โคเวิร์กกิ้ง สเปซต่างชูจุดขายเป็นโมเดลธุรกิจที่ยืดหยุ่นกว่าสำหรับลูกค้าองค์กร เพราะไม่ต้องเซ็นสัญญายาวหลายปีและปรับเพิ่มหรือลดพื้นที่ได้ง่าย จุดขายนี้ WeWork เชื่อว่าจะยิ่งเด่นชัดมากขึ้นหลังเกิดวิกฤตโรคระบาด สะท้อนจากตัวเลขช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ลูกค้าองค์กรยังเติบโตได้เกือบ 10%
ธุรกิจอื่นอาจหยุดชะงักแต่ “โคเวิร์กกิ้ง สเปซ” เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ยังเติบโตได้ท่ามกลางโรคระบาด “เรย์ แทน” หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเกาหลี WeWork เปิดเผยว่า ในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมา (มี.ค.-ก.ค. 63) ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤต COVID-19 จำนวนลูกค้าองค์กรเช่าสำนักงานของบริษัทเติบโตได้เกือบ 10% และเฉพาะเดือน ก.ค. เดือนเดียวมีการเติบโตสูงกว่า 10% ส่วนสมาชิกรายย่อยมีการเติบโต 2 เท่าในรอบ 8 เดือน (ธ.ค. 62 – ก.ค. 63)
สาเหตุที่มีการเช่าเพิ่มจากลูกค้าองค์กรมาจากหลายเหตุผล ตัวอย่างเช่น องค์กรใหญ่ที่มีจำนวนพนักงานมากกว่า 1,000 คน เมื่อจะทยอยให้พนักงานกลับเข้าทำงาน นโยบายบริษัทจะมีการจัดพื้นที่ให้เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร ดังนั้น พื้นที่ในสำนักงานดั้งเดิมที่มีจึงไม่พอ บางบริษัทจึงเช่าพื้นที่โคเวิร์กกิ้ง สเปซเพื่อขยายพื้นที่ทำงานให้คนในองค์กร
ยิ่งไม่แน่นอนยิ่งเข้าทาง “โคเวิร์กกิ้ง สเปซ”
แม้ฟังดูเหมือนเป็นการเติบโตชั่วคราวในช่วงที่เกิดโรคระบาด แต่เรย์ไม่คิดเช่นนั้น เพราะตั้งแต่ก่อนเกิดโรคระบาด โคเวิร์กกิ้ง สเปซก็เป็นโมเดลธุรกิจที่ตอบโจทย์เรื่อง “ความไม่แน่นอน” อยู่แล้ว เพราะสามารถเซ็นสัญญาเช่าระยะสั้นได้เริ่มต้นที่ 1 เดือน และปรับลดหรือเพิ่มจำนวนโต๊ะพนักงานได้ ทำให้ยืดหยุ่นกว่า
โมเดลนี้เหมาะกับโลกยุคใหม่ที่การทำธุรกิจเน้นความเร็ว บริษัทใหญ่แห่งหนึ่งอาจจะสร้างแผนกขึ้นมาทดลองทำธุรกิจใหม่ที่ยังไม่รู้ว่าจะ “ไปรอด” หรือไม่ การเปิดพื้นที่เช่าในโคเวิร์กกิ้ง สเปซไปก่อนจึงเหมาะสมกว่าพื้นที่สำนักงานดั้งเดิมที่บังคับเซ็นสัญญาเช่ายาวหลายปี หรือสำหรับ SMEs สตาร์ทอัพ ที่การทำธุรกิจเพิ่งเริ่มต้น การเช่าระยะสั้นแบบนี้ก็ยืดหยุ่นกว่าเช่นกัน
“โรคระบาดคือการให้คำนิยามใหม่ในสภาพแวดล้อมการทำงาน ต้องการความยืดหยุ่นและเร็วมากขึ้น ดังนั้นเชื่อว่าเทรนด์นี้จะกลายเป็นเรื่องถาวร” เรย์กล่าว
WeWork ยังทำงานวิจัยร่วมกับ IDC พบว่า ปัจจุบันมีองค์กรที่ใช้ที่ทำงานร่วมกัน (Shared Space) แล้ว 17% และองค์กรที่ตอบแบบสอบถาม 70% เห็นว่าตนเองมีความต้องการใช้โคเวิร์กกิ้ง สเปซในอนาคต สะท้อนดีมานด์ที่รออยู่ในตลาด
ซัพพลายเพียงพอลุยตลาดไทย ต่อจากนี้ “เน้นทำกำไร”
ด้านแผนธุรกิจของ WeWork เอง ปัจจุบันบริษัทมีสาขาแล้ว 4 สาขา ในไทยนับตั้งแต่บุกตลาดเมื่อปี 2561 ได้แก่ สาขาเอเชีย เซ็นเตอร์ สาทร, สาขา T-One ทองหล่อ, สาขาสปริง ทาวเวอร์ พญาไท และ สาขา The PARQ พระราม 4 (สาขาทรู ดิจิทัล พาร์ค ทางบริษัทไม่ได้ต่อสัญญา) โดยเรย์มองว่าต่อจากนี้ “จะมุ่งเน้นกับพื้นที่ที่เปิดตัวแล้วและทำให้เกิดกำไร”
ทิศทางของบริษัทในไทยสอดคล้องกับแผน 5 ปีของทั้งเครือที่เกิดวิกฤตองค์กรเมื่อปีที่ผ่านมา นำไปสู่การออกแผนการสร้างกำไรและกระแสเงินสดให้ได้ภายในปี 2567 โดย Bloomberg รายงานว่า บริษัทมีการปรับกลยุทธ์ใหม่หมด นอกจาก 12 โลเคชันที่เป็นกุญแจสำคัญของบริษัท เช่น นิวยอร์ก ลอนดอน บริษัทจะเจรจาเช่าพื้นที่จากแลนด์ลอร์ดเป็นสัญญาระยะสั้นมากกว่าการลงทุนระยะยาว
ที่ผ่านมา WeWork ยังมีการลดต้นทุน ปิดสาขา เลย์ออฟพนักงานมาเป็นระยะๆ รวมแล้วหลายพันคนที่ที่มีการปลดออกตั้งแต่ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน
สำหรับผลประกอบการรวมทั้งองค์กร เรย์กล่าวว่า WeWork ทั่วโลกสร้างรายได้แตะ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐไปแล้วเมื่อสิ้นไตรมาส 1/63 เติบโต 45% เทียบกับปีก่อน ขณะที่ก่อนหน้านี้ “มาร์เซโล คลาอูเร่” ประธานกรรมการบริหาร WeWork ให้สัมภาษณ์สื่อไว้ว่า บริษัทน่าจะได้เห็นกำไรจากการดำเนินงานภายในช่วงสิ้นปี 2564
Knowhow – ความน่าเชื่อถือ – แพ็กเกจราคาโปร่งใส
ดีมานด์ต่อโคเวิร์กกิ้ง สเปซในไทยดูจะเป็นไปในทิศทางบวกจริงๆ อ้างอิงจาก “รุ่งรัตน์ วีระภาคย์การุณ” หัวหน้าแผนกพื้นที่สำนักงาน CBRE ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า โคเวิร์กกิ้ง สเปซเป็นหนึ่งในตัวเลือกสำหรับทำ satellite offices สำรองในภาวะวิกฤตที่ผ่านมา และซัพพลายโคเวิร์กกิ้ง สเปซก็ยังมีไม่มาก คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 5% ของพื้นที่สำนักงานทั้งหมดในกรุงเทพฯ ทำให้มีโอกาสเติบโตต่อ
อย่างไรก็ตาม ประเด็นราคาก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน เพราะค่าเช่าพื้นที่สำนักงานของกรุงเทพฯ จัดว่าค่อนข้างต่ำถ้าเทียบกับเมืองอื่นๆ ของโลก ทำให้ราคาเช่าโคเวิร์กกิ้ง สเปซอาจจะมีความต่างกับพื้นที่สำนักงานดั้งเดิมไม่มากเท่าเมืองอื่น จึงดึงดูดใจได้ไม่มากเท่า แบรนด์โคเวิร์กกิ้ง สเปซต่างๆ นอกจากจะต้องแข่งกันด้านราคา ยังต้องแข่งขันด้านบริการ โดยเฉพาะการเป็นตัวกลางให้ธุรกิจมา collab พบปะกัน ซึ่งเป็นหัวใจหลักของธุรกิจประเภทนี้
ปัจจุบันในประเทศไทยมีทั้งแบรนด์นอก แบรนด์ไทย ทั้งเจ้าเล็กใหญ่เข้ามาชิงตลาดโคเวิร์กกิ้ง สเปซ จากตลาดที่เริ่มจะเบียดแข่งกันมาก เรย์มองว่า WeWork มีจุดขาย 3 จุดที่จะเหนือกว่าคู่แข่ง
เรื่องแรกคือ Knowhow จากประสบการณ์ 10 ปี เพราะบริษัทเป็นเจ้าแรกในตลาดที่ลงทุนพัฒนาจน “เปลี่ยนวิธีการทำงานของผู้คน” ทำให้บริษัทมีความรู้ความเข้าใจมากกว่า เช่น เข้าใจงานดีไซน์ที่เหมาะกับโคเวิร์กกิ้ง สเปซ ระเบียบวิธีบริหารจัดการพื้นที่ นั่นทำให้ช่วง COVID-19 บริษัทปรับได้เร็วในการบริหารพื้นที่สำนักงานให้ยังน่าทำงานเหมือนเดิม แต่เพิ่มความปลอดภัยทางสุขภาพขึ้น
สองคือ ความน่าเชื่อถือ ด้วยระยะเวลาและการขยายไปทั่วโลก ทำให้บริษัทได้รับความไว้วางใจจากบริษัท 2 ใน 3 ของลิสต์ Fortune 50 เข้ามาเช่าโต๊ะสำนักงานของ WeWork เป็นฐานชื่อเสียงที่ดี รวมถึงมีการทำงานร่วมกับโบรกเกอร์มานานกว่า
สามคือ แพ็กเกจราคาโปร่งใส ในยุคที่บริษัทต่างๆ ยิ่งลงรายละเอียดการใช้จ่ายเช่นนี้ WeWork จะให้แพ็กเกจราคาที่โปร่งใส ไม่มีค่าใช้จ่ายแอบแฝง ไม่มี “เซอร์ไพรส์” ในใบเรียกเก็บเงินตอนสิ้นเดือน ซึ่งทำให้ลูกค้าสบายใจกว่าในการเช่าโต๊ะกับบริษัท
ต้องติดตามต่อว่าจุดขายของ WeWork จะทำให้บริษัทแข็งแกร่งมากแค่ไหนในระยะยาว ท่ามกลางสารพัดคู่แข่งที่รุมตลาด “เนื้อหอม” อย่างโคเวิร์กกิ้ง สเปซอยู่