เปิดกลยุทธ์รุกคืบของ ‘เอไอเอส’ ในวันที่ ‘eSports’ ไม่ได้เป็นแค่เกมอีกต่อไป

อีสปอร์ตได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในฐานะกีฬาแห่งยุคดิจิทัลที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนกลุ่มมิลเลนเนียล ปัจจุบันมีผู้เล่นเกมที่แอคทีฟอยู่ในทุกแพลตฟอร์มกว่า 27 ล้านคน ขณะที่มูลค่าตลาดเกมและอีสปอร์ตเมืองไทยรวมกว่า 23,000 ล้านบาท เติบโตถึง 16.6% เมื่อเทียบกับปี 2561 โดยคาดว่าจะเติบโตเป็น 27,000 ล้านบาทในปี 2563 มาจากเกมบนมือถือและแท็บเล็ต 71%, เกมบนพีซี 22% และเครื่องเล่นวิดีโอเกม 7%

ที่ผ่านมา เอไอเอสเห็นเทรนด์การเติบโตของกีฬาอีสปอร์ตอย่างเด่นชัดมาตลอด โดยเริ่มชิมลางเป็นเอ็กซ์คลูซีฟพาร์ตเนอร์กับแบรนด์เกมมิ่งเกียร์ “Razer” ในการเปิดตัวสมาร์ทโฟนเกมมิ่ง “Razer 2” ไปเมื่อปลายปี 2018 และในปี 2019 เอไอเอสได้รุกตลาดพร้อมประกาศวิสัยทัศน์สนับสนุนวงการอีสปอร์ตในทุกมิติ ผ่าน 4 กลยุทธ์ ได้แก่

1.Connect ผ่านการพัฒนาเครือข่ายและดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ดีที่สุด 2.Compete การจัดทัวร์นาเมนต์และคอมมูนิตี้ด้านอีสปอร์ตให้กับคอเกมเมอร์ทุกระดับ 3.Share แชร์ความมันส์ทัวร์นาเมนต์การแข่งขันอีสปอร์ตให้ได้ติดตาม และ 4.Educate ส่งเสริมโลกแห่งการเรียนรู้ด้านกีฬาอีสปอร์ตให้กับกลุ่มนักศึกษาและคนไทย ผ่านโครงการ eSports Academy พร้อมจัดงาน Thailand Game Expo by AIS eSports เพื่อให้เป็นแหล่งรวมเกมและอุปกรณ์เกมมิ่งที่ตอบโจทย์ครบทุกความต้องการของคออีสปอร์ตแห่งแรกของเมืองไทย

ในปีที่ผ่านมา เอไอเอสได้จัดกิจกรรมอีสปอร์ต รวมถึงทัวร์นาเมนต์การแข่งขันเกมรวมกว่า 20 ครั้ง และในปี 2020 นี้ เอไอเอสจะร่วมกับพาร์ตเนอร์จัดงานต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 30 ครั้ง ล่าสุดได้ผนึกเอ็ม วิชั่น และเหล่าพันธมิตรมากมาย จัดงาน Thailand Game Expo by AIS eSports ครั้งที่ 2 หลังจากที่ประสบความสำเร็จในครั้งก่อน มีผู้เข้าชมหลักแสนคน โดยงานครั้งที่ 2 นี้จัดระหว่างวันที่ 30 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ โดยมีไฮไลต์ อาทิ โปรโมชั่นแพ็กเกจมือถือ, เน็ตบ้านและสินค้าราคาพิเศษ, พบปะเหล่าเกมเมอร์ แคสเตอร์ อินฟลูเอนเซอร์คนดัง และแข่งขันเกมชิงเงินรางวัลรวมกว่า 500,000 บาท เป็นต้น

“ในปี 2020 นี้เราได้ขยายความร่วมมือไปยังแพลตฟอร์มเกมใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม ร่วมทำโปรโมชั่นพิเศษให้กับลูกค้าเอไอเอส ตลอดจนมุ่งส่งเสริมบุคลากรด้านอีสปอร์ตของประเทศ ผ่านการเป็น “ผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการของสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย ในหมวดการสื่อสารโทรคมนาคม (Official Telecommunication Sponsor of TESF) เพื่อสนับสนุนอีสปอร์ตในทุกระดับ” อลิสแตร์ เดวิด จอห์นสตั้น กรรมการผู้จัดการหน่วยธุรกิจพัฒนาธุรกิจใหม่ เอไอเอส กล่าว

อลิสแตร์ เดวิด จอห์นสตั้น กรรมการผู้จัดการหน่วยธุรกิจพัฒนาธุรกิจใหม่ เอไอเอส

สำหรับ เกม ถือเป็นหนึ่งใน New Business ของเอไอเอสที่ประกอบด้วย Payment (MPay, Rabbit Line Pay), Video (AIS Play), ประกัน (AIS Insurance Service) และ Startups ทั้งนี้ ในส่วนของเกมมิ่งบิสซิเนสมีอัตราการเติบโตกว่า 30% ต่อปี ถือว่าเป็นส่วนที่เติบโตสูงสุด ตามมาด้วย Video, Payment ตามลำดับ ขณะที่แพ็กเกจเกี่ยวกับอีสปอร์ตก็มีอัตราการเติบโตประมาณ 30%

“ธุรกิจโมบายในระยะยาวมีความไม่แน่นอน ดังนั้นเอไอเอสต้องแตกไลน์ธุรกิจใหม่ โดยในช่วงเริ่มต้นนี้ เราเน้นสร้างความแข็งแรงของอีฟโคซิสเต็มส์ สร้างสกิลให้กับพนักงาน รวมทั้งผู้บริโภค ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างรายได้ในระยะยาว”

นอกเหนือจากการทำรายได้แล้ว เกมยังถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ทางการตลาด ที่ใช้สำหรับเจาะกลุ่มลูกค้ากลุ่มมิลเลนเนียลด้วยเช่นกัน โดยปัจจุบันกลุ่มผู้เล่นเกมราว 60% อายุต่ำกว่า 24 ปี 30% เป็นวัย First Jobber อีก 30% เป็นวัยทำงาน

“ในส่วนของ New Business รวมทั้งอีสปอร์ต เราไม่ได้มองว่าช้าไป แต่มองว่าเรามาถูกเวลา ผู้บริโภคมีความพร้อมและเปิดรับสินค้าใหม่ ๆ มากขึ้น อย่างเกมเป็นอุตสาหกรรมที่แข่งขันสูงและมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ซึ่งในอนาคตเราก็พร้อมที่จะขยายธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นของอีสปอร์ตอีโคซิสเต็มส์เมืองไทย”

#AIS #เอไอเอส #eSports #Positioning