สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดนิทรรศการและพระราชทานรางวัลในงาน “ศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 9” ภายใต้หัวข้อ “สยามเมืองยิ้ม” โดย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) โดยมี พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร,คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), คุณนิติกร กรัยวิเชียร ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), และคณะผู้จัดงาน เฝ้าฯ รับเสด็จ วันอังคารที่ 8 กันยายน 2563 เวลา 08.30 น. ณ ชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
นิทรรศการ “ศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 9” ภายใต้หัวข้อ “สยามเมืองยิ้ม” ที่จัดโดย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเวทีที่ให้เหล่าศิลปิน และผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้แสดงออกถึงช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นศักราชใหม่อันรุ่งโรจน์ รื่นเริง สะท้อนถึงบรรยากาศของความสุข ความหวังความปรารถนาอันดีที่ผู้คนพึงมีต่อกัน สำหรับงานศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 9 ผลงานที่ได้รับรางวัลช้างเผือก ได้แก่ “เสน่ห์ศิลป์แผ่นดินสยาม” โดย คุณธมลวรรณ แสงนาค รับเงินรางวัล 1,000,000 บาท รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ “สุขสัมพันธ์ สามัญวิธี” โดย คุณนิลยา บรรดาศักดิ์ รับเงินรางวัล 500,000 บาท รางวัล CEO AWARD ได้แก่ “ผมทรงกะลาครอบ” โดย คุณมานนท์ สุธรรม รับเงินรางวัล 250,000 บาท นอกจากนี้ยังมีรางวัลรองชนะเลิศ 5 รางวัล รางวัลละ 200,000 บาท ประกอบด้วย คุณคเณศ แสนศรีลา คุณจรัญ บุญประเดิม คุณบุญนำ สาสุด คุณพฤกษ์ โตหมื่นไวย คุณเรืองฤทธิ์ สร่องศรี และรางวัลชมเชยอีก 13 รางวัล รางวัลละ 100,000 บาท
คุณนิติกร กรัยวิเชียร ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การประกวดศิลปกรรมช้างเผือก เกิดจากความตั้งใจอันดีของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฟ้นหาศิลปินไทยรุ่นใหม่ที่มีทักษะความสามารถทางศิลปะอันโดดเด่น ในการสร้างสรรค์ศิลปะแบบเหมือนจริง (Realistic) และศิลปะรูปลักษณ์ (Figurative Art) โดยยึดถือความเหมือนจริงเป็นแก่นสำคัญเพื่อให้ผลงานศิลปะเหล่านี้เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่สำคัญ ในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านศิลปะร่วมสมัยให้ขยายไปสู่การรับรู้ของสังคมในวงกว้าง การดำเนินการประกวดศิลปกรรมช้างเผือก เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 และดำเนินงานต่อเนื่องเรื่อยมาเป็นประจำทุกปี โดยในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งนับเป็นการจัดการประกวดครั้งที่ 9 ภายใต้หัวข้อ ‘สยามเมืองยิ้ม’ เพื่อให้ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้แสดงฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ โดยตีความจากโจทย์ที่กำหนดให้ ซึ่งศิลปินที่เข้าร่วมประกวดแต่ละคน ก็ต่างสร้างสรรค์ผลงานที่น่าสนใจในรูปแบบและแนวทางที่แตกต่างได้อย่างน่าประทับใจ และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
โดยมีศิลปินจำนวน 205 คน ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจำนวนทั้งสิ้น 235 ชิ้น โดยมีผลงานที่ได้รับรางวัลจำนวน 21 ชิ้น และผลงานที่ได้รับคัดเลือกให้ร่วมแสดงในนิทรรศการจำนวน 34 ชิ้น รวมผลงานจัดแสดงในนิทรรศการทั้งสิ้น 55 ชิ้น บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จ
พระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อย่างหาที่สุดมิได้ ที่ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธานในการพระราชทานรางวัลตั้งแต่การประกวดครั้งแรกตราบจนปัจจุบัน และขอขอบพระคุณคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่าน ตลอดจนศิลปินผู้ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดทุกคน และจะมุ่งมั่นในการส่งเสริมและสนับสนุนให้วงการศิลปะร่วมสมัยของประเทศไทยประสบความสำเร็จสืบเนื่องต่อไปในอนาคต”
คุณธมลวรรณ แสงนาค ผู้ชนะรางวัลช้างเผือก ภายใต้ผลงานชื่อ “เสน่ห์ศิลป์แผ่นดินสยาม” เผยถึงแรงบันดาลใจผลงานชิ้นนี้ว่า “ผลงานชิ้นนี้ใช้เทคนิคภาพพิมพ์ตะแกรงไหมและวัสดุผสมที่งดงามมลังเมลืองด้วยทิวทัศน์วัดวังอร่ามเรือง บ่งบอกถึงวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบไทย อันสงบสุขงดงาม สอดรับกับหัวข้อ สยามเมืองยิ้ม เป็นอย่างดี และสื่อถึงความเจริญรุ่งเรืองของศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตชาวสยาม ผ่านรูปแบบอัตลักษณ์ ลวดลายผ้า ที่แฝงไปด้วยความประณีตงดงาม โดยใช้เวลาผลิตชิ้นงานนี้เป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งเราตั้งใจทำผลงานนี้ ออกมาให้ดีที่สุด รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง และภูมิใจมากๆ ที่ผลงานชิ้นนี้ ได้รับรางวัลช้างเผือก ต้องขอขอบคุณโครงการ ศิลปกรรมช้างเผือก ที่เปิดโอกาสให้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ และได้แสดงฝีมือในการผลิตชิ้นงานได้อย่างเต็มที่ค่ะ”
คุณนิลยา บรรดาศักดิ์ ผู้ชนะรางวัลชนะเลิศ ภายใต้ผลงานชื่อ “สุขสัมพันธ์ สามัญวิธี” เผยความรู้สึกว่า “รู้สึกดีใจมากๆ ค่ะ ที่ผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศ เพราะแรงบันดาลใจของผลงานมาจากครอบครัว ครอบครัวของเรามีกิจกรรมร่วมกันในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา ภาพทั้งหมดเป็นภาพของเครือญาติ ซึ่งเป็นบรรยากาศที่อบอุ่น และมีความสุข เป็นวิถีชีวิตของชนบทไทย ความสุขมักเกิดขึ้นจากการลงมือทำด้วยตัวเอง ประสบการณ์ที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น การร่วมแรงร่วมใจผ่านวิถีชีวิตอันเรียบง่าย ผ่านกิจกรรมสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ ล้วนสะท้อนภาพความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น สอดประสานกลมเกลียวกันได้อย่างสวยงามตามวิถีแห่งการพึ่งพาอาศัยกัน ผลงานชิ้นนี้ใช้เทคนิค เย็บ ปัก ถัก ร้อย ซึ่งเป็นเทคนิคที่เราถนัดอยู่แล้ว ใช้ระยะเวลาการผลิตชิ้นงานเป็นระยะเวลา 2 เดือนค่ะข้าพเจ้านำเรื่องราวความประทับใจในกิจกรรมการลงแขกเกี่ยวข้าวของสังคมชนบทอีสานของตนเอง มาเป็นแรงบันดาลใจ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์วิถี สร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัยผ่านเทคนิคกระบวนการเย็บปักเส้นด้าย
ร้อยเรียงเรื่องราวความรัก ความสัมพันธ์ ผสานพลังความสามัคคี ก่อเกิดความสุขของการร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ภายใต้การใช้ชีวิตที่เรียบง่าย สามารถปรับประยุกต์วิถีชีวิตให้เข้ากับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างกลมกลืน โดยยึดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ตรัสถึง “ความพอเพียงสร้างได้
ก็ต่อเมื่อคนในชุมชนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน” เป็นประโยคที่จุดประกายความคิดให้ข้าพเจ้าเล็งเห็นถึงการมีส่วนร่วมจากส่วนรวม เพื่อสร้างสรรค์และสานสัมพันธ์ชุมชนไทยให้ยั่งยืนสืบไป”
