ย้อนดู 5 ซีอีโอ ‘ดีแทค’ ในช่วง 19 ปี พร้อมทำความรู้จัก ‘ชารัด เมห์โรทรา’ แม่ทัพคนล่าสุด

ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ส่งผลให้ แทค (TAC) บริษัทโทรคมนาคมของไทย ค่อย ๆ ทยอยขายหุ้นให้กลุ่มเทเลนอร์ (Telenor) จากนอร์เวย์ จนในปี 2001 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘ดีแทค’ (Dtac) หรือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) 19 ปีผ่านไป เรามาย้อนดูกันดีกว่าว่าดีแทคได้มีการเปลี่ยนแปลงซีอีโอไปแล้วกี่คน

ซิคเว่ เบรคเก้ (Sigve Brekke)

รับตำแหน่งซีอีโอร่วมกับคุณวิชัย เบญจรงคกุล ในช่วงปี 2002 – 2008 ซึ่งช่วงดังกล่าวถือว่าเป็นช่วงที่ตกต่ำสุดขีดของดีแทคเลยก็ว่าได้ ทั้งนี้ ซิคเว่ เป็นเหมือนกับฮีโร่ที่มากอบกู้สถานการณ์ โดยในระยะเวลา 6 ปีที่ดำรงตำแหน่ง ซิคเว่สามารถฟื้นดีแทคจนเป็นเบอร์ 2 ของตลาด และในปี 2014 ซิคเว่ ได้กลับมารักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารของดีแทคอีกครั้ง ก่อนส่งต่อให้กับ ‘ลาร์ส นอร์ลิ่ง’ ปัจจุบัน ซิคเว่ดำรงตำแหน่งประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เทเลนอร์กรุ๊ป

ทอเร่ จอห์นเซ่น (Tore Johnsen)

สำหรับทอเร่ ดีแทคได้เลือกเปิดตัวในวันที่ 8 เดือน 8 ปี 2008! โดยทอเร่ เป็นผู้ที่พยายามผลักดันการร่วมประมูล 3G พร้อมดันให้ดีแทคมีผลประกอบการดีที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้ง โดยมีรายได้รวม 7.24 หมื่นล้านบาท เติบโต 10% จากปีก่อนหน้า จนกระทั่งหมดวาระในปี 2011 ทอเร่ได้รับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท Grameenphone Ltd. บริษัทย่อยของกลุ่มเทเลนอร์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศบังกลาเทศ

จอน เอ็ดดี้ อับดุลลา (Jon Eddy Abdullah)

เข้ามารับตำแหน่งซีอีโอเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2011 โดยก่อนหน้านี้ เคยดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ เทเลนอร์ ปากีสถาน โดยมีประสบการณ์การทำงานในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมกว่า 18 ปี อย่างไรก็ตาม ช่วงที่จอนเข้ามาดูตลาดไทย เป็นช่วงที่ไทยกำลังประมูลคลื่น 2100 MHz หรือช่วงที่กำลังจะมี 3G นอกจากนี้ ยังเป็นช่วงที่เบอร์ 3 อย่างทรู เร่งทำตลาดโดยใช้กลยุทธ์ด้านราคามาสู้ แม้จะผ่านมาได้ แต่ในวันที่ 2 กันยายน 2014 จอนได้ประกาศลาออกอย่างเป็นทางการ

ลาร์ส นอร์ลิ่ง

หลังจากที่จอน เอ็ดดี้ อับดุลลา ลาออก ซิคเว่ เบรคเก้ ก็ได้มาดูแลตลาดไทยชั่วคราวเป็นเวลา 6 เดือน จนวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2015 ดีแทคได้ประกาศแต่งตั้ง ลาร์ส นอร์ลิ่ง เป็นซีอีโอคนใหม่ โดยในช่วง 3 ปีที่ดำรงตำแหน่ง ดีแทคก็ได้พลาดท่าเสียตำแหน่งเบอร์ 2 ให้กับทรูในที่สุด โดยในปี 2016 ทรูมูฟ เอชมีลูกค้า 24.53 ล้านเลขหมาย ส่วน ดีแทค มีลูกค้า 24.5 ล้านเลขหมาย และในปี 2560 ทรูมูฟ เอช มีลูกค้าเพิ่มเป็น 27.2 ล้านเลขหมาย ทิ้งห่างดีแทคไปอีก จนในที่สุดลาร์สได้ประกาศลาออก พร้อมให้เหตุผลว่า “เพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ในการทำงาน”

อเล็กซานดรา ไรช์ (Alexandra Reich)

CEO หญิงแกร่งคนแรกของดีแทค ที่เข้ามารับตำแหน่งในวันที่ 1 กันยายน 2018 โดยก่อนหน้านี้คุณอเล็กซานดราเคยดำรงตำแหน่งซีอีโอ เทเลนอร์ ฮังการี และเป็นหัวหน้ากลุ่มเทเลนอร์ในยุโรปกลาง ทั้งนี้ อเล็กซานดรา ได้เข้ามาดูแลดีแทคในช่วงที่ตกเป็นเบอร์ 3 รวมถึงเป็นช่วงที่ 5G กำลังมา โดยทางกสทช.ได้ประกาศประมูลคลื่น 2600 MHz เพื่อใช้สำหรับ 5G ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ แต่ยังไม่ทันจะถึงเดือนกุมภาพันธ์ อเล็กซานดราก็ประกาศลาออก โดยทำหน้าที่จนถึงสิ้นเดือนมกราคมนี้ ปิดตำนานวลี “สัญญาว่าจะไม่หยุด” ไว้เพียง 1 ปีกับ 4 เดือนเท่านั้น

ชารัด เมห์โรทรา (Sharad Mehrotra)

CEO คนต่อไปของดีแทคที่จะรับตำแหน่งในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ โดยชารัด ได้ร่วมงานกับเทเลนอร์ตั้งแต่ปี 2008 โดยรับตำแหน่งสำคัญในระดับบริหารในหลายประเทศทั่วเอเชีย รวมถึงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเทเลนอร์อินเดีย และปัจจุบันเป็น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของเทเลนอร์เมียนมา นอกจากนี้ นายชารัดยังเคยดูแลสายงานด้านการกระจายสินค้าในตลาดทั่วเอเชียและพำนักอยู่ในประเทศไทย

ทั้งนี้ สิ่งที่น่าจับตาของชารัดคือ เข้ามารับตำแหน่งในช่วงประมูล 5G ดังนั้นต้องรอดูว่า ดีแทคภายใต้ผู้นำใหม่จะขับเคลื่อนดีแทคอย่างไรต่อไป

#Dtac #ดีแทค #5G #CEO #Positioning