จากจุดเริ่มต้นในยุคบุกเบิกรุ่นพ่อและรุ่นแม่ ในปี 2538 ที่เริ่มจากธุรกิจค้าขายยาสมุนไพรแบบซื้อมาขายไป ของ “พ่อเฉลิม” และ “แม่ประนอม” วังพรม ซึ่งได้มองเห็นลู่ทางทำมาค้าขายสินค้าสมุนไพร อันเป็นผลิตภัณฑ์คู่ครัวเรือนไทยมาอย่างยาวนาน โดยในช่วงแรกของการดำเนินธุรกิจ ทั้งคู่เริ่มจากการไปรับยาสมุนไพรบริเวณวัดโพธิ์ ท่าเตียน กรุงเทพมหานคร มาจำหน่ายต่อในเขตจังหวัดนครปฐม โดยเลือกสถานที่ตั้งร้านแห่งแรกในบริเวณหน้าวัดไร่ขิง ต.ไร่ขิง อ.สามพราน
เมื่อการค้าขายในช่วงแรกได้ผลตอบรับดีและไปได้สวย ประกอบกับทั้งสองเริ่มมีความรู้และความเชี่ยวชาญ ในตัวสินค้าสมุนไพรชนิดต่างๆ มากขึ้น ในปี 2540 จึงได้เริ่มต้นพัฒนาสูตรยาขึ้นมาเอง ภายใต้แบรนด์ “สมุนไพรวังพรม” โดยสินค้าตัวแรกที่คิดค้นขึ้นมาคือ “ยาหม่องสมุนไพรสูตรไพล” เนื้อสีเหลือง ซึ่งมีคุณสมบัติและส่วนผสมแตกต่างจากยาหม่องยี่ห้ออื่น คือ ให้ความรู้สึกเย็นเมื่อยาสัมผัสผิว อีกทั้งส่วนผสมของไพลยังช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย ได้ดีกว่ายาหม่องแบบร้อนที่มีขายทั่วไปในขณะนั้น
การเป็นผู้บุกเบิกคิดค้นสูตรยาหม่องสมุนไพรภายใต้แบรนด์ตัวเอง ทำให้สมุนไพรวังพรมเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ถัดมาเพียงไม่นานในปี 2543 ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่สั่งสมจนตกผลึก สมุนไพรวังพรม จึงตัดสินใจก้าวต่อไป ด้วยการคิดค้นสูตร “ยาหม่องสมุนไพรเสลดพังพอน” เนื้อสีเขียวขึ้น และด้วยคุณสมบัติแก้คันจากพิษแมลงสัตว์กัดต่อย อีกทั้งกลิ่นหอมนวลละมุน จึงทำให้ยาหม่องสูตรนี้ขายดีเป็นอย่างยิ่ง จนทำให้ชื่อของสมุนไพรวังพรมเป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศ ในขณะเดียวกันยาหม่องสมุนไพรเสลดพังพอน ก็ขึ้นแท่นเป็นผลิตภัณฑ์ยอดนิยมและขายดีที่สุด ต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบันอีกด้วย
จากจุดเริ่มต้นในยุคแรกมาถึงยุคที่สองในวันนี้ นับเป็นเวลากว่า 25 ปี ที่สินค้าและผลิตภัณฑ์สมุนไพรวังพรม ได้ถูกคิดค้นและวางขายจนเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่คนไทยรู้จักดี ในรุ่นที่สองที่ตกทอดจากรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นลูก แม้การดำเนินงานและยอดจำหน่ายจะเติบโตขึ้นตามลำดับ และสามารถยกระดับจากสินค้าโอทอปห้าดาว (OTOP) ขยับสู่สินค้าและผลิตภัณฑ์ระดับชาติ (National Brand) แต่ภารกิจการพัฒนาสินค้าและก้าวขึ้นสู่ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย ที่ครองใจผู้บริโภคทั้งคนไทยและชาวต่างชาตินั้น ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ ที่ผู้บริหารรุ่นสองตั้งเป้าว่าจะต้องไปให้ถึง
