เมื่อเร็ว ๆ นี้ กลุ่มธุรกิจในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้แก่ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร บมจ.ซีพีออลล์ และบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะสมาชิกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) ได้เข้าร่วมการประกาศเจตนารมณ์ขององค์กรสมาชิก GCNT โดยให้คำมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และจะลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในงาน “GCNT FORUM 2020: Thailand Business Leadership for SDGs” โดยมีนายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืน บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร นายสฤษดิ์ จิณสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และดร.หลุยส์ คริสธานินทร์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ พร้อมกับผู้นำภาคธุรกิจชั้นนำของไทยที่ร่วมแสดงพลังในการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนเพื่อฟื้นประเทศ
สำหรับการเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวที่สำคัญในการประกาศความมุ่งมั่นของเครือฯ ที่จะทำความยั่งยืนให้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยเฉพาะในเรื่องของ Zero Waste และ Zero Carbon ภายในปี 2030 โดยที่ผ่านมาเครือฯ ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นในการเป็นองค์กรยั่งยืน ซึ่งการจะทำให้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้จะต้องผนึกกำลังจากทั้งผู้บริหารและพนักงาน รวมไปถึงการสร้างเศรษฐกิจยั่งยืนครอบคลุมการดำเนินงานใน 4 ด้าน ได้แก่ สิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านทุจริต ตลอดจนดำเนินกิจกรรมที่ช่วยผลักดันเป้าหมายของสังคมในวงกว้าง ทั้งนี้ ที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจในเครือฯ ดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนควบคู่กับเรื่องของธรรมาภิบาล
นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจของเครือซีพีมาตลอด 99 ปี มีการประเมินผลกระทบทั้งด้านบวกและลบเพื่อความยั่งยืนเสมอ ซึงทุกการลงทุนของเครือฯคือการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ส่วนโครงการที่สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือ SDGsของเครือฯ ตัวอย่าง อาทิเช่น โครงการแรกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งเป็นโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ที่จะช่วยยกระดับชีวิตของประชาชน ลดการใช้พลังงานและมลภาวะในภาคขนส่ง ลดความเสี่ยงด้านอุบัติเหตุทางถนน และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ สนับสนุนเป้าหมาย SDG ที่ 9 ด้านอุตสาหกรรม นวัตกรรม และสาธารณูปโภค โครงการที่ 2 คือการพัฒนาพื้นที่มักกะสัน ให้เป็นส่วนหนึ่งของ Smart City สนับสนุนเป้าหมายที่ 11 ด้านเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน และโครงการที่ 3 คือ การพัฒนาศูนย์การแพทย์ Medical Center ที่จะให้บริการทางการแพทย์ และเป็นศูนย์วิจัยเทคโนโลยีทางสุขภาพ รวมสามโครงการนี้ มียอดเงินลงทุนประมาณ 380,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ไม่รวมถึงโครงการอื่น ๆ ในเครือฯ
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า เป้าหมายด้านความยั่งยืนเป็นแผนระยะยาวของซีพีเอฟ โดยให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องของ “คน” และ “เทคโนโลยี” ซึ่งเป็นปัจจัยความสำเร็จในทุก ๆ ด้าน การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจะทำให้คนได้พัฒนาทักษะ และเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น ขณะที่การพัฒนาบุคลากรให้เป็นผู้นำรุ่นใหม่ จะต้องเรียนรู้ว่าไม่ใช่เพียงสร้างรายได้จากการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน แต่ต้องมีความเข้าใจและคิดสร้างสรรค์ให้องค์กรของเรามีคุณค่าในสังคมอย่างยั่งยืนด้วย
ด้านนายสฤษดิ์ จิณสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า SDGs เป็นเป้าหมายที่ชัดเจนในระดับโลก ที่อยากให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันขับเคลื่อนทั้งในระดับประเทศ ภาครัฐ เอกชน และประชาชนทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน เพื่อนำมาใช้เป็นกรอบแนวคิดสำหรับการวางทิศทางเรื่องความยั่งยืนในประเทศไทยให้ทุกหน่วยงานมีเป้าหมายร่วมกัน โดยเฉพาะหลังวิกฤตโควิด-19 ผ่านพ้นไป สิ่งที่ต้องทำคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการปรับตัวด้านดิจิทัลเพื่อศักยภาพที่ยั่งยืนและมั่นคงในธุรกิจต่อไป
ขณะที่ ดร.หลุยส์ คริสธานินทร์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ กล่าวว่า ปัจจุบันองค์กรธุรกิจชั้นนำไม่ได้กำหนดกลยุทธ์แค่ในเชิงธุรกิจ แต่จะกำหนดเป้าหมายเรื่องความยั่งยืนควบคู่ไปด้วย ซึ่งเป้าหมายธุรกิจของซีพีออลล์คือเรื่องของการขยายสาขาและตอบโจทย์ลูกค้า ขณะเดียวกันต้องทำให้เกิดความสมดุลและตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน ทั้งเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล