การติดต่อสื่อสารถือเป็น 1 ใน 3 ทักษะที่คนทำงานยุคนี้ต้องเรียนรู้ในเทรนด์ S-Curve ขณะที่ ‘ภาษาอังกฤษ’ ถือเป็นหัวใจในการพัฒนา แต่สำหรับคนไทยภาษาอังกฤษกลับเป็นปัญหา โดยผลสำรวจล่าสุดพบว่า ระดับทักษะทางภาษาอังกฤษของไทยในปัจจุบันอยู่ที่อันดับ 74 จากทั้งหมด 100 ประเทศ ตกลงตลอด 3 ปี ดังนั้น Positioning จะพาไปรู้จักกับ Startup EdTech ‘Globish’ ที่ก่อตั้งด้วยแพชชั่นว่าอยากยกระดับการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทยให้ดีมากกว่าที่เป็น
‘โกลบิช’ (Globish) สตาร์ทอัพสาย EdTech หรือสตาร์ทอัพสายการศึกษา ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มการเรียน “ห้องเรียนภาษาอังกฤษแบบเรียนสด” หรือ Live English Classroom รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ได้ปักธงไว้ว่าปีนี้จะต้องขยายคลาสเป็น 250,000 คลาส จากปีที่ผ่านมามีการเรียนการสอน 88,000 คลาส และพัฒนาคนไทยเกิน 1 แสนคนภายใน 5 ปี
ปัจจุบัน ลูกค้าหลักของ Globish 90% เป็นผู้ใหญ่ 10% เป็นเด็ก ฐานลูกค้าส่วนใหญ่มาจากกลุ่มธุรกิจและการเงิน รองลงมาเป็นพนักงานขาย วิศวกรสถาปนิก แพทย์และพยาบาล นอกจากนี้ยังมีฐานลูกค้าองค์กรอีกกว่า 100 บริษัท ทำให้ปีนี้โกลบิชมีเป้าหมายพัฒนาคอร์สภาษาอังกฤษที่เจาะกลุ่มแต่ละอาชีพมากขึ้น จึงมีแผนสร้างโปรดักต์ที่เข้าถึงกลุ่มคนที่ใหญ่มากขึ้น อาทิ กลุ่มพนักงานกลุ่มใหม่ และผู้ปกครองกลุ่มใหม่
“2-3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารกสิกรไทยระบุว่า เฉพาะมูลค่าตลาดการเรียนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารจะมีมูลค่าราว 4 พันล้านบาท ขณะที่เราในปี 2559 มีการเติบโตกว่า 190% โดยรายได้เพิ่มขึ้นจาก 5.7 ล้านบาท เป็น 97.8 ล้านบาทในปี 62 และปีนี้เรามีเป้าหมายทำรายได้ 220 ล้านบาท เติบโต 120% ซึ่งเมื่อเทียบกับตลาดรวม เรายังมีโอกาสอีกมาก” ธกานต์ อานันโทไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท โกลบิช อคาเดเมีย (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าว
ขณะที่ผู้ใช้กว่า 50% เรียนบนมือถืออีก 45% เรียนผ่านคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ที่เหลือเรียนผ่านแท็บเล็ต ซึ่งสอดคล้องกับปัจจัยหลักที่ทำให้ Globish เติบโต ได้แก่ 1.อินเทอร์เน็ตที่เสถียร 2.การขยายทีมครูหลากเชื้อชาติจากช่วงแรกมีเฉพาะชาวฟิลิปปินส์ 3.การเปิดกว้างให้ผู้เรียนเลือกเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา และ 4.ความยืดหยุ่นในการเลือกหลักสูตรสำหรับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ขณะที่ 5G จะเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญในอนาคต นอกจากนี้ สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ก็ช่วยดันคอร์สออนไลน์ เพราะไม่ต้องเดินทางไปเรียน
