ท่ามกลางสภาวการณ์ที่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต้องปรับตัวให้อยู่รอดจากความท้าทายหลายประการ โดยมีสถานการณ์โควิด 19 เป็นตัวเร่งนั้น หลายธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่ก็ยังมีอีกหลายธุรกิจที่มุ่งค้นหาวิธีในการดำเนินธุรกิจใหม่ ๆ ได้อย่างสร้างสรรค์และน่าสนใจในการฟันฝ่าวิกฤตที่เกิดขึ้นและอยู่รอดได้อย่างแข็งแกร่ง ธนาคารไทยพาณิชย์ และสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันจัดโครงการมอบรางวัล Bai Po Business Awards by Sasin ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยเป็นครั้งที่ 16 โดยในครั้งนี้มีผู้ประกอบการ 5 บริษัทได้รับรางวัล ซึ่งอาจถือเป็นต้นแบบในการทำธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทยในยุค Next Normal ได้เป็นอย่างดี โดยผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลทั้ง 5 บริษัท ได้ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และเคล็ดลับในการทำธุรกิจผ่านการเสวนาในหัวข้อ “Get Ready for the Challenging Year 2021” ในวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ณ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย
รางวัลเกียรติยศแห่งความภาคภูมิใจของเอสเอ็มอีไทย “Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 16” จัดขึ้นเพื่อยกย่องผู้ประกอบการไทยที่ประสบความสำเร็จในมิติใดมิติหนึ่ง จาก 8 มิติที่มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ โดยมิติต่างๆ ประกอบด้วย องค์กรที่มีการสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovative Enterprise) องค์กรที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainable Business Practice) การบริหารจัดการด้านสินค้าและบริการที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า (Customer Focused Product & Service) การบริหารจัดการด้านการสร้างตราสินค้าและการตลาด (Branding & Marketing) การสร้างธุรกิจด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) การบริหารจัดการด้านการปฏิบัติการ (Operational Best Practice) การบริหารจัดการด้านการเงิน (Financial Strength) และการบริหารจัดการด้านบุคลากร (People Excellence) โดยการจัดงาน Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งนี้ มีดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย นายกกรรมการ ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นผู้มอบรางวัลเกียรติยศให้แก่ผู้ประกอบการ SME จำนวน 5 ราย ประกอบด้วย
บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตสินค้ากลุ่มเครื่องเทศ เครื่องปรุงรส ไปยังตลาดทั้งในและต่างประเทศ และพัฒนาเนื้อจากพืช แบรนด์ Let’s Plant Meat เบอร์เกอร์เนื้อจากพืชรายแรกในประเทศไทย รวมถึงจัดตั้งสถาบันวิจัยรสชาติอาหารแก่ผู้ประกอบการ ได้รับรางวัลในมิติ Innovative Enterprise, Customer Focused Product & Service และ Operational Best Practice
บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผักสลัดออร์แกนิก อาหารและเครื่องดื่มแบรนด์ “โอ้กะจู๋” โดยได้รับรางวัลมิติ Customer Focused Product & Service Branding & Marketing และ Entrepreneurship
บริษัท ยูไนเต็ดอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด ผู้ผลิต เส้นบะหมี่ และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากแป้งสาลี ภายใต้แบรนด์ หมื่นลี้ มัมปูกุ เส้นเงิน และเส้นไหม ที่ได้คุณภาพและความปลอดภัยต่อสุขภาพ โดยไม่ใช้วัตถุกันเสียและสีสังเคราะห์ ตลอดจน มีอายุการเก็บรักษาที่ยาวนานด้วยงานวิจัยและพัฒนา ได้รับรางวัลในมิติ Sustainable Business Practice Customer Focused Product & Service และ Entrepreneurship
บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมให้หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ผู้นําการให้บริการสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจร (Environmental One-Stop Service) ในประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน ที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ได้รับรางวัลในมิติ Sustainable Business Practice Customer Focused Product & Service และ Operational Best Practice
บริษัท นวกาญจน์โลหะชลบุรี จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนเหล็กหล่อ ฝาท่อระบายน้ำ ที่มีลวดลาย สีสัน เป็นรายแรกของประเทศไทย สร้างสินค้าที่ทุกคนเคยมองข้ามให้กลายเป็นสื่อใหม่ด้วยการฝัง QR Code บนฝาท่อ หรือเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) ตอบโจทย์ยุคดิจิทัล ได้รับรางวัลในมิติ Innovative Enterprise, Branding & Marketing, Operational Best Practice และ Entrepreneurship
สำหรับการเสวนาในครั้งนี้ ทั้ง 5 ธุรกิจได้เผยถึงแนวทางการเตรียมความพร้อมรับ Next Normal ในปี 2021 โดย นายสมิต ทวีเลิศนิธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด กล่าวว่า “ยุคนี้ SME ต้องมองให้ไกลกว่าหนทางรอด วิกฤติโควิด-19 เป็นบททดสอบที่ทำให้ SME ประเมินศักยภาพตนเองได้ เพราะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้พฤติกรรมผู้บริโภคปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารได้รับผลกระทบอย่างมาก คนรับประทานอาหารนอกบ้านน้อยลง มีกำลังซื้อน้อยลง หันมาทำอาหารทานที่บ้าน ดูแลสุขภาพมากขึ้น นิธิฟู้ดส์จึงปรับกลยุทธ์ในการเข้าถึงลูกค้าให้สามารถเข้าสู่กระบวนการบริโภคแบบใหม่ และรักษากระแสเงินสด กระจายความเสี่ยงไปยังตลาดที่หลากหลาย ขยายกำไรด้วยการเรียนรู้วิจัยพัฒนานำมาต่อยอดสินค้า ศึกษาโมเมนตัมของธุรกิจว่าปัจจัยใดส่งเสริม ปัจจัยใดสร้างแรงต้าน เพื่อนำไปสู่การปรับตัวในรูปแบบวิถีใหม่ และสิ่งที่ SME ต้องทำเพื่อเดินหน้าสู่ยุค Next Normal คือต้องกล้าที่จะปรับเปลี่ยนเพื่อค้นพบสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิม และให้ความสำคัญกับการรักษาชื่อเสียงและคุณธรรมขององค์กรมากกว่าการแสวงหาผลกำไร และยึดหลักการดำเนินงานภายใต้หลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นบรรทัดฐานทุกยุคสมัย ก็จะสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน
นายชลากร เอกชัยพัฒนกุล CEO บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจร้านโอ้กะจู๋ได้รับผลกระทบเต็มแรงจากวิกฤติโควิดที่ผ่านมา เพราะร้านอาหารเปิดให้บริการไม่ได้ ผักที่ปลูกเหลือค้างสต๊อก ไหนจะพนักงานที่เราต้องดูแล ตอนนั้นแก้ปัญหาโดยการเปิดเดลิเวอรี่ทันที ควบคู่ไปกับการนำสินค้าที่ไม่มีโอกาสจำหน่ายเหล่านั้นเอาไปทำประโยชน์ในโครงการปันฮัก แจกหมอ พยาบาล เป็นการทำเพื่อสังคมแทน ตั้งแต่เริ่มปลูกผักมา ผ่านวิกฤติปัญหามาหลายรูปแบบ ทั้งภัยธรรมชาติ พายุ น้ำท่วม แต่เรามองว่าชีวิตและการทำธุรกิจก็คือการแก้ปัญหา ต้องเรียนรู้ปัญหาเพื่อแก้ไข และมองว่าธุรกิจจะอยู่รอดได้นั้น ต้องรักษามาตรฐานของตนเองมากกว่ามุ่งแข่งขันกับคู่แข่ง จึงจะสามารถทำให้รักษาฐานลูกค้าได้ในระยะยาว
นางลาวัลย์ ศรีรุ่งเรืองจิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูไนเต็ดอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด กล่าวว่า หลังจากเกิดวิกฤติโควิด ทำให้เทรนด์การรักและดูแลสุขภาพ ของผู้บริโภคกลับมา ความพิถีพิถันในการเลือกซื้อสินค้าก็มีมากยิ่งขึ้น จึงเป็นโอกาสที่ทำให้สินค้าของบริษัทได้รับการตอบรับที่ดีอย่างมากในช่วงวิกฤตดังกล่าวไปด้วย จากบทพิสูจน์นี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นและความไว้วางใจในคุณภาพสินค้าของผู้บริโภค ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้บริษัท ตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะวิจัยพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรม ที่ช่วยตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ทั้งนี้สิ่งที่จะทำให้ SME ไทย อยู่รอดได้ในทุก ๆ สถานการณ์ คือการเรียนรู้ที่จะปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วอยู่เสมอ รวมทั้ง ต้องมีสติที่จะอดทนต่อการแก้ไขปัญหา และยึดมั่นในความซื่อสัตย์ที่มีต่อลูกค้า เพื่อนำพาธุรกิจให้อยู่รอดได้อย่างยั่งยืน
นางศุภรัตน์ โชติสกุลรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด หรือ UAE มองว่า SME ไทย สามารถที่จะใช้วิกฤติเป็นโอกาสในการสร้างแบรนด์ ด้วยการยังคงให้บริการที่มีคุณภาพอย่างมืออาชีพควบคู่จรรยาบรรณวิชาชีพ และปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกสถานการณ์ ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่า UAE จะได้รับผลกระทบภายในองค์กร คือ เราพบพนักงานติดเชื้อ ในช่วงแรก ๆ ของการแพร่ระบาดโควิด-19 สิ่งแรกที่ทำ คือ ป้องกันดูแลพนักงานคนอื่น ๆ ให้ปลอดภัย เพราะพนักงานต้องออกไปปฏิบัติงานนอกพื้นที่ พร้อมทั้งให้กำลังใจและดูแลพนักงานที่ติดเชื้อ และสื่อสารกับลูกค้าถึงวิธีการบริหารสภาวะวิกฤติอย่างโปร่งใส เพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าเสมือนพันธมิตร
ปิดท้ายด้วย นางสาวอัชฌาวดี เจียมบรรจง กรรมการผู้จัดการ บริษัท นวกาญจน์โลหะชลบุรี จำกัด ระบุว่า แม้อุตสาหกรรมเหล็กหล่อจะไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมามากกว่าอุตสาหกรรมอื่น แต่สิ่งที่เป็นความเสี่ยงที่ต้องคำนึงและวางแผนรับมือเป็นข้อแรกคือ ความปลอดภัยของพนักงาน ถ้าพนักงานติดเชื้อ บริษัทต้องรับมืออย่างไร ข้อต่อมาคือการวางแผนรักษาสภาพเงินสด (Cash Flow) เพื่อทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อได้ และวางแผนพัฒนาต่อยอดธุรกิจจากจุดแข็งที่ตนเองมีให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าตามวิถีใหม่ที่เปลี่ยนไป เพราะไม่สามารถรู้ได้ว่าโควิด-19 จะอยู่นานแค่ไหน SME จึงไม่ควรหยุดแสวงหาโอกาสใหม่ๆ จากช่องว่างของการเปลี่ยนแปลง และฝากถึงผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ที่กำลังประสบปัญหาใด ๆ อยู่ก็ตาม ให้แยกวิกฤติหรือปัญหาออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่แก้ไม่ได้ กับส่วนที่แก้ได้ และมุ่งโฟกัสในส่วนที่แก้ไขได้ก่อนอย่างทันท่วงที
รางวัล Bai Po Business Awards by Sasin ได้จัดมอบรางวัลเกียรติคุณให้กับผู้ประกอบการมาแล้วรวม 16 ครั้ง โดยมีผู้ประกอบการ SME ไทยจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้รับรางวัลไปแล้วมากถึง 81 บริษัท ซึ่งแต่ละบริษัทล้วนเป็นกรณีศึกษา ที่น่าสนใจและเป็นแบบอย่างแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ให้สามารถพัฒนาขีดความสามารถแข่งขันได้ทั้งในเวทีไทยและต่างประเทศ