คุณมานนท์ สุธรรม ผู้ชนะรางวัล CEO AWARD ภายใต้ผลงานชื่อ “ผมทรงกะลาครอบ” เผยถึงแรงบันดาลใจผลงานชิ้นนี้ว่า “ร้านตัดผมมักจะสะท้อนวิถีชีวิตและบ่งบอกถึงเรื่องราวความเป็นมาของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี ผมทรงกะลาครอบ อาจจะดูเชยและน่าขบขัน แต่ก็มีเสน่ห์ มีประวัติศาสตร์ร่วม ซึ่งทุกคนเคยผ่านหรือสัมผัสครั้งเมื่อวัยเด็ก ซึ่งผมและเพื่อนๆ มักจะโดนล้อกับผมทรงนี้ ผมคิดว่าใครที่ชมภาพนี้คงจะต้องยิ้มตามไปด้วย สอดคล้องกับหัวข้อสยามเมืองยิ้มครับ ผมรู้สึกดีใจ และภาคภูมิใจ ที่หลายๆ คนต่างชอบ ในส่วนเทคนิคการผลิต ผมใช้สีน้ำมันวาดลงบนผ้าลินิน ระยะเวลาในการผลิตชิ้นงานนี้เป็นระยะเวลา 2 เดือนครับ ผมรู้สึกดีใจมากๆ ที่ได้รับรางวัลนี้ซึ่งเป็นเกียรติอันสูงสุดครับ”
ข้าพเจ้านำเรื่องราวความประทับใจในกิจกรรมการลงแขกเกี่ยวข้าวของสังคมชนบทอีสานของตนเอง มาเป็นแรงบันดาลใจ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์วิถี สร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัยผ่านเทคนิคกระบวนการเย็บปักเส้นด้าย ร้องเรียงเรื่องราวความรัก ความสัมพันธ์ ผสานพลังความสามัคคี ก่อเกิดความสุขของการร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ภายใต้การใช้ชีวิตที่เรียบง่าย สามารถปรับประยุกต์วิถีชีวิตให้เข้ากับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างกลมกลืน โดยยึดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ตรัสถึง “ความพอเพียงสร้างได้ก็ต่อเมื่อคนในชุมชนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน” เป็นประโยคที่จุดประกายความคิดให้ข้าพเจ้าเล็งเห็นถึงการมีส่วนร่วมจากส่วนรวม เพื่อสร้างสรรค์และสานสัมพันธ์ชุมชนไทยให้ยั่งยืนสืบไปทั้งนี้ นิทรรศการ “ศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 9” ภายใต้หัวข้อ “สยามเมืองยิ้ม” จะเปิดให้ประชาชนเข้าชม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ณ ชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 20 กันยายน 2563
สำหรับหัวข้อการประกวดศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 10 ประจำปี 2564 ได้กำหนดหัวข้อ “ในฝัน” สื่อความหมายถึง แนวความคิดเกี่ยวกับ ความฝัน จินตนาการ ความใฝ่ฝันอันดีงามทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม ศีลธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในแต่ละพื้นถิ่น อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานสามารถตีความ “ความฝัน” ทั้งในแง่มุมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม กล่าวคือ ความฝันที่สามารถเป็นจริงได้ และความฝันที่เป็นเพียงจินตนาการอันสวยงามของแต่ละบุคคล นอกจากนั้นยังหมายรวมถึง ความรักความผูกพัน ความปรารถนา ปณิธาน ความฝันอันสูงสุด ความดีงามที่อยากสรรค์สร้างให้เกิดขึ้นจริง หรือการหวนรำลึกถึงความทรงจำอันมีคุณค่า ที่จารึกไว้ในฝันของตนเอง การประกวดศิลปกรรมช้างเผือก มุ่งเน้นส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงานแบบเหมือนจริง (Realistic) ที่มีเรื่องราวเนื้อหาอันดีงาม การตัดสินงานจะไม่แยกประเภทและ วัสดุ ศิลปินสามารถส่งผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และสื่อผสม โดยไม่จำกัดเทคนิคและวัสดุ ทั้งนี้ จะเปิดรับผลงานในระหว่างวันที่ 29-30 มกราคม 2564 เวลา 10.00-18.00 น. สามารถติดตามรายละเอียด ได้ทาง เฟซบุ๊ก : ศิลปกรรมช้างเผือก, www.thaibev.com และ www.bacc.or.th