“5G ที่จะทำให้อินเทอร์เน็ตเร็วแรงขึ้น เราก็ได้รับประโยชน์ โดยเฉพาะแผนการใช้ระบบวิเคราะห์ภาพ เสียง และใบหน้าบนแพลตฟอร์ม เพื่อประเมินการขยับของคิ้ว มุมปาก การเว้นวรรคระหว่างการพูดของผู้เรียน ซึ่งจะทำให้โกลบิชวัดผลช่องว่างของเสียงได้ ทำให้มีโอกาสจะนำระบบเข้ามาใช้ได้ในอนาคต อีกจุดคือเทคโนโลยี AR ที่โกลบิชเชื่อว่าจะช่วยสร้างการเติบโตได้อีกมาก”
ในส่วนของแผนการระดมทุนปีนี้ ตั้งเป้าไว้ 240-250 ล้านบาท จากที่เคยระดม 40 ล้านบาท โดยตั้งใจโฟกัสงบการตลาดเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและขยายตลาด อีกส่วนจะเน้นขยายหลักสูตร ขณะนี้เรายังไม่กำไรแต่มีกระแสเงินสดเป็นบวก เรามีแผนขยายไปเป็นห้องเรียนภาษาจีนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แต่อาจเป็นการทำงานร่วมกับบริษัทอื่น ไม่ได้จากหน้าเว็บ Glowbish และหวังว่าจะขยายตลาดตลาดเวียดนาม อินโดนีเซีย รวมถึงอุชเบกีชสถาน ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่แต่มีผู้ใช้ภาษาอังกฤษน้อย
ชื่นชีวัน วงษ์เสรี เจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายธุรกิจ และผู้ร่วมก่อตั้ง กล่าวเสริมว่า ความท้าทายของตลาดไลฟ์เลิร์นิ่งไทย คือ ค่านิยม และคนไทยหลายคนยังมองอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องความบันเทิงมากกว่า ทำให้ยังไม่เห็นภาพการเรียนบนออนไลน์ที่ชัดเจน อีกปัญหาคือ นิสัยขี้อายไม่กล้าพูด ทำให้โกลบิชปรับหลักสูตรให้เน้นการเรียนที่เกี่ยวกับสิ่งรอบตัว ขณะเดียวกันก็มีหลักสูตรให้ครูทราบได้ว่านักเรียนเก่งหรืออ่อน ทำให้เนื้อหาใกล้กับนักเรียนมากขึ้น ขณะที่นักเรียนสามารถเลือกครูที่ชอบได้ และเลือกเวลาที่ต้องการเรียน ส่วนใหญ่เลือกเรียน 1-3 ทุ่ม
“เราเอาเทคโนโลยีมาช่วย ทำให้เรียนสดโดยที่ครูอยู่ที่ไหนก็ได้ของโลก มีแบบตัวต่อตัว เรียนแบบกลุ่ม เรียนแบบนานาชาติ เพราะเราเลือกไม่ได้ว่าจะต้องคุยกับเจ้านายสัญชาติไหน สามารถเลือกหัวข้อที่เรียนได้ เมื่อเรียนแล้วมีเวิร์กช็อป ให้นักเรียนพบกันจริงตามสถานที่บริเวณแนวรถไฟฟ้า ตอนนี้เรามีทีมงาน 100 กว่าคน อยากให้คนไทยสามารถคว้าโอกาสได้ ทั้งเลื่อนขั้น และการติดต่อสื่อสาร”
ปัจจุบัน ค่าเรียนเฉลี่ยของนักเรียนในระบบคือ 5,000 บาท/เดือน สาเหตุที่ค่าเรียนแพงขึ้นเพราะค่าใช้จ่ายครูที่เราคัดเลือกมา ซึ่งส่วนใหญ่อยู่โซนยุโรป นอกจากนี้ Globish มีโครงการเพื่อสังคม ด้วยการเข้าถึงเด็กและโรงเรียนในชนบทที่ขาดโอกาสเรียนภาษาอังกฤษ มีการลงพื้นที่อำเภอตากใบ ทำโครงการให้ครูภาษาอังกฤษสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ บนความหวังว่ายิ่งโกลบิชเติบโตเท่าใด ก็ยิ่งเป็นโครงการเพื่อสังคมที่ใหญ่ขึ้นเท่านั้น
#Globish #Startup #EdTech #Positioning