสินค้าและบริการที่ไม่มีเอกลักษณ์ ไม่เพียงพอที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนได้ เนื่องจากตลาดออนไลน์ มีการแข่งขันที่รุนแรงจากคู่แข่งจำนวนมากและเน้นแข่งขันด้วยราคา ดังนั้น การมุ่งยกระดับคุณภาพสินค้า และบริการให้แตกต่างจากคู่แข่งจึงเป็นการสร้างความเข้มแข็งของธุรกิจในระยะยาว
ก้าวสู่โชห่วยพรีเมี่ยม
ร้านค้าปลีกรายย่อยจะก้าวให้ทันยุคดิจิทัลเเละอีคอมเมิร์ซได้อย่างไร มีข้อเเนะนำเบื้องต้น ดังนี้
- เก็บข้อมูล เลือกสินค้าและบริการที่ตรงใจคนซื้อ
ร้านค้าต้องหันมาสังเกตกลุ่มลูกค้าเเละมีการเก็บข้อมูลการซื้อขาย เพื่อนำไปสู่การจัดหาสินค้าที่ขายดีเเละขายได้ รวมถึงสอบถามความต้องการของลูกค้าเป็นประจำว่าอยากได้หรืออยากให้มีบริการหรือสินค้าอื่นๆ หรือ
- จัดระเบียบ แบ่งหมวดหมู่ ให้สะดุดตา
ร้านค้าที่สะอาดเเละสวยงาม จะดึงดูดลูกค้าได้เสมอ รวมถึงการจัดวางสินค้าต้องเป็นระเบียบเเละหาง่าย อยู่ในหมวดหมู่ที่เหมาะสม เเละบางสินค้าอาจจัดวางไว้ใกล้จุดเเคชเชียร์เพื่อกระตุ้นยอดขาย
- ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี
ร้านค้าควรเพิ่มช่องทางทางการชำระเงินที่หลากหลายและทันสมัย เช่น QR Payment พร้อมเพย์ โมบายเเบงก์กิ้ง การจ่ายเงินผ่านบัตรเดบิทเเละบัตรเครดิตเครดิต รวมไปถึงการจัดทำบัญชี รายรับ-รายจ่าย ด้วยโปรเเกรมสำเร็จรูปเเละเเอปพลิชั่นต่างๆ เพื่อวางเเผนธุรกิจได้ในระยะยาว
- ใช้ประโยชน์จากโครงการภาครัฐ
ร้านโชห่วยพรีเมียม ต้องปรับตัวโดยใช้ประโยชน์จากโครงการกระตุ้นการบริโภคในระยะสั้นของภาครัฐ เช่น นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ธงฟ้าประชารัฐ โชห่วย 4.0 เเละสมาร์ทโชห่วย เป็นต้น
ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์คิดค้นโครงการที่ชื่อว่า “โชห่วย 4.0” โดยเกิดจากความร่วมมือหลายฝ่ายคือกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ไปรษณีย์ไทย ธนาคารออมสิน และธนาคาร ธกส. เพื่อให้ร้านโชห่วยได้ต้นทุนสินค้าราคาถูกลง เเละล่าสุดกับการปั้น “สมาร์ทโชห่วย” โดยปี 2020 กระทรวงพาณิชย์มีเป้าหมายส่งเสริมและผลักดันให้เกิดร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบรายใหม่และพัฒนาสู่การเป็นสมาร์ทโชวห่วยให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ 30,000 ราย เพื่อยกระดับธุรกิจ พร้อมขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้านและชายแดนที่มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยจำนวนมาก
ร้านโชห่วยจะยังคงอยู่กับคนไทยต่อไป ต้องสู้และปรับตัวอีกมาก ในขณะเดียวกันการส่งเสริมของภาครัฐก็เป็นส่วนสำคัญ “ต่อลมหายใจ” ให้ธุรกิจดั้งเดิมเหล่านี้แข่งขันได้ในยุคดิจิทัล