ปี 2563 ถือเป็นปีที่ท้าทายของธุรกิจแขนงต่างๆ เพราะต้องเผชิญกับมรสุมโรคระบาดไวรัสโควิด-19 กระทบต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย ปีนี้จึงเป็นปีที่แต่ละทุกธุรกิจต้องพิสูจน์ฝีมือ หาทางเอาตัวรอด วางแผนปรับกลยุทธ์ ปรับแผนธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้
ปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้างของไทยมีมูลค่าตลาดประมาณ 500,000 ล้านบาท และมีผู้ประกอบการกว่า 14,000 ราย ธุรกิจวัสดุก่อสร้างจึงมีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันที่เกิดขึ้น นอกจากการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ตอบรับกับความต้องการของผู้บริโภคแล้ว ช่องทางการจัดจำหน่ายถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด
ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับกลยุทธ์ด้วยการขยายสาขาร้านค้าปลีก-ส่งวัสดุก่อสร้าง หรือเพิ่มช่องทางจำหน่ายผ่านร้านโมเดิร์นเทรดเพิ่มขึ้น และเพิ่มบริการหลังการขายอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภครายย่อย และกลุ่มผู้รับเหมาขนาดกลางและเล็กได้รวดเร็วและครอบคลุม
นอกจากนี้ ยังมีช่องทางจำหน่ายออนไลน์ โดยใช้กลยุทธ์การขายแบบ O2O (Online to Offline )และมีบริการ Home Service ที่สามารถอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าและตอบสนองต่อการใช้ชีวิตของผู้บริโภคยุค 4.0 ได้เป็นอย่างดีเนื่องจากผู้บริโภคสมัยใหม่นิยมศึกษาข้อมูลสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อ อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและเพิ่มความต้องการตกแต่ง/ซ่อมแซมที่อยู่อาศัยซึ่งจะส่งผลให้ยอดซื้อวัสดุก่อสร้างและของตกแต่งบ้านเพิ่มขึ้นถึงแม้วัสดุก่อสร้างบางประเภทจะมีข้อจำกัดในเรื่องของราคาต่อการสั่งซื้อที่มีมูลค่าสูง ทำให้การตัดสินใจซื้อจากลูกค้าเป็นเรื่องที่ยาก
อย่างไรก็ตาม หลายบริษัทยังคงสามารถสร้างยอดขายและประสบความสำเร็จจากช่องทางการขายออนไลน์ได้มาดูกันว่าธุรกิจวัสดุก่อสร้างปรับตัว Go online กันอย่างไร
SMARTBlock อิฐมวลเบาและอิฐมวลเบาตกแต่ง การทำตลาดในช่วงแรกบริษัทสมาร์ทคอนกรีต จำกัด (มหาชน) (SMART) ให้ความสำคัญกับการขายผ่านร้านค้าวัสดุก่อสร้างและการขายตรงผ่านทางโครงการเท่านั้น แต่เมื่อระบบออนไลน์หรือระบบโซเชียลมีเดียเริ่มมีผลต่อชีวิตประจำวันของทุกคนมากขึ้น
บริษัทจึงมองเห็นความสำคัญ เริ่มสร้างการรับรู้ผ่านโซเชียลมีเดียสื่อสารแนะนำข้อมูลความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จักเพื่อสร้างการรับรู้กับลูกค้าในวงกว้าง เมื่อสินค้าเป็นที่รู้จักสามารถส่งผลจูงใจให้กับการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น
สำหรับกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนธุรกิจบริษัทมีแผนเดินหน้าทำการตลาดเชิงรุกแนะนำสินค้าให้เป็นที่รู้จักควบคู่กับกลยุทธ์การขายแบบ O2O (Online to Offline) ผลักดันสินค้าผ่านช่องทางการจำหน่ายให้หลากหลายมากขึ้น อาทิ โมเดิร์นเทรดห้างค้าปลีกวัสดุก่อสร้างได้แก่ ไทวัสดุ 49 สาขาและโกบอลเฮ้าส์ 67 สาขาทั่วประเทศ พร้อมเพิ่มตัวแทนจำหน่ายร้านค้าวัสดุก่อสร้างจึงสามารถกระจายสินค้าเข้าสู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั่วประเทศ อีกทั้งมุ่งเน้นการทำตลาดผลิตภัณฑ์ใหม่ “อิฐมวลเบาตกแต่งและคานทับหลัง” มากขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้ากระตุ้นการสร้างยอดขายให้เติบโตและสร้างการรับรู้กับลูกค้าในวงกว้างผ่านสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดีย https://www.facebook.com/SmartBlockOfficial/ และwww.Smartblock.co.thเพื่อขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่องทั้งนี้สัดส่วนรายได้งานภาครัฐอยู่ที่ 28% ภาคเอกชน 70% และต่างประเทศ 2%
ทิศทางธุรกิจสมาร์ทคอนกรีตปี 2563 คาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดีจากนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ EEC ผลักดันให้เกิดการลงทุนก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม คลังสินค้า โครงการเมกะโปรเจคขนาดใหญ่ งานโครงการก่อสร้างอาคารภาครัฐ และผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทยอยลงทุนในโครงการใหม่ ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ความต้องการสินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้าง-อิฐมวลเบาปรับตัวดีขึ้น
