สหราชอาณาจักร เริ่มคุมเข้มมาตรการกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศเป็นเวลา 14 วันแล้ว เพื่อป้องกันการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งเเต่วันจันทร์ที่ 8 มิ.ย.เป็นต้นไป ซึ่งจะมีการประเมินมาตรการทุก 3 สัปดาห์
โดยมีข้อกำหนดว่า พลเมืองทั้งที่เป็นชาวสหราชอาณาจักร ผู้มีถิ่นพำนักถาวร นักท่องเที่ยวเเละนักธุรกิจต่างชาติ ต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริงและชัดเจนกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ไม่ว่าจะเดินทางด้วยทางบก ทางเรือหรือทางอากาศ ว่าจะกักตัวเองอยู่ที่ใดตลอดช่วงเวลา 14 วันดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นพิเศษในหลายกรณี อย่างเช่น พนักงานขับรถขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องเดินทางทำตามหน้าที่ และผู้ที่มีประวัติพำนักอยู่ในไอร์แลนด์เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนเดินทางมายังสหราชอาณาจักร
ทางเจ้าหน้าที่รัฐบาลจะสุ่มตรวจบุคคลตามข้อมูลที่ได้รับ หากพบการฝ่าฝืน ไม่ว่าจะเป็นการหลบออกจากสถานที่กักตัว หรือการให้ข้อมูลเท็จ บุคคลนั้นจะต้องชำระค่าปรับ 1,000 ปอนด์ (ราว 3.98 หมื่นบาท) หรืออาจถูกดำเนินคดีตามกฎหหมายของสหราชอาณาจักร
ขณะเดียวกัน มาตรการนี้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากภาคธุรกิจ เพราะมองว่าการที่อังกฤษเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตสะสมจาก COVID-19 มากกว่า 4 หมื่นคน สูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ แต่กลับมีมาตรการจำกัดการเดินทางจากประเทศที่มีผู้ติดเชื้อน้อยกว่า ทำให้บรรดานักวิจารณ์มองว่าเป็นการซ้ำเติมธุรกิจโรงแรมและสายการบิน
ล่าสุดสายการบินใหญ่อย่าง British Airways และสายการบินต้นทุนต่ำทั้ง EasyJet เเละ Ryanair ได้ร่วมกันยื่นคำร้องเพื่อคัดค้านมาตรการดังกล่าวของรัฐบาล โดยระบุว่าเป็นการดำเนินการที่ “ไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรม”
Michael O’Leary ผู้บริหาร Ryanair แสดงความคิดเห็นต่อกรณีนี้ว่า “คนอังกฤษจะไม่สนใจการกักตัวนี้ พวกเขารู้ว่ามันไร้ประโยชน์” นอกจากนี้ยังมองว่าเป็นการสร้างความเสียหายต่อการจ้างงานหลายพันตำเเหน่งในธุรกิจท่องเที่ยวของสหราชอาณาจักร
ด้าน Matt Hancock รัฐมนตรีสาธารณสุขอังกฤษ ยืนยันว่ากฎใหม่นี้มีความสมเหตุสมผล เพราะสัดส่วนการติดเชื้อที่มาจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น แต่พบผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศลดลง รัฐบาลจึงต้องเพิ่มการป้องกันการแพร่ระบาดระลอกสองจากต่างประเทศ ด้วยความระมัดระวังเเละเข้มงวดกว่านี้
ที่มา : CNA , theguardian