ในงาน Annual Mobile Broadband Forum ครั้งที่ 11 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ นายเคน หู (Ken Hu) รองประธานหัวเว่ยกล่าวกับบรรดาผู้นำธุรกิจจากภาคโทรคมนาคมและเทคโนโลยีดิจิทัลถึงมูลค่าใหม่ที่ 5G จะนำมาสู่ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วโลก เนื่องจากเทคโนโลยี 5G จะเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน รวมถึงวิธีการที่เราทำงานและเชื่อมต่อถึงกัน ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการสร้างมูลค่าใหม่ที่ไปไกลเกินกว่าตลาดผู้บริโภค
นายเคน หู ยังกล่าวถึงประเด็นการเร่งปรับใช้เทคโนโลยี 5G ในภาคอุตสาหกรรมว่า “เรื่องของนวัตกรรมไม่มีวิธีการสำเร็จรูป เราต้องมุ่งเน้นไปที่ความต้องการที่แท้จริง ในสถานการณ์จริง และสร้างศักยภาพต่าง ๆ ขึ้นมาให้ตอบโจทย์ความต้องการเหล่านั้น นี่คือความท้าทาย แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่สำหรับทุก ๆ คนที่มีส่วนร่วม”
การวางเครือข่าย 5G ทั่วโลกมีความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว ในฐานะผู้นำด้าน 5G ประเทศจีนได้ติดตั้งสถานีฐานมากกว่า 600,000 สถานีในเมืองต่าง ๆ มากกว่า 300 แห่ง ซึ่งทำหน้าที่รองรับการเชื่อมต่อของสัญญาณ 5G กว่า 160 ล้านโครงข่ายทั่วประเทศ ปัจจุบัน บริการ 5G ในจีนมีความเร็วระดับหลายร้อยเมกะบิตต่อวินาที (Mbps) และมีบริการ 5G ในหลากหลายขอบเขต ครอบคลุมภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ภายในประเทศมากกว่า 20 อุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงการสาธารณสุข ท่าเรือ เหล็ก กริดไฟฟ้า เหมืองแร่ และอุตสาหกรรมการผลิต
นายเคน หู ยังระบุว่า “การปรับใช้เทคโนโลยี 5G ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ขยับจากการตรวจสอบเชิงเทคนิคสู่การติดตั้งเพื่อใช้งานเชิงพาณิชย์แล้ว สถิติล่าสุดเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 ผู้ให้บริการเครือข่ายรายใหญ่ทั้งสามของจีนได้ดำเนินโครงการนวัตกรรม 5G แล้วกว่า 5,000 โครงการ และลงนามในข้อตกลงทางธุรกิจด้าน 5G แล้วมากกว่า 1,000 รายการ”
เขายังเล่าถึงข้อสังเกต 4 ประการเกี่ยวกับวิธีที่ดีที่สุดในการผลักดันนวัตกรรม 5G สำหรับภาคอุตสาหกรรมไว้ดังนี้
ประการแรก ภาคอุตสาหกรรมต้องระบุความต้องการที่แท้จริงให้ได้ โดยอิงจากสถานการณ์การใช้งานทางธุรกิจที่เฉพาะเจาะจง ขณะที่หลายภาคอุตสาหกรรมแสดงออกชัดเจนว่าพวกเขาพร้อมที่จะรับเอาเทคโนโลยี 5G ไปใช้งาน นายเคน หู ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ที่เป็นรูปธรรมสำหรับรูปแบบการใช้งานที่เฉพาะเจาะจง และประเมินว่า 5G เป็นเครื่องมือที่ถูกต้องสำหรับงานนั้น ๆ หรือไม่ “นี่เป็นวิธีที่ทำให้เราระบุได้ว่าส่วนใดคือความต้องการที่แท้จริงที่คุ้มค่าต่อการลงทุน”
หัวเว่ยเสนอเกณฑ์ 4 ข้อเพื่อใช้ประเมินความต้องการที่แท้จริง ได้แก่ ความเกี่ยวข้องเชิงเทคนิค, ศักยภาพทางธุรกิจ, ความพร้อมด้านห่วงโซ่คุณค่า (value chain maturity) และการวางมาตรฐานกลาง จากหลักเกณฑ์ข้างต้นนี้ สถานการณ์ทั่วไป 4 ประการที่จะแสดงให้เห็นความต้องการที่แท้จริงของการใช้ 5G คือ ระบบควบคุมจากระยะไกลหรือ remote control, ระบบ Video Backhaul ที่ใช้ในการสตรีมมิงวิดีโอ, ระบบ Machine Vision และระบบระบุตำแหน่งแบบเรียลไทม์หรือ real-time positioning
ประการที่สอง โครงข่ายต้องได้รับการปรับให้เข้ากันได้กับทุกสถานการณ์ โครงข่ายถือเป็นรากฐานสำคัญของบริการ 5G ที่มีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์โครงข่าย ตลอดจนการวางแผน การก่อสร้าง การบำรุงรักษา รวมถึงการปรับใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด จะต้องสามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของการใช้งานแต่ละกรณีในอุตสาหกรรมต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ให้บริการเครือข่ายและผู้ค้าต้องทำงานร่วมกันและพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ อยู่เสมอ โดยอิงจากความรู้ความเข้าใจเชิงลึกที่มีต่อปัญหาในระดับอุตสาหกรรม
ประการที่สาม อีโคซิสเต็มอันเฟื่องฟูของอุปกรณ์ 5G เชิงอุตสาหกรรมคือกุญแจสำคัญ จากการคาดการณ์ของหัวเว่ย ภายในสิ้นปี 2563 ราคาโมดูล 5G โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐ และจะลดลงจนถึง 40 ดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2565 ซึ่งจะทำให้อีโคซิสเต็มของอุปกรณ์ 5G สมบูรณ์มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ประการที่สี่ ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมต้องพัฒนาศักยภาพใหม่ ๆ เพื่อรองรับตลาด 5G ในภาคธุรกิจ เทคโนโลยี 5G เป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างยิ่งในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล อย่างไรก็ตาม โซลูชันนี้ไม่สามารถทำงานให้ครบวงจรได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น นอกจากการเชื่อมต่อแล้ว ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมยังต้องพัฒนาบริการที่ครบวงจร เช่น บริการดำเนินการด้านคลาวด์ การพัฒนาแอปพลิเคชันในภาคอุตสาหกรรม และผสานรวมระบบอย่างครบวงจร เพื่อนำไปสู่การตอบโจทย์ในตลาดองค์กรซึ่งในขณะนี้ถือว่ายังขาดโซลูชันที่ครอบคลุมรอบด้านอยู่
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงาน 2020 Global Mobile Broadband Forum สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.huawei.com/minisite/mbbf2020/en/