COTTO สินค้าประเภทกระเบื้องปูพื้นสุขภัณฑ์ก๊อกน้ำหลากดีไซน์แบรนด์ภายใต้การดูแลของบริษัทเอสซีจีเซรามิกส์จำกัด (มหาชน) แบรนด์ที่มีการพัฒนาสินค้าให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลาเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อโลกสินค้าอย่างวัสดุตกแต่งบ้านอย่างกระเบื้องจำเป็นต้องใช้ข้อมูลเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญ การเลือกความสวยงามโดยเห็นสินค้าจริงจากหน้าร้านและรับบริการต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจ www.cottolife.com จึงได้ถูกพัฒนาขึ้นด้วยการเชื่อมโยงการซื้อขายสินค้าที่ต้องผสานทั้ง Offline (การเดินเลือกซื้อสินค้าที่หน้าร้าน) และOnline (e-commerce ซื้อขายผ่านทาง Online ) เพื่อให้การซื้อสินค้ากระเบื้องสุขภัณฑ์ก๊อกน้ำไปพร้อมกับการบริการเต็มรูปแบบตอบโจทย์การเข้าถึงของกลุ่มลูกค้ายุคใหม่ Online Shopper
ถึงแม้ว่าจะมีช่องทางการขายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ก็ตาม แต่ลูกค้าก็ยังต้องการศึกษาข้อมูลเปรียบเทียบคุณสมบัติของสินค้าเทียบราคา ต้องมีการตัดสินใจร่วมกันของคนในบ้าน ซึ่งจากการเก็บข้อมูลพบว่าลูกค้า 1 รายจะต้องใช้เวลาในการเข้าดูสินค้าผ่านออนไลน์ และเข้าดูสินค้าจริงที่โชว์รูมราว 5-6 ครั้งจึงจะมีการตัดสินใจซื้อ ทางคอตโต้เองจึงมีการปรับรูปแบบสินค้าผ่านออนไลน์ให้มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นจดจำง่ายและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนในยุคปัจจุบัน เพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น
นอกจากนี้แล้วร้านค้าวัสดุก่อสร้างอย่าง บริษัท ดูโฮม จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้นำในธุรกิจค้าปลีกค้าส่งและให้บริการด้านวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านแบบครบวงจร (One-stop Home Products Destination) เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินธุรกิจและเข้าไปเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคให้ต่างไปจากเดิม จึงจำเป็นที่บริษัทต้องปรับกลยุทธ์การแข่งขันเพื่อให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลง ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในองค์กรเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและลดต้นทุนในการบริหารจัดการอีกทั้งยังเป็นการสร้างแบรนด์ “ดูโฮม” ให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวนำ พร้อมทั้งการจัดจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์โดยเน้นเจาะตลาด B2C เน้นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ซื้อขายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ ตอบโจทย์การซื้อสินค้าผ่านโลกออนไลน์ที่จะช่วยให้ลูกค้าไม่จำเป็นต้องเดินทางมาซื้อสินค้าที่สาขา แต่สามารถเลือกซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์ได้ในทุกที่ทุกเวลาเพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคยุค 4.0 ให้เข้าถึงสินค้าได้มากขึ้น ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ลูกค้า โดยยังคงความหลากหลายและครบถ้วนของสินค้าเอาไว้
ปัจจุบันดูโฮมมีสาขาที่เปิดดำเนินการแล้วทั้งสิ้น 9 สาขาทั่วประเทศ และศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center) 1 แห่ง และยังคงพัฒนาช่องทางจำหน่ายออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ www.dohome.co.th เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ลูกค้าและเป็นการรองรับเทรนด์ e-Commerce ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ
จะเห็นได้ว่าจริงๆ แล้ว วัสดุก่อสร้างกับการขายออนไลน์ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้แต่สิ่งสำคัญคือการสร้างจุดเด่นของสินค้า ทั้งรูปแบบ คุณภาพการบริการเพื่อจูงใจให้กับกลุ่มลูกค้าที่ใช้ชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้นเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าประเภทใดก็คงต้องคำนึงถึงเช่นเดียวกัน อีกทั้งการจัดเตรียมช่องทางการจัดจำหน่ายอื่น ๆ ไว้รองรับร่วมด้วย ถือเป็นการบริการที่สามารถอำนวยความสะดวกสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า เพราะคงไม่มีใครกล้าเอาเงินก้อนเข้ามาเสี่ยง กับสินค้าที่ยังไม่เคยเห็น ร้านค้าที่ไม่รู้ว่ามีตัวตนจริงหรือเปล่า