บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายขนมขบเคี้ยวในเครือเป๊ปซี่โค อาทิ มันฝรั่งทอดกรอบเลย์ และขนมธัญพืชอบกรอบซันไบท์ส ยึดหลักนโยบายในการสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจของบริษัทเป๊ปซี่โคทั่วโลก จึงตระหนักถึงบทบาทสำคัญในการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพสูงสุด การให้ความรู้กับเกษตรกรในการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการปลูกมันฝรั่งด้วยระบบน้ำหยด ซึ่งลดการใช้น้ำลงได้ถึง 40% ไม่เพียงเท่านั้น บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้พนักงานในทุกระดับผ่านกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ รวมไปถึงกิจกรรม ‘PepsiCo Grow More สร้างป่า รักษ์น้ำ’ ในครั้งนี้ ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของป่าต้นน้ำที่เป็นแหล่งกำเนิดของ ความอุดมสมบูรณ์ หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในพื้นที่
นายอานนท์ สุนทรนนท์ ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมการเกษตร บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า “น้ำ” คือปัจจัยสำคัญทั้งต่อชีวิตและการดำเนินธุรกิจ เป๊ปซี่โคจึงได้ส่งเสริมแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในกระบวนการผลิตและการเกษตรให้แก่พี่น้องเกษตรกรทุกคน เรามุ่งปรับปรุงประสิทธิภาพและพัฒนาระบบเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำซึ่งพันธกิจนี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “ผลงานดี สำนึกดี” หรือ “Winning with Purpose” ของเป๊ปซี่โค โกลบอล ที่มุ่งเน้นด้านการปลูกฝังจิตสำนึกให้แก่พนักงานของเป๊ปซี่โคตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่ามากที่สุด
เป๊ปซี่โคได้เริ่มโครงการ CSR ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานลำพูนและพื้นที่ส่งเสริมการเพาะปลูกมันฝรั่งมาตั้งแต่ปี 2556 โดยกิจกรรมมีความหลากหลายและปรับให้เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ อาทิ การสร้างฝาย การทำแผนการบริหารจัดการน้ำร่วมกับเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งและชุมชน และมีการประมวลผลซึ่งพบว่าหลังจากที่สร้างฝายเสร็จแล้วกลับเกิดภัยแล้งทำให้ไม่มีน้ำให้เก็บกักไว้ใช้ เราจึงตระหนักได้ถึงความสำคัญของป่าต้นน้ำที่เปรียบเสมือนฟองน้ำที่กักเก็บความชุ่มชื้น เป๊ปซี่โคจึงได้ริเริ่มกิจกรรม “PepsiCo Grow More สร้างป่า รักษ์น้ำ” ร่วมกับหน่วยงานในจังหวัดที่เกี่ยวข้อง เกษตรกรและชุมชนเพื่อความยั่งยืนในระยะยาวของจังหวัดลำพูน นายอานนท์ กล่าวเสริม
นางสาววรรณภร วัฒนาเกษมสัตย์ ผู้จัดการอาวุโสองค์กรสัมพันธ์ บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า กิจกรรม “PepsiCo Grow More สร้างป่า รักษ์น้ำ” ปลูกป่าต้นน้ำในครั้งนี้ เป็นโครงการในระยะที่ 1 ซึ่งวางแผนการดำเนินงานไว้ประมาณ 3-5 ปี โดยได้ผนึกกำลังกับทั้งทางภาครัฐฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 กลุ่มเกษตรกรชุมชนในพื้นที่ และที่สำคัญที่สุดคือนักวิชาการจากชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ซึ่งเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ที่มีการเติมสปอร์เห็ดเผาะให้กับกล้าไม้เพื่อสร้างความสัมพันธ์ของพืชและจุลินทรีย์ในกลุ่มเห็ดราตามธรรมชาติ เห็ดเผาะจะเข้าไปอิงอาศัยในระบบรากของต้นกล้าของพืชตระกูลเต็ง รัง และยางนาได้ง่ายกว่าต้นที่โตเต็มที่แล้ว เห็ดเผาะจะช่วยดูดสารอาหารจากดินให้กับพืชและรับน้ำตาลที่พืชสร้างขึ้นจากขบวนการสังเคราะห์แสง เมื่อปลูกป่าไปได้สัก 2-3 ปีเห็ดที่มีราคาแพงก็จะงอกออกมาโดยที่ไม่จำเป็นต้องรอให้ต้นไม้โต ไม่ต้องเผาป่าหาเห็ดอีกต่อไป เป็นการปลูกป่าแบบผสมผสาน และด้วยศาสตร์แห่งพระราชาในการบริหารจัดการน้ำที่จะทำให้สามารถเพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารสีเขียว และลดปัญหาเรื่องการเผาป่าที่เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยความร่วมมือในครั้งนี้เกิดขึ้นได้เนื่องจากทางเป๊ปซี่โค ประเทศไทย และชมรมฯ มีพื้นที่เป้าหมายในบริเวณเดียวกัน ได้แก่ ชุมชนบ้านก้อ อ.ลี้ และชุมชนบ้านไม้สลี อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน ซึ่งเป็นบริเวณใกล้เคียงกับที่ตั้งของโรงงานลำพูน และเป็นพื้นที่ที่เราส่งเสริมการเพาะปลูกมันฝรั่งซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรทางเศรษฐกิจที่สำคัญ จึงเกิดการบูรณาการเพื่อการพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน
ดร.เจน ชาญณรงค์ ประธานชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล กล่าวว่า หนึ่งในพันธกิจของชมรมฯ คือความพยายามในการแก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่น PM2.5 โดยพื้นที่ที่มีปัญหามากที่สุด คือ แถวลำพูน-เชียงใหม่มีปัญหาไฟป่าครอบคลุมพื้นที่นับแสนไร่ ปีที่แล้วผมลงพื้นที่สำรวจและพบว่าที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง จ.ลำพูน ตรงกลางบริเวณที่มีไฟป่ามีหมู่บ้านอยู่ 3 หมู่บ้าน มีคนประมาณ 2,800 คน และพบว่าที่เขาจุดไฟเผากันเพื่อหาเห็ดเผาะ เขาทำเพราะคิดว่าเดี๋ยวอีก 4 เดือนต้นไม้ก็ฟื้นกลับมา นี่คือวิถีชาวบ้าน แต่ไฟที่เขาจุดมันลามไปเป็นแสนเป็นล้านไร่ ยิ่งเผาป่ายิ่งเสื่อมโทรม ยิ่งเผายิ่งแห้งแล้ง ปลูกอะไรก็ไม่ได้ เลยต้องเข้าไปหาของป่าประทังชีวิต ผมเลยกลับมาถามคนที่รู้เรื่องเห็ด มีอาจารย์ที่จุฬาฯ บอกว่าไม่มีความจำเป็นต้องเผาเลย จึงเสนอกันในชมรมฯ ว่าเราควรเริ่มหัดเพาะเห็ดเผาะดีกว่า โดยถ้าเราปลูกพวกต้นรัง ต้นตะเคียนได้ ตอนต้นกล้ายังอยู่ในถุงก็เอาเชื้อเห็ดใส่เข้าไป เห็ดก็ขึ้นอยู่ในถุงนี้แหละ อันนี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้องของชาวบ้านได้ และยิ่งไปกว่านั้น จริง ๆ แล้วบริเวณนี้เป็นพื้นที่รับน้ำ มีน้ำใต้ดินอยู่มาก แต่ขาดเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ถ้าสามารถจัดการน้ำ ชะลอให้น้ำอยู่ได้นาน ๆ ป่าก็จะกลับมา นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และความอยู่ดีกินดี อีกส่วนหนึ่งคือเราไปหาเด็ก ๆ ที่โรงเรียน สอนเขาว่าฝุ่นสร้างผลกระทบอะไรกับเขาได้บ้าง เราไปติดเครื่องวัดค่าฝุ่น PM2.5 ที่โชว์ 3 สีให้ที่โรงเรียน ครูเขาก็คุยกับชุมชนทำธงติดหน้าโรงเรียน สีแดง เหลือง เขียว เปลี่ยนตามสีเครื่องวัด คนในชุมชนก็ขี่มอเตอร์ไซค์มาดูว่าวันนี้สีอะไร พอชาวบ้านรู้ว่าฝุ่นเหล่านี้อันตรายแค่ไหนก็เริ่มตื่นตัว ไม่เผาป่า ดังนั้นองค์ความรู้เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดความยั่งยืน จะเห็นได้ว่าสิ่งเหล่านี้มันเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอยู่ โดยมีปากท้องของชาวบ้านเป็นแกนกลางของความสัมพันธ์ ถ้าแก้ปัญหาเรื่องปากท้องชาวบ้านได้ ปัญหาไฟป่า ฝุ่น PM2.5 ก็น่าจะลดลงตาม ทั้งนี้เราอยากให้โครงการนำร่องนี้เป็นตัวอย่างให้กับพื้นที่อื่น ๆ ที่มีปัญหาได้เห็น และนำองค์ความรู้ นำศาสตร์แห่งพระราชาในการบริหารจัดการน้ำ การสร้างฝายชะลอน้ำ การปลูกพืชแบบน้ำหยด ฯลฯ ไปใช้พัฒนาพื้นที่ของตนเองเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป โดยหวังว่าสื่อมวลชนจะช่วยเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ไปได้ในวงกว้างมากขึ้น
นอกเหนือจากกิจกรรมในครั้งนี้ เป๊ปซี่โคยังได้จัดโครงการด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการ “เป๊ปซี่โค ร่วมใจรักษ์น้ำ” ซึ่งริเริ่มขึ้นในปี 2556 เพื่อสนับสนุนการสร้างฝายชะลอน้ำและอ่างเก็บน้ำชุมชนในบริเวณป่าต้นน้ำ เพื่อช่วยฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำและคืนความสมดุลให้กับระบบนิเวศในบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย โดยในปี พ.ศ. 2556-2558 ได้ร่วมกับเทศบาลตำบลมะเขือแจ้ ดำเนินโครงการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำแม่ตีบ จังหวัดลำพูน สร้างฝายชะลอน้ำทั้งแบบฝายแม้ว ฝายกึ่งถาวร จำนวน 500 ฝาย ปี พ.ศ. 2559-2560 ดำเนินโครงการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับมูลนิธิรักษ์ไทยเพื่อทำแผนการบริหารจัดการน้ำ พร้อมสร้างฝายอีกเกือบ 500 ฝาย และปี พ.ศ. 2561-2562 เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ได้ขยายพื้นที่ไปในอีก 3 ชุมชนในจังหวัดลำพูน เชียงรายและพะเยาเพื่อสร้างฝายมากกว่า 100 ฝาย และซ่อมแซมฝายปู่แซ ที่อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน