นักวิชาการฟันธง สหรัฐฯ-อิหร่าน ไม่ถึงขั้นสงครามโลก พร้อมแนะเตรียมรับมือเศรษฐกิจผันผวน

เป็นสถานการณ์ที่ทั่วโลกต้องจับตาว่าจะลุกลามไปแค่ไหน สำหรับเหตุโจมตีระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน ที่เริ่มต้นจากการที่สหรัฐฯ สังหาร นายพลกาซิม สุไลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติ หรือกองกำลังคุดส์ ผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดอันดับสองของอิหร่าน ล่าสุด อิหร่านได้ตอบโต้โดยการยิงขีปนาวุธหลายสิบลูกถล่มฐานทัพอากาศอิน อัล-อาซาด ทางตะวันตกของประเทศอิรัก ซึ่งเป็นที่ตั้งฐานทัพอากาศขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกา โดยหน่วยพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน IRGC พร้อมประกาศว่าเป็นการ “ล้างแค้น”

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการไทยมองว่าสถานการณ์ดังกล่าวยังไม่ลุกลามถึงขั้นสงครามโลก โดย รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง ระบุว่า สงครามโลกมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก เนื่องจาก 1.สหรัฐฯ ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากสงคราม แต่หากเกิดสหรัฐฯ จะเสียหายหนักมาก ทั้งระบบเศรษฐกิจ งบประมาณ และชีวิตผู้คน 2.อิหร่านตกเป็นรองสหรัฐฯ มาก ไม่มีกำลังพอจะประกาศสงคราม 3.จีนและรัสเซีย ยังไม่เข้าร่วมในความขัดแย้งครั้งนี้ เนื่องจากจีนและรัสเซียต่างก็มีปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ

“หากมีการรบระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านถึงขั้นแตกหักรุนแรง ดึงอิสราเอลเข้ามาเกี่ยวข้องสถานการณ์ก็จะยิ่งเลวร้าย แต่เชื่อว่าสหรัฐฯ เองไม่อยากให้เกิดสงคราม แต่อาจสร้างสถานการณ์เพื่อขายอาวุธ จะเห็นได้ว่าล่าสุดสภาคองเกรสหรือสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ กำลังจะมีมติจำกัดอำนาจของประธานาธิบดีโดนอลด์ ทรัมป์ ในการใช้ปฏิบัติการทางทหารต่ออิหร่านภายในสัปดาห์นี้ เนื่องจากไม่พอใจที่นายทรัมป์ไม่ได้ขออนุมัติก่อนที่จะปฎิบัติการโจมตี ที่สำคัญทำให้ชาวอเมริกันตกเป็นเป้าและอยู่ในอันตราย”

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง

จากปัจจัยข้างต้น ส่งผลให้อิหร่านและสหรัฐฯ เลือกตอบโต้กันในรูปแบบของสงครามตัวแทน โดยอิหร่านจะอาศัยกองกำลังพันธมิตรในประเทศต่างๆ ที่เคยให้การช่วยเหลือและสนับสนุน เช่น กองกำลังกบฏฮูตีในเยเมน กลุ่มเฮซบอลเลาะห์ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธในเลบานอน กลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา ให้เข้าโจมตีฐานทัพสหรัฐฯ ในประเทศต่างๆ เพื่อลดทอนอำนาจและเพื่อสร้างความหวาดกลัว ขณะที่สหรัฐฯ จะโจมตีกองกำลังต่างๆ ที่สนับสนุนอิหร่านเช่นกัน

“ทรัมป์ประเมินผิดเพราะคิดว่าการใช้ความรุนแรงจัดการอิหร่านจะช่วยเรียกคะแนนนิยมจากชาวอเมริกันว่าเขาเป็นผู้นำที่เด็ดขาด และการเล่นงานนายทหารคนสำคัญของอิหร่านจะทำให้อิหร่านไม่กล้าหือกับสหรัฐฯ แต่สถานการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะชาวอเมริกันจำนวนมากออกมาประท้วงการกระทำของทรัมป์ เพราะเกรงว่าจะพาอเมริกาเข้าสู่สงคราม ขณะที่การโจมตีอิหร่านกลับทำให้พันธมิตรของอิหร่าน โดยเฉพาะกองกำลังที่อยู่ในประเทศต่างๆ ไม่พอใจซึ่งส่งผลให้อิหร่านยิ่งเข้มแข็งขึ้น”

ผศ.ดร.ธนวรรธณ์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ด้าน ผศ.ดร.ธนวรรธณ์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า หากภายในเดือน ม.ค. นี้ ไม่มีสงครามระหว่างสองประเทศ โอกาสเกิดสงครามก็น้อยมาก หากเป็นการตอบโต้ในลักษณะก่อการร้ายก็ต้องดูว่ามีก่อการร้ายที่ไหน บานปลายหรือไม่ แต่ก็เชื่อว่าคงไม่มีผลทางจิตวิทยามากนัก อย่างไรก็ดี อิหร่านจะไม่ปิดช่องแคบฮอร์มุซ (ช่องแคบที่กั้นระหว่างอิหร่านกับโอมาน เชื่อมอ่าวเปอร์เซียกับอ่าวโอมานและทะเลอาหรับ) ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งน้ำมันของประเทศในตะวันออกกลาง เนื่องจากเท่ากับเป็นการประกาศสงครามกับอีกหลายประเทศและยังเป็นข้ออ้างให้สหรัฐฯ เข้าโจมตีอิหร่านอย่างชอบธรรม

“เป้าหมายแรกของอิหร่านคือการลดอิทธิพลของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง จะเห็นได้ล่าสุดอิหร่านได้โจมตีฐานทัพสหรัฐฯ 2 แห่งที่อยู่ในอิรัก ซึ่งนอกจากจะเป็นการทำลายกำลังทหารของสหรัฐฯ แล้วยังต้องการกดดันให้คนอเมริกันกว่า 3,000 คนที่อยู่ในอิรักให้อพยพออกไป อีกทั้งยังทำให้บางกลุ่มในอิรักที่สนับสนุนสหรัฐฯ ไม่กล้าเคลื่อนไหวอีกด้วย” 

ทั้งนี้ การใช้กำลังตอบโต้กันระว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านส่งผลกระทบต่อประชาคมโลกและประเทศไทย โดยเฉพาะราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันในไทยปรับตัวสูงขึ้น 5-10 บาทต่อลิตร หรืออยู่ที่ประมาณลิตรละ 35 บาท อีกทั้ง ความวิตกต่อการสู้รบกันของทั้งสองประเทศ ส่งผลต่อการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทย เพราะคนไม่กล้าท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอย ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว คาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2563 จะอยู่ที่ประมาณ 2.5% เท่านั้น  

ขณะที่ รศ.ดร.สมชาย ระบุว่า สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ราคาน้ำมันในไทยปรับตัวสูงขึ้น เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน และตลาดหุ้นปั่นป่วนในระยะสั้นๆ ขณะที่เศรษฐกิจโลกซึ่งมีปัญหาจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ อยู่แล้วก็ยิ่งมีปัญหา ส่งผลต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยด้วย โดยคาดว่าในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะโตไม่ถึง 3% ดังนั้นสิ่งที่ประชาชน โดยเฉพาะคนชั้นกลางและรากหญ้าต้องเตรียมรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนคือ 1.ห้ามก่อหนี้ 2.ทำงานให้หนักขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน 3.หาความรู้เพิ่มเติม 4.พยายามหาอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้

Source