โรคปอดอักเสบสายพันธุ์ไวรัสโคโรนาหรือ COVID-19 ได้แพร่กระจายไปในหลายประเทศ นำไปสู่การควบคุมเพื่อยับยั้งการระบาดของโรค แม้ปัจจุบันยังเห็นผลกระทบด้านซัพพลายเชนที่ชัดเจนในไทยก็ตาม แต่องค์กรจำเป็นจะต้องมีการประเมินและวางแผนเพื่อรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ รวมถึงเตรียมการไว้เพื่อรับมือกับวิกฤตในระยะยาวต่อไป
Koray Köse ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลของการ์ทเนอร์ กล่าวว่า โคโรนาไวรัสส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนตั้งแต่ 1.วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ หรือสินค้าสำเร็จรูปที่มีการขนส่งผ่านศูนย์โลจิสติกส์ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 2.แรงงาน อาจเกิดการขาดแคลนพนักงานออฟฟิศ หรือคนงานในโรงงาน เนื่องจากการถูกกักกันโรค หรือจากอาการเจ็บป่วย 3.การเข้าถึงแหล่งต้นทางของสินค้าหรือการบริการ เนื่องจากการเดินทางอาจถูกจำกัดในบางพื้นที่ 4.โลจิสติกส์ การจัดตั้งศูนย์ขนส่งและซัพพลายเน็ตเวิร์กต่าง ๆ ที่ยังไม่มีความพร้อม และ 5.ผู้บริโภค ที่อาจจะระมัดระวังพฤติกรรมการซื้อของตนเองมากขึ้น เนื่องจากกลัวการอยู่ในที่สาธารณะ ส่งผลให้อาจจะหันไปซื้อของออนไลน์แทน
“ผลกระทบเต็ม ๆ ที่เกิดจากไวรัสโคโรนาต่อวงการซัพพลายเชนนั้น อาจจะยังเห็นไม่ชัดเจนในตอนนี้จนกว่าจะถึงเวลาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าหรือมากกว่านั้น อย่างไรก็ตามผู้จัดการด้านซัพพลายเชนควรเริ่มทำขั้นตอนแรกในตอนนี้ เพื่อเป็นการตรวจสอบและเตรียมความพร้อมในการรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจของพวกเขา”
แผนระยะสั้น ต้องลงมือทำทันที
ผู้ประกอบการจะต้องมีการพัฒนาแผนสำหรับตรวจสอบและรับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดจากภาวะหยุดชะงักของซัพพลายเชนในประเทศ โดยต้องเริ่มจัดลำดับความสำคัญของกระบวนการซัพพลายเชน อีกสิ่งที่สำคัญคือ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าสินค้าคงคลังทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ และอยู่นอกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงประเมินค่าใช้จ่ายของลูกค้า
นอกจากนี้ผู้จัดการด้านซัพพลายเชนควรทำงานร่วมกับฝ่ายกฎหมายและทรัพยากรบุคคลเพื่อทำความเข้าใจกับผลกระทบทางการเงินอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ไม่สามารถส่งมอบของให้กับลูกค้า และจะต้องให้คำแนะนำแก่พนักงานที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
แผนระยะกลาง ต้องลงมือทำในไตรมาสนี้
สำหรับแผนระยะกลาง ควรมุ่งเน้นไปที่การสร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน รวมถึงต้องมีสินค้าคงคลังสำรองไว้ด้วย เพื่อจะได้มีโอกาสเข้าถึงซัพพลายเออร์ที่หลากหลายมากขึ้นและมีการทบทวนหรือสร้างแนวทางการบริหารความเสี่ยงโดยรวมขององค์กร นอกจากนี้จะต้องมีการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียภายในองค์กรและซัพพลายเออร์สำคัญในเชิงกลยุทธ์ เพื่อสร้างแนวทางในการจัดการความเสี่ยงที่สอดคล้องกันในการตรวจสอบและเตรียมความพร้อมสำหรับความขาดแคลนด้านวัสดุอุปกรณ์ และกำลังการผลิตที่มีศักยภาพ
แผนระยะยาว ต้องลงมือทำภายในปีนี้
เมื่อผลกระทบแรกของวิกฤตบรรเทาเบาบางลงแล้ว สิ่งต่อไปที่จะต้องคาดการณ์ต่อไปคือ จะเกิดผลกระทบขึ้นอีก “เมื่อไหร่” ผู้จัดการด้านซัพพลายเชนและทีมอาจจะมีการฝึกวางแผนและพัฒนาแผนปฏิบัติการไว้รองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งนี่คือเวลาที่จะค้นพบหรือพัฒนาแหล่งต้นทางของสินค้า หรือการบริการอื่น ๆ และได้เชนใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่ม
การจัดการกับซัพพลายเชิงกลยุทธ์ที่มีมูลค่าความเสี่ยงสูง การรับมือภายในองค์กรอาจไม่เพียงพอที่จะบรรเทาการหยุดชะงักสำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นได้ เช่น แหล่งสินค้า/บริการทางเลือก เส้นทางขนส่ง สินค้าคงคลังและเงินสดสำรอง อย่างไรก็ดี การเตรียมพร้อมในการรับมือย่อมดีกว่า เพราะอาจเปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้กับองค์กรได้เมื่อมีการภาวะหยุดชะงักในครั้งต่อไปในอนาคต
#Supplychain #Covid19 #Positioningmag