“เรามองว่าแนวโน้มตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย ยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะคนยุคใหม่หันมาใส่ใจสุขภาพ และให้ความสนใจผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบจากธรรมชาติมากขึ้น ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดเกือบ 20,000 ล้านบาท ซึ่งทิศทางนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะผู้บริโภคคนไทย แต่ยังรวมไปถึงชาวต่างชาติที่มีความชื่นชอบสมุนไพรไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้วด้วย หากดูจากตัวเลขประมาณการส่งออก กรมส่งเสริมการค้าต่างประเทศ ชี้ว่าตลาดสมุนไพรไทยมีมูลค่าการส่งออกรวมในปี 2562 มากกว่า 146,605 ล้านบาท ขณะที่ตลาดโลกมีมูลค่ามากกว่า 300,000 ล้านบาท เลยทีเดียว” นางสาววัชรีภรณ์ วังพรม กรรมการบริหาร บริษัท สมุนไพรวังพรม จำกัด กล่าว
นางสาววัชรีภรณ์ กล่าวว่า เมื่อโอกาสเติบโตยังมีอีกมาก แนวทางบริหารงานในรุ่นที่สอง จึงวางเป้าหมายพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพมาตรฐานในระดับสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคและสามารถส่งขายต่างประเทศได้ จนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาสามัญประจำบ้าน และผ่านการรับรองมาตรฐานการผลิตต่างๆ อาทิ มาตรฐาน CODEX GMP คือ ระบบรับรองกระบวนการผลิตที่ดี เป็นมาตรฐานสากลที่ใช้กันทั่วโลก, มาตรฐานการผลิตยาโบราณตามสุขลักษณะที่ดี (GMP) , ใบรับรองเครื่องหมายฮาลาล และตรารับรองคุณภาพมาตรฐานโลก T Mark กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น อีกทั้งยังได้ปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้ดูทันสมัยน่าใช้งาน รวมถึงทำตลาดและวางจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้สามารถจำหน่ายสินค้าได้มากขึ้น
ไม่เพียงเท่านั้น เพื่อสร้างมาตรฐานการผลิตในระยะยาว สมุนไพรวังพรมจึงได้ดำเนินการก่อสร้างโรงงานแห่งที่ 2 ภายใต้มาตรฐาน GMP PIC/S อันเป็นมาตรฐานการผลิตยาของประเทศในสหภาพยุโรป มาตรฐานเดียวกับโรงงานผลิตยาสามัญ เช่น พาราเซตามอล ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่มีเป้าหมายปรับปรุงมาตรฐานการผลิต ของผู้ผลิตยาแผนโบราณขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงผู้ผลิตที่ผลิตยาในรูปแบบที่มีความเสี่ยงต่ำในประเทศ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการภายในปี 2564 นี้
สำหรับสัดส่วนยอดจำหน่ายโดยรวมของสมุนไพรวังพรมนั้น แบ่งเป็นตลาดในประเทศ 85% และส่งออก 15% ในช่วงที่ผ่านมา จึงหันมามุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการส่งออกเพิ่มขึ้น ซึ่งผลพวงจากการพัฒนาสินค้าจนได้รับการรับรองมาตรฐานสากล ทำให้สามารถเปิดตลาดในต่างประเทศได้มากขึ้น โดยได้เข้าไปทำตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV เกาหลีใต้ จีน รัฐเซีย และประเทศแถบยุโรป ซึ่งล่าสุดในปี 2562 ที่ผ่านมา สมุนไพรวังพรม สามารถสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ในประเทศลาว โดยทำยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 60% ขึ้นแท่นเป็นผลิตภัณฑ์ยาหม่องสมุนไพรจากประเทศไทย ที่สามารถทำยอดขายอันดับ 1 แซงหน้าผลิตภัณฑ์ยาหม่องโลคอลแบรนด์ของลาวได้เป็นครั้งแรก
