รู้จัก “Minds” ตัวเปลี่ยนเกมโซเชียลมีเดีย แอปฯ ใหม่ที่คนไทยจ่อย้ายค่ายจากทวิตเตอร์

มายส์ (Minds) คือโซเชียลมีเดียล่าสุดที่ถูกมองว่าจะเปลี่ยนเกมจนยักษ์ใหญ่สะเทือน จากจุดยืนการเป็นระบบที่ต่อต้านเฟซบุ๊ก “Anti-Facebook” วันนี้ Minds เปลี่ยนเป็นระบบที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์ให้ความสนใจด้วย โดยเฉพาะคนไทยที่มีกระแสชวนกันย้ายค่ายเพื่อประท้วงนโยบายความเป็นส่วนตัวใหม่

ผู้มาใหม่อย่าง Minds ถูกมองว่าจะร้อนแรงมากในช่วงหลังการเปิดตัว เนื่องจากความสำเร็จของติ๊กตอก (TikTok) ที่สั่นคลอนสถานะของยักษ์ใหญ่ในสังคมออนไลน์ได้ระดับหนึ่งในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา จากที่ดูว่าเป็นไปได้ยาก TikTok ใช้เวลาไม่กี่ปีจากที่เปิดตัวในปี 2016 ในการก้าวไปสู่ทำเนียบสื่อโซเชียลระดับโลก และกลายเป็นคู่แข่งที่สำคัญของยักษ์ใหญ่ในปัจจุบัน

สำหรับ Minds นั้นเพิ่งก่อตั้งในปี 2015 ให้บริการแบบไม่เป็นข่าวหวือหวาจนช่วงกุมภาพันธ์ Minds ติดเทรนด์คำค้นหายอดนิยมใน Google Trends ในหมวดโซเชียลมีเดีย จนล่าสุดแฮชแท็ก #mindsTH ติด 1 ใน 10 อันดับบนทวิตเตอร์ประเทศไทยเมื่อ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา

ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนมากโพสต์ทวีตว่าจะย้ายไปใช้บริการของ Minds แทน จนเกิดเป็นแฮชแท็ก #ไม่เอาทวิตเตอร์ไทยแลนด์ เพราะเชื่อว่าบัญชีทางการ @TwitterThailand จะเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลไทยใช้สอดส่องพฤติกรรมชาวทวิตเตอร์ นอกจากนี้ยังมีกระแสต้านเรื่องอัปเดตการตั้งค่าแบ่งปันข้อมูลส่วนตัว ซึ่งทวิตเตอร์ได้ยกเลิก ไม่ให้ผู้ใช้ตั้งค่าขนาดโฆษณาบนแอปฯ โทรศัพท์มือถือได้เหมือนที่เคยทำ เหลือไว้เพียงการกำหนดได้ว่าจะอนุญาตให้แอปพลิเคชัน แชร์ข้อมูล “ที่ไม่เป็นสาธารณะ” เท่านั้น

ล่าสุด บิล ออตแมน (Bill Ottman) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Minds โพสต์ต้อนรับคนไทยเข้าสู่แพลตฟอร์ม โดยบอกว่าได้พบจำนวนการใช้งาน Minds เพิ่มขึ้นชัดเจนในไทย

Minds โดนใจเพราะโพสต์แรงได้?

ถามว่าทำไม Minds จึงเป็นแพลตฟอร์มที่โดนใจชาวเน็ตจำนวนไม่น้อย คำตอบคือ Minds ไม่รวมอำนาจการตัดสินใจหรือรายได้ไว้ที่ศูนย์กลาง แต่จะกระจายให้ผู้ใช้สามารถรับเงินคริปโต หรือโทเคน รวมถึงเปิดเสรีให้ผู้ใช้ตัดสินเองว่าโพสต์รุนแรงนี้สมควรถูกลบทิ้งหรือไม่

แนวคิดของ Minds ทั้งด้านศักยภาพและประโยชน์ที่ผู้ใช้จะได้รับนั้นเปลี่ยนมุมมองการใช้โซเชียลมีเดียอย่างสิ้นเชิง ประเด็นนี้ Bill Ottman ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง Minds อธิบายว่า Minds เป็นเครือข่ายโซเชียลโอเพนซอร์ซที่กระจายอำนาจเพื่ออิสรภาพทางอินเทอร์เน็ต โดยผู้ใช้จะได้รับคริปโตโทเคน (เงินดิจิทัลเข้ารหัส) สำหรับการมีส่วนร่วมในเครือข่าย ตัวโทเคนสามารถแลกเปลี่ยนเพื่อการชมเนื้อหาเพิ่มเติม หรือส่งให้กับช่อง (ชาแนล) เพื่อเป็นทิป หรือค่าสมัครสมาชิกได้

ผู้ก่อตั้ง Minds ย้ำว่า Minds ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของความเป็นส่วนตัว ความโปร่งใส และการแสดงออกอย่างอิสระ ซึ่งในขณะที่เครือข่ายอื่นทำให้ผู้ใช้สูญเสียศรัทธาต่อเนื่อง Minds เริ่มมีฐานผู้ใช้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่านับตั้งแต่ปีที่แล้ว ขณะนี้มีผู้ใช้งานรายเดือนเกิน 200,000 ราย จากจำนวนผู้ใช้ที่ลงทะเบียนไว้ทั้งหมด 1.25 ล้านคน

พูดให้เข้าใจง่ายคือ Minds เป็นเครือข่ายโซเชียลที่ใช้ประโยชน์จากบล็อกเชน (blockchain) เพื่อยกระดับประสบการณ์และผลประโยชน์ของผู้ใช้ กลายเป็นแพลตฟอร์มที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคืนความเป็นส่วนตัว และตอบแทนการมีส่วนร่วมของผู้ใช้

Minds โพสต์แล้วได้เงิน

สิ่งที่ Minds ทำคือการนำ blockchain มาพัฒนาจนเป็นฟีเจอร์หรือคุณสมบัติมากมายที่ทำให้แพลตฟอร์มนี้สร้างประโยชน์กับผู้ใช้ได้ จน Minds ถูกยกว่าเป็นแพลตฟอร์ม anti-Facebook ที่จะชดเชยประโยชน์ให้กับผู้ใช้ที่เสียเวลาบน Minds

บทสรุป 5 สิ่งที่ Minds การันตี ประกอบด้วย

1. ความเป็นโอเพนซอร์ซ สถานะมาตรฐานเปิดจะอนุญาตให้ผู้ใช้เป็นส่วนหนึ่งของทีมพัฒนาได้

2. ความเป็นส่วนตัว ซึ่ง Minds จะให้บริการแชตแบบเข้ารหัสบนเว็บไซต์ และผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวมากมายเมื่อเริ่มสมัครสมาชิก

3. ความเป็น Gamification ที่จะตอบแทนผู้ใช้ด้วยคะแนนที่สามารถแลกเปลี่ยน เพื่อเพิ่มการแสดงผลของคุณหรือเข้าถึงเนื้อหาพิเศษได้

4. การสร้างรายได้ เพราะ Minds อนุญาตให้มีการบอกรับสมาชิก และการให้ทิปผู้สร้างเนื้อหา ขณะที่นักการตลาดจะสามารถอัดฉีดเงินเพื่อมอบรายได้ให้ทุกส่วนบนแพลตฟอร์มอย่างยุติธรรม

5. การเข้าถึงอย่างเต็มที่ เพราะ Minds จะไม่ทำแบบ Instagram ที่คัดเนื้อหาเพียง 3 ถึง 5% ของแพลตฟอร์มมาแสดงให้ผู้ใช้เห็นเท่านั้น แต่เนื้อหาจะปรากฏต่อผู้ชมแบบ 100%

แนวคิดของ Minds ถูกมองว่าเหมาะจะแจ้งเกิดในเวลานี้ เพราะ blockchain นั้นแข็งแรงพอที่จะเข้าสู่ตลาดใหญ่ภายใน 2 ปีข้างหน้า แถม Minds ยังมุ่งเน้นไปที่ประสบการณ์ของลูกค้ามากกว่าใคร จนเป็นกระแสร้อนแรงในยุคที่โลกเริ่มเบื่อกับเครือข่ายสังคมรายใหญ่

อย่างไรก็ตาม Minds มีนโยบายให้ความร่วมมือภาครัฐไม่ต่างจากเครือข่ายอื่น โดยระบุในส่วนข้อกำหนดบริการว่า Minds จะเข้าถึงและแชร์ข้อมูลที่มีกับภาครัฐหรือเจ้าหน้าที่ทางกฏหมายโดยที่ไม่ต้องรอให้ผู้ใช้ยินยอม ขณะเดียวกันก็จะป้องกันไม่ให้เกิดการล่อลวงหรือกิจกรรมที่ผิดกฏหมาย ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า Minds ก็มีจุดยืนเพื่อการอยู่ในกรอบเช่นกัน

Source