ถอดแนวคิด ‘Jitta’ ที่ทำ ‘work from home’ ให้เวิร์คขึ้นด้วย ‘OKR’

‘OKR’ หรือ ‘Objective & Key Results’ แนวคิดการตั้งเป้าหมายหลัก และหาว่าจุดสำคัญที่นำไปสู่เป้าหมายคืออะไร ทำอย่างไร และต้องสามารถวัดผลได้ ขณะที่แนวทางการปฏิบัตก็มีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีหลายองค์กรมีการนำไปปรับใช้ทั้ง Google, Facebook, Netflix ซึ่ง ‘คุณอ้อ พรทิพย์ กองชุน ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารของบริษัท จิตตะ ดอท คอม จํากัด’ สตาร์ทอัพด้าน Fintech จะมาเผยถึงการปรับใช้แนวคิด OKR ในการทำงานของบริษัทให้ได้ผลในช่วง work from home นี้

พรทิพย์ กองชุน ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารของบริษัท จิตตะ ดอท คอม จํากัด

คุณอ้อ เล่าว่า ได้เรียนรู้การทำ OKR ตั้งแต่สมัยเป็นหัวหน้าฝ่ายการตลาดของ Google ประเทศไทย เพราะในอดีตยังไม่มีสำนักงานในประเทศไทย เลยต้องทำงานที่บ้านเป็นหลัก ขณะที่ OKR จะเสริมให้การ work from home เกิดประสิทธิภาพได้มาก เพราะพนักงานทุกคนมีเป้าหมาย ทำให้ไม่ต้องกังวลว่าเขาจะทำงานไหม หรือเขาจะควบคุมตัวเองไม่ได้ เราเชื่อว่าเขารับผิดชอบได้ และความรับผิดชอบเขาชัดเจนว่ามีเป้าหมายอะไรในแต่ละไตรมาส

ทั้งนี้ OKR แตกต่างกับ KPI ในแง่ความยืดหยุ่น โดย KPI จะเซตเป้าหมาย 1 ปีเช่นกัน เเต่เพราะต้องผูกติดกับโบนัสหรือการประเมินผลงาน ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการทำงาน OKR จะมีเป้าหมาย 1 ปี แต่จะแบ่งการทำงานระยะสั้นเพื่อเรียนรู้และปรับปรุงตลอดเวลา และเน้นที่ผลสำเร็จของบริษัท รวมถึงมีกระบวนการประเมินผลงานพนักงานอีกแบบ โดยจะดู ‘ระหว่างทาง’ ที่ไปถึงเป้าหมาย ซึ่งส่วนนี้จะสะท้อนให้เห็นว่าพนักงานกล้าที่จะทำวิธีใหม่ ๆ หรือมีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไร ดังนั้น การวัดผลแบบ OKR จะช่วยให้พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์ เพราะทำงานอย่างยืดหยุ่น

“ช่วงนี้ที่ต้อง work from home ไม่มีปัญหาเลย เพราะเราทำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นช่วงฝุ่น PM 2.5 เดินทางมาลำบาก ฝนตก รถติด หรือเบื่ออยากทำงานเงียบ ๆ ที่บ้าน เราก็อนุญาต แค่ครั้งนี้มันยาวไม่รู้เมื่อไหร่จะกลับมาได้ และไปทุกคน ไม่ใช่บางคนเหมือนก่อน ดังนั้น ปัญหาอาจจะเป็นเรื่องความอึดอัดและน่าเบื่อของแต่ละคนมากกว่า”

อย่างไรก็ตาม จิตตะไม่ได้เริ่มใช้แนวคิด OKR ตั้งแต่แรก แต่พึ่งปรับใช้ในช่วง 3 ปีหลัง เนื่องจากตอนแรกยังต้องทำงานแบบสตาร์ทอัพ เพราะทุกอย่างยังไม่นิ่ง ทั้งตัวโปรดักต์และบิสเนส ดังนั้นต้อง ‘lean’ สร้างเพื่อเรียนรู้ ไม่ใช่ก็ทิ้งแล้วเดินหน้า แต่หลังจากมีผลิตภัณฑ์ออกมาสู่ตลาด ทุกอย่างเริ่มนิ่ง เลยต้องคิดแบบบิสเนสมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องเอา OKR มาใช้ เพื่อให้เราสามารถวัดผลให้เห็นภาพชัด