ทว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ไม่มีใครคาดคิด ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน ในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2563 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากในช่วงนั้นต้องหยุดไลน์การผลิตและปิดโรงงานชั่วคราว ขณะที่ยอดจำหน่ายก็ชะงักตัวเพราะผู้บริโภคชะลอการซื้อกะทันหัน “โรงงานเริ่มกลับมาเปิดและเดินสายพานการผลิตอีกครั้ง ในช่วงเดือน ก.ค. และ ส.ค. ที่ผ่านมา หลังสถานการณ์แพร่ระบาดเริ่มคลี่คลาย และเนื่องจากคำสั่งซื้อที่หยุดชะงักไปพร้อมการปิดโรงงาน ทำให้ตอนนี้ยอดสั่งซื้อที่เข้ามา ทำให้ต้องเดินหน้าผลิตอย่างเต็มกำลัง ซึ่งหากยอดคำสั่งซื้อเป็นเช่นนี้ต่อไป คาดว่าภายในสิ้นปี 2563 สมุนไพรวังพรม จะประคองสถานการณ์ผ่านพ้นช่วงวิกฤติโควิด-19 ไปได้ โดยมียอดขายตามเป้าหมายที่วางไว้” นายวุฒิชัย วังพรม กรรมการบริหาร บริษัท สมุนไพรวังพรม จำกัด กล่าว
แม้ยอดขายจะเริ่มทยอยกลับเข้ามา แต่ผู้บริหารรุ่นสองยังคงเดินหน้าภารกิจยกระดับผลิตภัณฑ์ ยาหม่องสมุนไพรนวดแก้ปวดเมื่อย และบรรเทาอาการแมลงสัตว์กัดต่อย เพื่อฉลองโอกาสดำเนินธุรกิจครบรอบ 25 ปี โดยการตั้งเป้าต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์ “นวดผ่อนคลายประจำบ้าน” หรือ “โฮม เทอราพี” (Home Therapy) ด้วยสินค้าที่มีคุณภาพในราคาที่เป็นมิตร ด้วยกลยุทธ์ปั้นแบรนด์สมุนไพรไทย ที่เชื่อมโยงกับภูมิปัญญาและการนวดไทยอันเป็นเอกลักษณ์ ที่ได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ด้วยการเผยแพร่วิดีโอ “เชิดชูนวดไทย จากสมุนไพรวังพรม” ซึ่งไม่เพียงช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ความเป็นไทย แต่ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มคุณค่าและเรื่องราวให้กับผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยอีกด้วย
นายวุฒิชัย กล่าวว่า การต่อยอดยาหม่องสมุนไพร ยกระดับสู่การเป็นผลิตภัณฑ์ “โฮม เทอราพี” จะทำให้แบรนด์สมุนไพรวังพรม เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลายมากขึ้น รับรองว่ามีติดบ้านไว้ได้ใช้ประโยชน์แน่นอน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเป้าหมาย “การเพิ่มกลุ่มผู้บริโภค” โดยเน้นขยายฐานลูกค้ากลุ่มคนเมืองและคนรุ่นใหม่ ที่หันมาให้ความสนใจผลิตภัณฑ์สมุนไพรมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเน้นทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์และการจัดโปรโมชั่น ควบคู่ไปกับช่องทางจัดจำหน่ายหน้าร้านสมุนไพรวังพรมและร้านค้าชั้นนำทั่วประเทศไทย ขณะเดียวกันยังเป็น “การยกระดับภาพลักษณ์ของแบรนด์” ให้ดูน่าใช้และได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ อันสอดคล้องกับศาสตร์นวดไทยที่ได้รับยกย่องเป็นมรดกโลก ซึ่งจะช่วยเสริมภาพลักษณ์แบรนด์ก้าวสู่ระดับสากล