ผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 2 ของปี พ.ศ. 2563 ของแอลจี อีเลค ทรอนิคส์ อิงค์ (แอลจี) ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลก โดยรายได้รวมมูลค่า 1.05 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 3.26 แสนล้านบาท) ซึ่งลดลงร้อยละ 17.9 จากช่วงเวลาเดียวกันในปี พ.ศ. 2562 ในขณะที่ผลกำไรจากการดำเนินงานมีมูลค่า 405.65 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 24.1 เมื่อเทียบกับผลกำไรจากการดำเนินงานประจำไตรมาสที่ 2 ของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงเข้มแข็งและสามารถจัดการซัพพลายเชนและโครงสร้างต้นทุนให้สามารถก้าวผ่านวิกฤตด้านเศรษฐกิจและสาธารณสุขระดับโลกได้สำเร็จ
กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและเครื่องปรับอากาศ รายงานผลประกอบการอยู่ที่ 4.22 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 1.31 แสนล้านบาท) ณ ไตรมาสที่ 2 ลดลงร้อยละ 15.5 จากไตรมาสที่ 2 ของปี พ.ศ.2562 เนื่องด้วยผลกระทบจากความต้องการที่ลดลงทั่วโลกระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาด รายได้จากการดำเนินงานมีมูลค่า 514.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 1.59 หมื่นล้านบาท) ลดลงร้อยละ 12.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แม้ว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานที่ร้อยละ 12.2 มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของไตรมาสที่ 2 ของกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและเครื่องปรับอากาศ กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและเครื่องปรับอากาศมีโอกาสเติบโตมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากความใส่ใจในการใช้ชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น
กลุ่มผลิตภัณฑ์โฮมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ได้รับผลกระทบด้านรายได้และผลกำไรของไตรมาสที่ 2 จากมาตรการล็อคดาวน์ ซึ่งรวมถึงการปิดทำการของร้านค้าปลีกต่างๆ ส่งผลให้มียอดขายมูลค่า 1.85 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 5.74 หมื่นล้านบาท) ลดลงร้อยละ 24.4 จากไตรมาสที่ 2 ของปี พ.ศ.2562 และรายได้จากการดำเนินงานมูลค่า 92.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 2.86 พันล้านบาท) ลดลงร้อยละ 25.9 และแม้ว่ากลุ่มนี้จะเดินหน้าลดต้นทุนด้านวัสดุในการผลิตต่างๆ และควบคุมการลงทุนด้านการตลาดอย่างแข็งขัน แต่ยังคงเพิ่มสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ทีวีระดับพรีเมียม เพิ่มยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์ และปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงานให้เหมาะสมที่สุด เพื่อสร้างผลกำไรโดยรวมให้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา
กลุ่มผลิตภัณฑ์โทรศัพท์มือถือ รายงานยอดขายประจำไตรมาส 2 ที่ 1.07 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 3.32 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.1 จากไตรมาสที่ 1 ส่วนหนึ่งของการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญนี้เกิดจากการเริ่มเปิดตลาดหลังจากการคลี่คลายมาตรการล็อคดาวน์ ผลการดำเนินงานขาดทุนมูลค่า 169.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 5.24 พันล้านบาท) ลดลงเมื่อเทียบกับทั้งไตรมาสที่ 2 ของปี พ.ศ.2562 และไตรมาสที่ 1 ของปี พ.ศ.2563 ซึ่งเป็นผลจากประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านการตลาดที่เพิ่มขึ้นและการควบคุมต้นทุนได้ดียิ่งขึ้น การเปิดตัวระดับโลกของ LG VELVET ในไตรมาสที่ 3 รวมถึงการเปิดตัวผลิตภัณฑ์รุ่นที่มีราคาดึงดูดซึ่งมีการคาดการณ์ไว้ว่าจะช่วยสร้างแรงผลักดันให้กับผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟนของแอลจี ช่วยสร้างการเติบโตทั้งในเชิงยอดขายและผลกำไร
กลุ่มผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์ รายงานรายได้ประจำไตรมาสที่ 746.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 2.32 หมื่นล้านบาท) ลดลงร้อยละ 40 จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานขาดทุนที่ 165.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 5.14 พันล้านบาท) ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการปิดโรงงานของบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ทั่วโลกเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาด คาดการณ์ว่าความต้องการต่อผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์จะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น ในขณะที่บริษัทผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่กลับมาดำเนินงานอีกครั้ง
กลุ่มธุรกิจลูกค้าองค์กร รายงานยอดขายที่ 1.07 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 3.32 หมื่นล้านบาท) ณ ไตรมาสที่ 2 ลดลงร้อยละ 12.7 จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในขณะที่รายได้จากการดำเนินงานลดลงที่ 80.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 2.5 พันล้านบาท) เพื่อจัดการกับความท้าทายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลุ่มธุรกิจลูกค้าองค์กรให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสเชิงธุรกิจตามเทรนด์ที่กำลังเติบโตอย่าง “untact” ซึ่งมุ่งเน้นลดการพบปะระหว่างลูกค้าและพนักงาน ซึ่งกลุ่มนี้มีความมุ่งมั่นในการเพิ่มยอดขายของผลิตภัณฑ์จอเชิงพาณิชย์ระดับพรีเมียม ด้วยการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านแผงโซล่าเซลล์และเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดธุรกิจโทรคมนาคมและการเรียนทางไกล
ข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของไตรมาสที่ 4 ปี 2562
รายได้ที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบด้านบัญชีประจำไตรมาสของ แอลจี อีเลคทรอนิคส์ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ IFRS (International Financial Reporting Standards) สำหรับช่วงสามเดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ทั้งนี้ อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐจะเท่ากับอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยของสามเดือนในไตรมาสเดียวกัน โดยอัตราแลกเปลี่ยน ณ ไตรมาสที่ 2 ปี 2563 อยู่ที่ 31 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ (ตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของธนาคารแห่งประเทศไทย)