‘กลุ่มสามารถ’ มั่นใจปี 63 พลิกทำกำไร พร้อมตั้งเป้าเติบโต 40% ฟันรายได้ 2 หมื่นล้าน

ผลกระทบจากดิจิทัลดิสรัปชั่นเป็นหนึ่งในความท้าทายขององค์กรไทย ไม่เว้นแม้แต่ ‘กลุ่มสามารถ’ ที่ได้รับผลกระทบอย่างจัง ส่งผลให้ผลประกอบการในปี 2017-2018 ขาดทุนเกือบ 800-900 ล้านบาท อีกทั้งต้องปิด I-mobile ไป ดังนั้นกลุ่มสามารถจึงจำเป็นต้องหารายได้ใหม่เข้ามาทดแทน โดยในปี 2019 ถือเป็นปีแห่งการพลิกฟื้นและวางรากฐานธุรกิจใหม่ของกลุ่มสามารถ และในปี 2020 นี้ สามารถมั่นใจว่าเป็นปีแห่งการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า แม้มีการคาดการณ์ว่าสภาพเศรษฐกิจในปี 2020 จะยังไม่สดใสนัก แต่ ‘กลุ่มสามารถ’ มองว่ามีปัจจัยสร้างการเติบโตมาจากนโยบายภาครัฐที่จะก้าวสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) ที่เริ่มส่งเสริมเทคโนโลยี ทั้ง E-Public Services, Critical Infrastructure, Cyber Security, Green Technology และ Human Transformation ดังนั้นบริษัทจึงตั้งเป้ารุก โดยวางกลยุทธ์นำเสนอผลิตภัณฑ์ในรูปแบบ ‘โซลูชั่น’ และซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1.กลุ่มธุรกิจด้านโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ (High Demand Solutions for Critical Infrastructure) Finance/Bankin Solutions อาทิ Core Banking จากลูกค้าในกลุ่มเป้าหมาย เช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์, ธนาคารออมสิน, ธนาคารเอสเอ็มอี รวมมูลค่ากว่า 3,000-4,000 ล้านบาท

Airport Solutions อาทิ โครงการระบบตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง (CUTE) และ ระบบตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า (APPS) ที่มีมูลค่ารวมกว่า 8,000 ล้านบาท Cyber Security มีลูกค้าเป้าหมายทั้งรัฐและเอกชนรวมมูลค่า 200-300 ล้านบาท และ Network Solution ที่เกี่ยวข้องกับ Nationwide Fiber Optic, IP Telephony จากกระทรวงมหาดไทย, การรถไฟแห่งประเทศไทย และอื่น ๆ รวมมูลค่า 2,000 ล้านบาท

2.กลุ่มธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำ โดยในปี 2019 กลุ่มสามารถมีรายได้ประจำอยู่ที่ 5,400 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2020 จะเพิ่มขึ้นเป็น 6,200 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการของสายธุรกิจ ICT ที่คาดว่าจะมีโอกาสเข้าร่วมประมูลอีกประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่ Digital Trunk Network ที่เป็นธุรกิจที่มีโอกาสสร้างรายได้ในปีนี้ ที่ติดตั้งเครือข่ายครอบคลุมไปแล้วประมาณ 90% ซึ่งจะเป็นโอกาสในการจำหน่ายเครื่อง Digital Trunk Radio เพิ่มขึ้น

3.กลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูง โดยกลุ่มสามารถจะนำบริษัทในเครือเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงไตรมาส 2 คือ บริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ หรือ SAV ที่ดำเนินธุรกิจลงทุนในบริษัทอื่น (Holding company) โดยเน้นลงทุนในบริษัทที่ประกอบธุรกิจการจราจรทางอากาศ หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการจราจรทางอากาศ โดย SAV ได้ถือสัดส่วนร้อยละ 100.00 ในบริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด หรือ “CATS”เพียงบริษัทเดียว

“การท่องเที่ยวประเทศกัมพูชาที่เติบโตเยอะ ปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวราว 7 ล้านคน ส่งผลให้ไฟลท์บินเติบโตขึ้นทุกปีเฉลี่ย 10% ต่อปี ดังนั้นเราคาดว่า CATS เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำและมีการเติบโตขึ้นทุกปี”

นอกจากธุรกิจ CATS แล้ว กลุ่มสามารถได้ลงทุนในธุรกิจสถานีไฟฟ้าย่อย (Substation) และการนำสายไฟลงดิน หรือ Underground Cable ของบริษัท เทด้า ที่มีงานในมือแล้วประมาณ 3,500 ล้านบาท และได้ลงทุนในธุรกิจด้านพลังงาน หรือ Solar Energy อีกด้วย

กลุ่มสามารถมั่นใจว่าปีนี้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 40% มีรายได้ 20,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ปัจจัยส่งเสริมไม่ใช่เพียงเเค่โซลูชั่น แต่มองว่าความคึกคักในการมาของ 5G ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จาก IoT ได้อย่างเต็มศักยภาพ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น สาธารณสุข การขนส่ง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะส่งผลต่อโอกาสทางธุรกิจของกลุ่มสามารถ

“ปีนี้คงเหนื่อย เพราะเศรษฐกิจไทยคงไปไม่ง่าย แต่เราจับกลุ่มภาครัฐเป็นหลัก ซึ่งยังไงก็มีกำลังจ่าย แต่เวลาอาจจะล่าช้าบ้าง เพราะต้องรอการจัดซื้อจัดจ้าง การประมูลงานต่าง ๆ”

#Smart #Positioning