“ตอนเป็นแรกเรามีไอเดียที่ดีเราลองทำแล้วรับฟีดแบ็กเรื่อย ๆ แต่พอเป็นธุรกิจเราไม่สามารถทดลองตลอดเวลาได้ ดังนั้น เราเริ่มเขียน OKR ตั้งแต่ระดับบนจนถึงระดับผู้ปฏิบัติงาน โดยจะเริ่มเซ็ทเป็นไตรมาส แต่ไม่ได้ตายตัวมีการปรับตามสถานการณ์ โดยสามารถกำหนดเป้าหมายจากข้างบนลงมาข้างล่าง (Top Down) และสามารถส่งฟีดแบคขึ้นไปข้างบน (Bottom Up) ทั้งนี้ทั้งนั้น เป้าหมายใหญ่ยังต้องอยู่

นอกจากแนวคิดการทำงานแบบ OKR แล้ว ความพร้อมด้านอินฟาสตรักเจอร์ที่วางไว้ตั้งแต่แรกก็ช่วยให้การทำงานแบบ work from home เริ่มได้ง่าย ทั้งการใช้แต่ Notebook ไม่ใช้ Desktop และเตรียมโปรแกรมไว้พร้อม อีกทั้งแนวคิดการทำงานแบบ lean ที่พยายามใช้คนให้น้อยที่สุด อะไรที่ต้องทำซ้ำก็ใช้ดิจิทัลแทนเพื่อความคล่องตัว ก็ช่วยได้มาก

อีกส่วนที่สำคัญคือ ข้อกำหนดในการทำงานที่มีการแบ่งเลเวลอย่างชัดเจน เพื่อรองรับ ‘รีโมตเวิร์กกิ้ง’ หรือการทำงานจากทุกที่ โดยเป็นข้อตกลงที่พนักงานรับรู้ร่วมกันว่าคนที่ไม่เข้าออฟฟิศหายไปในเลเวลใด ได้แก่ 1.ทำทุกอย่างเหมือนเดิมแค่ไม่ได้อยู่ออฟฟิศ 2.ติดต่อได้บ้างไม่ได้บ้าง เช่น กำลังเดินทาง 3.Live Standby และ 4.Offline หรือ ลางาน ซึ่งระหว่างนี้จะมีคนแบ็คอัพงาน

“ระหว่าง work from home ทุกอย่างก็ยังเดินหน้า ขณะที่ฟินเทคด้านการลงทุนอื่น ๆ ยังไม่สามารถทำได้ 100% เหมือนเรา เพราะต้องเจอลูกค้า ต้องกรอกเอกสาร แต่เราทำทุกอย่างออนไลน์หมด โดยเราถือว่าเป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรายแรกที่ work from home 100%”

ปีนี้ จิตตะมีแผนจะเพิ่มพนักงานจากปัจจุบันที่มีประมาณ 34 คน เป็น 50-60 คน โดยเฉพาะในด้านเซลล์และมาร์เก็ตติ้ง แม้ว่ามีแผนจะเพิ่มคนอีกเป็นเท่าตัว แต่เมื่อเทียบกับธุรกิจเดียวกันในตลาดยังถือว่าเรามีพนักงานน้อยกว่ามาก บางรายมีพนักงานทะลุร้อยแล้ว แต่เรายังไม่อยากให้คนเยอะเพื่อคง ความคล่องตัว และสำหรับบริษัทที่ไม่ได้เตรียมพร้อมในการ work from home ตั้งแต่แรก อาจจะนำแพลตฟอร์มพื้นฐานที่ใช้งานง่าย ๆ มาปรับใช้ก่อน อาทิ Line, Facebook เป็นต้น

“วิกฤตครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าไม่มีอะไรแน่นอน และสิ่งที่ทำอยู่อาจจะทำไม่ได้อีกแล้ว ดังนั้นนี่อาจเป็นเวลาดีที่จะปรับตัว”

#Jitta #OKR #Workfromhome #fintech #Startup #Positioningmag