อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าถือเป็นอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนประเทศ บุคลากรในสาขาวิชาชีพพลังงานไฟฟ้าจึงมีความสำคัญที่จะต้องมีการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อสร้างคุณภาพและประสิทธิภาพของบุคลากร
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงได้ร่วมมือกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และคณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในโครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพสาขาวิชาชีพพลังงานและพลังงานทดแทน สาขางานระบบผลิตไฟฟ้า โดยมุ่งหวังพัฒนาทักษะบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการในอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า และได้รับการยอมรับในระดับสากล เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางพลังงานไฟฟ้าของอาเซียนในอนาคตข้างหน้า
ปัจจุบัน กฟผ. กำลังศึกษากระบวนการและเตรียมบุคลากรในการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยรับรองสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ (Certify Body) ที่จะดำเนินการหลังการจัดทำมาตรฐานอาชีพแล้วเสร็จ โดยในส่วนของขั้นตอนนั้นจะร่วมกันจัดทำและกำหนดเป็นมาตรฐานอาชีพ ซึ่งจะเริ่มในสาขางานเดินเครื่อง (Operation) และงานซ่อมบำรุงรักษาระบบผลิตไฟฟ้า (Maintenance) สำหรับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนและโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ซึ่งเป็นสาขาอาชีพที่มีบุคลากรที่เกี่ยวข้องมากที่สุด และเมื่อการจัดทำมาตรฐานแล้วเสร็จจะจัดทำเครื่องมือในการประเมินเพื่อทดสอบความสามารถของผู้ปฏิบัติงานว่ามีความรู้ความสามารถอยู่ในระดับใด เพื่อให้สถานประกอบการหรือภาคการศึกษาใช้เป็นแนวทางในการฝึกอบรมสำหรับพัฒนาบุคลากรในอาชีพต่อไป
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง กฟผ. ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพด้านพลังงานและระบบผลิตไฟฟ้าว่า นอกจากงานทางด้านทางเทคนิค เครื่องจักร และอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศแล้ว ปัจจัยสำคัญที่สุดคือบุคลากรที่จะต้องมีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ เพื่อให้การผลิตไฟฟ้ามีคุณภาพทั้งในเชิงความถี่และแรงดันไฟฟ้า ซึ่ง 50 ปีที่ผ่านมาของการดำเนินงาน กฟผ. มีระบบการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนงานเดินเครื่องและซ่อมบำรุงรักษาโรงไฟฟ้านั้น ได้จัดให้มีการอบรมให้ความรู้และทดสอบว่าพนักงานมีความรู้ความสามารถอยู่ในระดับใด มีการออกใบรับรองและกระจายการทำงานกับภาคเอกชน เรียกได้ว่า กฟผ. ได้ดำเนินการจัดทำมาตรฐานของตัวเองมาแล้วในระดับหนึ่ง และเมื่อสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพได้เข้ามามีส่วนในการจัดทำมาตรฐานอาชีพในระดับประเทศ ก็จะเป็นการสอดรับกันเป็นอย่างดี ทั้งนี้ เพื่อให้ผลลัพธ์ท้ายสุดบุคลากรที่เกี่ยวข้องของทั้ง กฟผ. และภาคเอกชนมีคุณภาพได้ตามมาตรฐาน
“เราต้องการให้การผลิตไฟฟ้าและการดูแลระบบทั้งหมดมีคุณภาพ โดยคนเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ฉะนั้นในเมื่อ กฟผ. มีบทบาทในเรื่องดังกล่าวเป็นทุนเดิม ทั้งองค์ความรู้ที่เคยทำมาในการพัฒนาบุคลากร รวมถึงความพร้อมทางด้านเครื่องไม้เครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ต่าง ๆ กฟผ. จึงพร้อมสนับสนุนและผลักดันอย่างเต็มที่” นายบุญญนิตย์ กล่าว
ด้าน นายไกรสีห์ กรรณสูต อดีตผู้ว่าการ กฟผ. อดีตคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และเป็นหนึ่งในคณะรับรองมาตรฐานอาชีพ ได้ให้มุมมองไว้ว่า มาตรฐานอาชีพจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าแต่ละประเภทซึ่งมีความซับซ้อนแตกต่างกัน เพื่อคัดเลือกให้ได้บุคลากรที่เหมาะสมตามคุณวุฒิมาทำงานตามมาตรฐานที่ได้กำหนดไว้ อนึ่ง ความท้าทายของมาตรฐานอาชีพนั้นอยู่ที่ว่าจะต้องสร้างการยอมรับในระดับสากลให้ได้ด้วย ไม่ใช่เพียงในระดับประเทศเท่านั้น
จากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561–2580 (PDP 2018) คาดว่าจะมีความต้องการบุคลากรด้านการผลิตสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ประมาณ 7,500 คน ที่ต้องมีทักษะความรู้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ การจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพพลังงานและพลังงานทดแทน สาขางานระบบผลิตไฟฟ้า จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการคัดกรองและคัดเลือกบุคลากรในการทำงานสาขาดังกล่าว และที่สำคัญคือการเตรียมความพร้อมให้กับภาคการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชีวศึกษาให้มีทักษะในเชิงเทคนิคพร้อมเข้าสู่การทำงานได้ทันทีหลังจบการศึกษา รวมถึงผลลัพธ์ในระดับภูมิภาคทางด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย