กรมสรรพากรเปิดตัวระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) ในวันที่ 27 ตุลาคม 2563 ณ อาคารกรมสรรพากร ห้องพระอุเทน 1 ชั้น 2 เวลา 8.00 – 11.00 น. ร่วมมือกับสถาบันการเงิน 11 ธนาคาร นำนวัตกรรมมาใช้ เพื่อความสะดวกของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ กลาง เล็ก และผู้เสียภาษี โดยระบบนี้จะช่วยลดภาระในการจัดทำ และยื่นแบบรายการหักภาษี ณ ที่จ่ายไปยังกรมสรรพากร รวมถึงการจัดเก็บเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ลดต้นทุนในการจัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ทั้งยังได้รับสิทธิ์ลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 2% ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “นวัตกรรมระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) เป็นหนึ่งในระบบภาษีที่กรมสรรพากรได้พัฒนาขึ้น ในเปลี่ยนแปลงการทำงานสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) โดยให้ผู้เสียภาษีเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้การจัดการภาษีเป็นเรื่องง่าย จากเดิมที่ผู้จ่ายเงินต้องยื่นแบบแสดงรายการและนำส่ง ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ให้กรมสรรพากร และจัดทำเอกสารหลักฐานหนังสือรับรองให้ผู้รับเงินเอง เปลี่ยนมาเป็นการให้สถาบันการเงิน หรือธนาคารเป็นตัวกลางดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทน ช่วยลดขั้นตอน ลดต้นทุน ลดภาษี มีมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล สามารถจำกัดสิทธิการเข้าถึงและเปิดเผยข้อมูลได้ โดยได้เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563
ระบบ e-Withholding Tax ประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้อง 4 ฝ่าย คือผู้จ่ายเงิน ธนาคารผู้ให้บริการระบบ ผู้รับเงินซึ่งเป็นผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และกรมสรรพากรโดยผู้จ่ายเงินจะจ่ายเงินผ่านธนาคารพร้อมแจ้งข้อมูลที่กำหนด เมื่อธนาคารได้รับเงินแล้วจะออกหลักฐานเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้จ่ายเงินและผู้รับเงิน พร้อมทั้งจ่ายเงินหลังหักภาษีให้แก่ผู้รับเงิน และนำส่งข้อมูลและภาษีที่หักไว้ไปยังกรมสรรพากรภายในเวลาไม่เกิน 4 วันทำการ ถัดจากวันที่ธนาคารได้รับเงิน จากนั้นกรมสรรพากรจะออกใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้จ่ายเงิน กรณีนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายขาดไป ผู้จ่ายเงินสามารถนำส่งภาษีเพิ่มเติมผ่านระบบนี้ได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้สามารถตรวจสอบหลักฐาน หนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย ได้ตลอดเวลาที่เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th”
ธนาคารที่เปิดให้บริการ e-Withholding Tax ที่จะอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าของธนาคารจำนวน 11 ธนาคาร ได้แก่
- ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคาร เพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
- ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคาร มิซูโฮ จำกัด สาขา กรุงเทพฯ
- ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
- ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคาร ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น
- ธนาคาร สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด
- ธนาคาร ทหารไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า “ภาคธุรกิจการเงินได้ร่วมเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญต่อการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) เพื่อผลักดันระบบการชำระเงินของประเทศเข้าสู่ดิจิทัลทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงบุคคลทั่วไป โดยพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน (Payment Infrastructure Development) ส่งเสริมการเข้าถึง e-Payment ผ่านพร้อมเพย์เพื่อลดการใช้เงินสดและเช็ค พัฒนาระบบรับชำระทั้งขารับและขาจ่าย ส่งเสริมการใช้บัตรเดบิตและเครดิตอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการพัฒนาระบบการชำระภาษีของกรมสรรพากร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคืนภาษีผ่านระบบพร้อมเพย์ที่ขยายจากบุคคลธรรมดามาสู่นิติบุคคล ช่วยให้การคืนภาษีรวดเร็ว ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ”
ในครั้งนี้กรมสรรพากรและสมาคมธนาคารไทยได้ร่วมกันขยายโครงสร้างทางภาษีของภาคธุรกิจให้เชื่อมกับระบบการชำระภาษี e-Withholding Tax ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนการดำเนินงาน ไม่ต้องจัดเก็บเอกสาร และสามารถตรวจสอบได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านบริการธนาคารสมาชิก 9 ธนาคาร และ 2 ธนาคารต่างประเทศที่มีสาขาในประเทศไทยที่เข้าร่วมโครงการ
นอกจากนี้จะร่วมกันต่อยอดข้อมูลด้านธุรกิจมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่สามารถรองรับการขยายไปสู่ภาษีประเภทอื่น เพื่อประโยชน์ของสูงสุดของประชาชน
ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนใช้งานระบบ e-Withholding Tax กับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือที่ศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161