เพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมชนิด HER2-positive จากการอนุมัติการใช้ยามุ่งเป้าในผู้ป่วยสิทธิข้าราชการ

ข่าวดี เพื่อโอกาสในการรอดชีวิตที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมชนิด Her2-positive ในระยะเริ่มต้นและระยะแพร่กระจายหลังกรมบัญชีกลางประกาศอนุมัติเพิ่มรายการยามุ่งเป้าในการรักษาโรคมะเร็งเต้านมตัวใหม่เพื่อใช้ร่วมกับตัวเก่าเข้าในระบบการเบิกจ่ายยาของข้าราชการ (OCPA) เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 (http://dmsic.moph.go.th/index/detail/8221) โดยเริ่มมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป

วิธีการรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบันมีหลากหลายวิธี ขึ้นกับประเภทและระยะของมะเร็งที่พบ โดยจากสถิติพบว่าประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม มักจะเป็นแบบมีโปรตีน HER2-positive ส่งผลให้มีความรุนแรงของโรคมากขึ้น[1]ทั้งนี้จึงมีการพัฒนาตัวยามุ่งเป้าตัวใหม่ให้เข้ามามีส่วนช่วยในการรักษา โดยพบว่าการรักษาด้วยตัวยามุ่งเป้าตัวใหม่ควบคู่กับตัวยามุ่งเป้าตัวเดิมที่มีอยู่ประกอบกับการทำเคมีบำบัดจะช่วยเพิ่มอัตราการตอบสนองต่อการรักษาที่ดีกว่าการใช้ตัวยามุ่งเป้าตัวเดิมที่มีอยู่เพียงอย่างเดียวซึ่งนำไปสู่ผลดีในระยะยาวและเพิ่มอัตราการรอดชีวิต โดยตัวยามุ่งเป้าตัวใหม่ถือเป็นตัวยารักษามะเร็งแบบมุ่งเป้าและสามารถใช้ได้กับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งในระยะแรกก่อนผ่าตัด ไปจนถึงระยะแพร่กระจาย เมื่อใช้การรักษาควบคู่กันทั้งสามขั้นตอน จะส่งผลให้ลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ลดขนาดของก้อนมะเร็ง รวมไปถึงลดโอกาสของการกลับมาของมะเร็งหลังผ่าตัด ไปจนถึงเพิ่มโอกาสการหายขาดของโรคมะเร็งเต้านมได้ในบางรายด้วย

นพ. ไนยรัฐ ประสงค์สุข ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า “การรักษาโรคมะเร็งในอดีตคือการให้ยาเคมีบำบัด แต่วิธีการนี้เป็นการฆ่าเซลล์อย่างไม่จำเพาะเจาะจง ทำให้ส่งผลกระทบต่อเซลล์ปกติทั่วไปและการทำงานของอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงอย่าง คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง กดภูมิคุ้มกันของร่างกาย แต่ในปัจจุบันมีการพัฒนาแนวทางการรักษา โดยการใช้ตัวยามะเร็งแบบมุ่งเป้าร่วมกันสองตัวร่วมกับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ซึ่งตัวยามุ่งเป้าจะมีความจำเพาะเจาะจงในการกำจัดเซลล์มะเร็ง โดยไม่ส่งผลต่อเซลล์ปกติในร่างกาย ทำให้เกิดผลข้างเคียงน้อย และมีผลการพิสูจน์ทางการแพทย์แล้วว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะที่สี่ที่ได้รับการทำเคมีบำบัดควบคู่กับตัวยามุ่งเป้าทั้งสองตัว สามารถยืดระยะเวลาที่มีชีวิตรอดโดยเฉลี่ยได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ”[2]

กรมบัญชีกลางได้พิจารณาเพิ่มตัวยาชนิดนี้ในระบบ OCPA สำหรับเบิกจ่ายตรงในผู้ป่วยโรคมะเร็งสิทธิข้าราชการ มีผลให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมสามารถเข้าถึงยาทั้งสองชนิดได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย“มะเร็งเต้านมถือเป็นมะเร็งที่พบได้มากที่สุดและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ1 ในผู้หญิงไทยซึ่งการรักษาแต่ละครั้งนั้นมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงกรมบัญชีกลางเห็นความสำคัญและใส่ใจคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยตัวยาทั้งสองชนิดนี้จะเข้ามามีส่วนช่วยให้ก้อนมะเร็งยุบตัวได้ดีขึ้น ซึ่งทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมในระยะที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ในตอนแรก มีโอกาสในการผ่าตัดเอาออกได้หมดและหายขาดจากโรคได้สูงขึ้นตามไปด้วย[3]” นพ. ไนยรัฐ กล่าวเสริม

นางรัตนาภรณ์ โพธิประสาท ผู้ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมระยะที่ 4 ได้เล่าถึงประสบการณ์ต่อสู้กับโรคหลังตรวจพบในปี 2558 และสิทธิข้าราชการที่ตนได้รับ ซึ่งมีส่วนช่วยในการแบ่งเบาภาระในส่วนค่าใช้จ่ายให้กับตนเองและครอบครัว

“พอได้ทราบข่าวว่ากรมบัญชีกลางอนุมัติเพิ่มรายการยามุ่งเป้าตัวใหม่เพื่อใช้ร่วมกับยามุ่งเป้าตัวเดิม ให้สามารถเบิกจ่ายตรงได้ในสิทธิข้าราชการสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม เราจึงรู้สึกดีใจแทนผู้ป่วยสิทธิข้าราชการทุกคน เพราะค่าใช้จ่ายของยาค่อนข้างสูง จึงอยากขอขอบคุณผู้มีส่วนร่วมในการผลักดันให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น” นางรัตนาภรณ์ กล่าว “ตอนแรกคิดว่าขั้นตอนการรักษามะเร็งเต้านมจะทำให้มีอาการข้างเคียง ร่างกายป่วยทรุดโทรม แต่พอได้รับการรักษาด้วยตัวยามุ่งเป้าปรากฏว่าอาการดีขึ้นมากตามลำดับและตนโชคดีที่ไม่มีผลข้างเคียงจากการรักษาทำให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติในที่สุด”

ในระยะแรกมะเร็งเต้านมมักจะไม่แสดงอาการ ทำให้ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์เมื่ออาการของโรคอยู่ในระยะแพร่กระจายแล้ว ซึ่งการป้องกันที่ดีที่สุด คือการคัดกรองเบื้องต้นด้วยตนเองอยู่สม่ำเสมอ โดยการตรวจเต้านมด้วยตัวเอง หากพบเจอความผิดปกติควรมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับการตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรม ทั้งนี้สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้มีการแนะนำว่าผู้หญิงที่มีปัจจัยเสี่ยงหรือเริ่มเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนตั้งแต่อายุ 40-45 ปีขึ้นไป ควรมีการคัดกรองและตรวจหามะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมเป็นประจำทุกปี เพื่อช่วยลดอัตราการพบมะเร็งเต้านมในระยะแพร่กระจาย และยังเพิ่มอัตราการรอดชีวิตหรือหายขาดจากโรคมะเร็งเต้านมได้

[1]http://www.nci.go.th/th/Knowledge/downloads/nocancer.pdf

[2]Swain SM, et al. N Engl J Med 2015;372:724–734

[3]Gianni L, et al.Lancet Oncol 2016; 17:791–800