ตามไปดูหนังสั้น “ผ้าห่มผืนนั้น” จากความทรงจำในวันวานสู่รางวัลชนะเลิศ


นับเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวมหัศจรรย์ที่มีคุณค่าต่อความทรงจำเมื่อ “ผ้าห่มผืนนั้น” ที่เด็กน้อยคนหนึ่งเคยได้รับในวัยเยาว์ได้กลายเป็นวัตถุดิบแห่งเรื่องราวในหนังสั้นที่ทรงพลังจนถึงขั้นได้รับรางวัลชนะเลิศ จากโครงการ “ไทยเบฟ…รวมใจต้านภัยหนาว” ซึ่งเดินทางมายาวไกลสู่ปีที่ 20 ไปแล้วนั้น ได้ก่อให้เกิดโครงการดี ๆ มีคุณค่าต่อสังคมตามมาอีกมากมาย โดยหนึ่งในนั้นก็คือ โครงการประกวดภาพยนตร์ ขนาดสั้นระดับอุดมศึกษา ความยาว 3-5 นาที ภายใต้แนวคิด BEYOND THE GREEN BLANKET…A SUSTAINABLE COMMUNITY OF GIVING “มากกว่าความอบอุ่น คือสังคมแห่งการให้ที่ยั่งยืน”

และจากผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมด ทีมที่คว้ารางวัลชนะเลิศไปครอง คือน้อง ๆ นักศึกษาทีม LET จากมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย ซึ่งมาพร้อมกับผลงานที่ชื่อว่า “ผ้าห่มผืนนั้น”

ในรอยยิ้มแห่งความดีใจและภาคภูมิใจกับรางวัลที่ได้รับ “หมีซ้อ ตองเซ” หรือ “น้องซอล” หนึ่งใน 4 สมาชิกทีม LET ได้บอกเล่าถึงที่มาที่ไปแห่งการก่อเกิดไอเดียในการผลิตหนังสั้นชิ้นนี้ขึ้นมาว่า เริ่มต้นจากการตีโจทย์ของโครงการที่มีผ้าห่มผืนเขียวเป็นสัญลักษณ์ และที่สำคัญ เธอเองซึ่งมีภูมิลำเนาบ้านเกิดอยู่บนดอย เป็นชาวเขาเผ่าอาข่า ซึ่งในวัยเด็ก ครอบครัวของเธอเคยได้รับ “ผ้าห่มผืนเขียว” จากคาราวานแห่งไออุ่นของไทยเบฟที่เดินทางขึ้นไปมอบให้บนดอยสูง

“จริง ๆ ตอนแรก เราก็ตีโจทย์ไม่ออก ก็ได้อาจารย์ที่ปรึกษาคอยแนะนำเราว่าผ้าห่มมันจะเป็นอะไรได้บ้าง มากกว่าผ้าห่มที่ให้ความอบอุ่น เราก็มาตีโจทย์ค่อนข้างนาน เพราะเราไม่มีประสบการณ์ด้านนี้ด้วย แต่สุดท้าย เราก็คิดย้อนไปถึงตอนที่เรายังเป็นเด็ก เราได้รับผ้าห่ม ตอนเด็กเราเคยมีผ้าห่มผืนนี้อยู่ที่บ้าน และตอนนี้ผ้าห่มผืนนั้นก็ยังอยู่ที่บ้านเราด้วย เราก็เลยคิดว่าน่าจะเอาแง่มุมนี้มาใช้ในการเล่าเรื่องของเรา”

“ผ้าห่มหนึ่งผืน เขาจะใช้ประโยชน์ได้มากกว่าใช้ผ้าห่มป้องกันความหนาวเย็น เช่นเอาคลุม เลี้ยงเด็ก ผูกเป็นเปลนอน เป็นผ้าห่มสารพัดประโยชน์มากค่ะในความคิดของหนู”

บนเส้นทางการทำงานย่อมมีอุปสรรค เช่นเดียวกับหนังสั้นเรื่องนี้ที่ใช้เวลาปั้นโปรเจคต์นานเป็นเดือน ๆ ขณะที่เวลาในการถ่ายทำ ก็สร้างความกดดันให้กับทีมพอสมควร โดย “น้องซอล” บอกเล่าถึงเบื้องหลังการทำงานว่า…

“เนื่องจากข้อจำกัด ทั้งในส่วนของเวลา และนักแสดง รวมทั้งทีมงานที่ต้องหาเวลาที่ตรงกันให้เหมาะสม อีกทั้งเวลาในการถ่ายทำ ตอนแรก เราคุยกันไว้ว่าออกกองสองวัน แต่นักแสดงติดธุระ จึงต้องถ่ายวันเดียวให้เสร็จ กลายเป็นว่า เราต้องแข่งกับเวลา โลเกชั่นก็มีหลายที่ เราเริ่มเดินทางขึ้นดอยเพื่อไปออกกองตั้งแต่ตีสี่ และถ่ายทำเสร็จเรียบร้อยตอนสามทุ่ม”

แต่ถึงแม้จะกดดันและเหนื่อยเพียงใด แต่สุดท้ายพวกเธอทั้ง 4 คนก็ฝ่าฟันจนผ่านพ้นช่วงเวลานั้นมาได้ เป็นความรู้สึกภาคภูมิใจทั้งในแง่ของการได้รับรางวัล และการสืบสานและส่งต่อเรื่องราวแห่งการให้ซึ่งเป็นหัวใจของโครงการ “ไทยเบฟ…รวมใจต้านภัยหนาว”

“ผู้รับจะจดจำผู้ให้” ผศ.ดร. เกศกนก ชุ่มประดิษฐ์ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของน้อง ๆ ทีม LET กล่าวย้ำผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ของไทยเบฟที่มีต่อสังคม

“ถึงแม้ผู้คนทั่วไปอาจจะมองว่า เรื่องผ้าห่มมันเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่สำหรับคนที่ได้รับนั้นมีความหมาย ทั้งในแง่ของความอบอุ่นทางกายและอบอุ่นทั้งหัวใจ นอกจากนั้น เมื่อเกิดโครงการประกวดหนังสั้น มันก็เหมือนกับการนำเรื่องราวแห่งการให้มาขยายและส่งต่อให้กับน้อง ๆ คนรุ่นใหม่ ในคอนเซปต์ที่ว่า BEYOND THE GREEN BLANKET…A SUSTAINABLE COMMUNITY OF GIVING และเป็นการประจวบเหมาะอย่างมากที่นักศึกษาเขาเคยได้รับจากไทยเบฟ แล้วนำมาผนวก มาถ่ายทอด กลายเป็นสตอรี่ เหมือนเป็นเส้นประที่เดินทางมาถึงกันโดยที่เราไม่คาดคิด มันกลายเป็นจุดสมบูรณ์ของหนังเรื่องนี้ที่มีที่มาที่ไปอันงดงาม และเป็นผลลัพธ์ที่สมบูรณ์และดีงามแห่งการให้ของไทยเบฟอย่างปฏิเสธไม่ได้”

ติดตามชมหนังสั้นเรื่อง “ผ้าห่มผืนนั้น” และภาพเบื้องหลังการทำงานของน้องๆทั้ง 3 ทีมได้ทางเฟซบุ๊ก ThaiBev

#ไทยเบฟรวมใจต้านภัยหนาว #ปีที่20 #มากกว่าความอบอุ่นคือสังคมแห่งการให้ที่ยั่งยืน #ThaiBev

#AlwaysWithYou