ตามที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้สถานศึกษาทุกแห่งของรัฐและเอกชน ทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งอยู่ในสังกัดและในกำกับของกระทรวงฯ เปิดภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2563 ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ โดยให้มีการเรียนการสอนสอดคล้องกับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินสืบเนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลให้สถานศึกษา บรรดาผู้ปกครอง และน้อง ๆ นักเรียนต้องปรับตัวรับเปิดเทอมในยุคฐานวิถีชีวิตใหม่ (นิวนอร์มอล)
“เทคโนโลยีดิจิทัล” พระเอกการศึกษาไทยยุคนิวนอร์มอล
“พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) กล่าวว่า ที่ผ่านมา รัฐบาล โดยกระทรวงดิจิทัลฯ เดินหน้าผลักดันให้ทุกภาคส่วนเกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่องและแน่นอนว่า การเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ เทคโนโลยีดิจิทัลจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการศึกษาในยุคนิวนอร์มอล ทั้งในส่วนของรูปแบบการเรียนการสอน การรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่ “ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์” ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า สังกัดกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวว่า เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการปรับแนวทางการเรียนการสอน จึงทำให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างสถานศึกษากับดิจิทัลสตาร์ทอัพ โดยหนึ่งในดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยที่เข้ามามีส่วนในการสนับสนุนระบบ Smart Education & E-learning Platform ให้กับโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครคือ BearCON (บริษัท แบร์คอน คอร์ปอเรชัน จำกัด) ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มไอโอที รวมถึงแอปพลิเคชันดูแลสุขภาพและความปลอดภัยนักเรียน ซึ่งเป็นหนึ่งในดิจิทัลสตาร์ทอัพที่ได้รับการสนับสนุนผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนเพื่อการเริ่มต้นธุรกิจอุตสาหกรรมดิจิทัล
“การดำเนินโครงการดังกล่าว นอกจากจะเป็นโซลูชันใหม่สำหรับการศึกษาไทยในยุคนิวนอร์มอลแล้ว ยังนับเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาของไทยมีศักยภาพการเติบโตเพิ่มขึ้น ซึ่ง ดีป้าประเมินว่าการส่งเสริมและสนับสนุนเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ โดยความร่วมมือระหว่างเอกชนและรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร เทคโนโลยีเพื่อการบริการภาครัฐ เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ เทคโนโลยีเพื่อการเงิน เทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยว และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย ทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งยังเป็นแรงผลักดันที่ทำให้อุตสาหกรรมดิจิทัลไทยเติบโต เหมือนประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคที่ได้ดำเนินการไปแล้วก่อนหน้านี้” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
ดิจิทัลสตาร์ทอัพร่วมปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน
“ภลลกร พิมพ์สุวรรณ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบร์คอน คอร์ปอเรชัน จำกัดเล่าให้ฟังว่า ช่วงวิกฤตโควิด-19 บริษัทได้ร่วมกับ สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร พัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนการสอน
ออนไลน์ ในชื่อ “ศูนย์สื่อการเรียนรู้ออนไลน์”(BMA Media)โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเป็นโซลูชันสำหรับการเรียนการสอนภายหลังเปิดเทอมใหม่ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ โดยจะช่วยรองรับการเรียนแบบผสมผสานของนักเรียนที่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาความเหมาะสมจากทางโรงเรียน ทั้งการเรียนในชั้นเรียนปกติและการสลับวันเรียนในยุคนิวนอร์มอลแบบนี้
