ปัญหาการจัดการ “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” (e-Waste) ถูกให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ดูเหมือนว่าการปฏิบัติจริงจะยังไม่เป็นผล และทำให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมตามมา รวมถึงการขุดเจาะเหมืองแร่มากเกินจำเป็น ทั้งที่มีแร่จากขยะรอการนำไปใช้ใหม่มากมายขนาดนี้
มาดูสถิติเชิงตัวเลข 8 ข้อที่เกี่ยวข้องกับ “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” กัน
- 2019 คือปีที่ขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยมีปริมาณ 53.6 ล้านตัน เทียบเท่ากับน้ำหนักประชากรวัยผู้ใหญ่ทั้งทวีปยุโรปรวมกัน
- ปริมาณดังกล่าวเพิ่มขึ้น 21% จากปี 2014
- เพียง 17% ของปริมาณดังกล่าวที่ถูกนำไปรีไซเคิล ที่เหลือไปกองอยู่ในกองขยะหรือไม่มีการจัดเก็บเป็นระบบ
- ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จะเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปี 2014 ภายในปี 2030
- แร่ที่ติดอยู่กับขยะอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ทองคำ ทองแดง เหล็ก ฯลฯ คิดเป็นมูลค่ารวมกัน 5.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งที่มีแร่ที่ขุดมาแล้วมากขนาดนี้ มนุษยชาติก็ยังขุดเหมืองเพิ่มกันอยู่
- ขยะอิเล็กทรอนิกส์กลุ่มใหญ่ที่สุดคือ 32% เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก เช่น กล้องวิดีโอ ของเล่น เครื่องปิ้งขนมปัง ที่โกนหนวดไฟฟ้า รองลงมา 24% เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ เช่น เครื่องครัว เครื่องถ่ายเอกสาร รวมถึงแผ่นโซลาร์เซลล์
- เอเชียคือทวีปที่สร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุด แต่ถ้าคิดปริมาณต่อประชากร 1 คน ชาวยุโรปผลิต e-Waste มากที่สุด และมากเป็น 3 เท่าของคนเอเชีย
- 71% ของประชากรโลกอยู่ในประเทศที่มีนโยบายเกี่ยวกับการควบคุมขยะอิเล็กทรอนิกส์ แต่ปริมาณการรีไซเคิลกลับเป็นตรงกันข้าม
ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นภัยกับสุขภาพมนุษย์
Global e-Waste Monitor 2020 รายงานการคาดการณ์ที่ว่าปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จะเพิ่มขึ้นเท่าตัวภายในปี 2030 และจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ ทั้งอันตรายโดยตรงต่อบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับขยะ และโดยอ้อมจากผลที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม
“เราอยู่ในจุดเริ่มต้นของเทรนด์การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มสูงขึ้นไปทั่วทุกที่” Ruediger Kuehr หนึ่งในผู้เขียนรายงานดังกล่าว และผู้อำนวยการโครงการ Sustainable Cycles จาก United Nations University กล่าว “มันเริ่มมาจากของเล่น ถ้าคุณมองไปรอบๆ ในวันคริสต์มาส ทุกอย่างจะมากับแบตเตอรี่และปลั๊กไฟ แล้วก็ลามไปถึงโทรศัพท์มือถือ ทีวี และคอมพิวเตอร์”
รายงานยังพบว่า สารปรอทกว่า 50 ตันติดอยู่ในขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่มีการติดตามอย่างเป็นระบบ และส่วนใหญ่จะถูกปล่อยกลับคืนสู่สิ่งแวดล้อม โดยสารปรอทนั้นเป็นสารนูโรท็อกซินซึ่งจะส่งผลต่อสมอง และสร้างความเสียหายต่อการพัฒนาการจดจำของเด็กๆ
มีกฎหมายแต่ไม่ได้ใช้ปฏิบัติ
ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นยังตามมาด้วยการละเลยการจัดการ แม้ว่า 71% ของประชากรโลกจะอยู่ภายใต้กฎหมายหรือนโยบายการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ แต่ e-Waste ก็ยังมีการรีไซเคิลแค่ 17% ดังที่กล่าวไป และกระบวนการจัดการก็ไม่ได้ปลอดภัยเลย
โดยรายงานติดตามพบว่า บริษัทรับรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์หลายรายจะส่งขยะประเภทหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ไปรีไซเคิลที่เกาะฮ่องกง แต่คนงานที่เป็นผู้แยกชิ้นส่วนขยะกลับต้องทำงานโดยไม่มีเครื่องป้องกันใดๆ และไม่มีการฝึกอบรม
e-Waste จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ผู้เชี่ยวชาญยังคาดการณ์ว่า ดีมานด์ต่อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นำไปสู่ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่ชนชั้นกลางเติบโตและมีกำลังซื้อสูงขึ้น ประชากรที่เคยเข้าไม่ถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในอดีต ปัจจุบันสามารถซื้อได้แล้ว
“เป็นความท้าทายที่ใหญ่หลวงมากสำหรับมนุษยชาติ เพราะความจริงที่ว่า ชนชั้นกลางทั่วโลกกำลังเติบโต และคนกลุ่มนี้ต้องการปิดช่องว่างความแตกต่างทางดิจิทัลเป็นอย่างยิ่ง” Kuehr กล่าวกับ The Verge
ด้าน Scott Cassel ผู้ก่อตั้งองค์กรไม่แสวงหากำไร Product Stewardship มองว่าการเพิ่มขึ้นของ e-Waste จะยิ่งซับซ้อนและสร้างมลพิษสูงขึ้น “บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ทำงานได้ดีมากในการออกแบบสินค้าที่มีประสิทธิภาพและสร้างความพึงพอใจ แต่ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนเร็วย่อมหมายถึงการดีไซน์ที่ต้องเปลี่ยนใหม่ตลอดเพื่อไม่ให้ล้าสมัย ดังนั้นสินค้าที่ใหม่ที่สุด เจ๋งที่สุดในวันนี้ จะกลายเป็นขยะของวันพรุ่งนี้” Cassel กล่าว
Cassel มองว่า รัฐต่างๆ ควรจะบังคับใช้นโยบายขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้เข้มแข็งกว่านี้ และควรจะเกิดขึ้นทั่วโลก เพื่อไม่ให้มี e-Waste ไปกองอยู่ที่ใดที่หนึ่ง
“ไม่ใช่แค่มหาสมุทรของเราที่กำลังถูกถมด้วยพลาสติก แผ่นดินของเราก็กำลังถูกถมด้วยขยะอิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน” Cassel กล่าว