โดยความก้าวหน้าของโครงการดังกล่าวได้นำร่องใช้งานจริงกับโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งเฟสแรกเปิดโอกาสให้โรงเรียนต่าง ๆ เป็นผู้สร้างสรรค์เนื้อหาการเรียนในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ก่อนส่งให้สำนักการศึกษาเป็นผู้คัดกรอง จากนั้นจะนำเนื้อหาที่ผ่านการคัดกรองแล้วบรรจุเข้าไปในศูนย์สื่อการเรียนรู้ออนไลน์ เพื่อให้นักเรียนได้ใช้จริงตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไปส่วนเฟสที่สองจะเปิดโอกาสให้ครูประจำชั้นออกแบบตารางเรียนและแบบทดสอบให้กับนักเรียน พร้อมกันนี้จะสามารถบันทึกชั่วโมงการเรียนของนักเรียนได้ ขณะที่แผนการดำเนินงานในเฟสถัดไปจะนำเทคโนโลยีเอไอมาช่วยประเมินผลการเรียนของนักเรียนในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้อีกด้วย
“ศูนย์สื่อการเรียนรู้ออนไลน์จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนแปลงระบบการเรียนการสอนไทยหลังเปิดภาคเรียนใหม่ รองรับยุคนิวนอร์มอล โดยบริษัทตั้งเป้าให้เกิดการใช้งานจริงกับโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 437 โรงเรียน ซึ่งมีจำนวนนักเรียนมากกว่า 2.8 แสนคน” หัวเรือใหญ่ BearCON กล่าว
นอกจากนี้ BearCON ยังได้ดำเนินโครงการระบบดูแลสุขภาพและความปลอดภัย นำร่องใช้จริงกับ โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งเซ็นเซอร์วัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 และ PM10 ก่อนส่งรายงานค่าคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์สู่แอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือของผู้บริหารสถานศึกษา ผู้ปกครอง และนักเรียน การติดตั้งแดชบอร์ดแสดงค่าฝุ่นละออง และเครื่องพ่นละอองน้ำ นาฬิกาติดตามข้อมูลสุขภาพนักเรียนที่จะส่งข้อมูลสุขภาพลงในแอปพลิเคชัน เพื่อให้ผู้ปกครองทราบพัฒนาการสุขภาพของเด็กว่าเป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข และสะดวกกับครูในการกรอกข้อมูลด้านสุขภาพของนักเรียน พร้อมคำนวณภาวะทุพโภชนาการเองโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะติดตั้งกล้องซีซีทีวีสำหรับตรวจวัดอุณภูมิ และเช็คเวลาเข้าออกของนักเรียนอีกด้วย
สถานศึกษาพร้อมรับบรรยากาศการเรียนวิถีใหม่1 ก.ค.นี้
ด้านสถานศึกษาเองก็ไม่รีรอที่จะปรับตัวให้พร้อมรับการเปิดภาคเรียนใหม่ที่กำลังจะมาถึง โดย โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ โรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษในพื้นที่สำนักงานเขตบางเขน สังกัดสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีจำนวนนักเรียนมากกว่า 2,700 ได้เตรียมความพร้อมด้านมาตรการสาธารณสุขต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งเครื่องกดเจลแอลกอฮอล์ โต๊ะคัดกรองสำหรับผู้มาติดต่อ และจุดเช็คอินคิวอาร์โค้ดไทยชนะ จุดล้างมือ การรักษาระยะห่างทางสังคม การแจกหน้ากากอนามัย และเฟซชิลด์แก่นักเรียน การจัดตารางเวลาเรียนใหม่ให้มีความเหมาะสม การเพิ่มจำนวนห้องเรียน เนื่องจากการลดจำนวนนักเรียนต่อห้องลง รวมถึงโครงการระบบดูแลสุขภาพและความปลอดภัยที่ดำเนินการร่วมกับ BearCON
“จิราพร ปทุมเทวาภิบาล” ผู้อำนวยการสถานศึกษาโรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ กล่าวว่า ภาคการศึกษาใหม่ นักเรียนชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 3 ของโรงเรียนจะมาเรียนทุกวัน ส่วนประถมศึกษาปีที่ 4ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 จะต้องสลับวันมาเรียนสัปดาห์ละ 3 วัน ควบคู่กับการเรียนออนไลน์ ซึ่งจุดนี้จะทำให้นักเรียนได้สัมผัสการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับครูผู้สอนที่จะเข้ามามีบทบาทในการผลิตเนื้อหาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และอาจเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในศูนย์สื่อการเรียนรู้ออนไลน์ ซึ่งวิกฤตการณ์ครั้งนี้ถือเป็นโอกาส และส่งผลให้ทุกคนต้องปรับตัวให้ทันยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
รัฐพร้อมสนับสนุนการทำงานร่วมทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนประเทศ
“โควิด-19 บีบให้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นหากโลกเปิด เราไม่ปรับและไม่ให้โอกาส เราจะไม่สามารถก้าวตามประเทศอื่นได้ทัน ซึ่งการดำเนินการนั้น รัฐบาลจะไม่เป็นผู้คิดเอง ทำเอง หรือทำให้ แต่จะเป็นเพียงผู้สนับสนุน ส่งเสริม และผลักดันให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันกับทุกฝ่าย เพื่อรองรับโลกในยุคนิวนอร์มอล พร้อมขับเคลื่อนประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในที่สุด” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า ให้ความเห็นทิ้งท้าย