บลูมเบิร์กเปิดทำเนียบ Top 20 ตระกูลรวยที่สุดในเอเชีย แชมป์อันดับ 1 เป็นของตระกูลอัมบานี เจ้าของบริษัทน้ำมัน บริษัทโทรคมนาคม และบริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ในอินเดีย ความน่าตื่นเต้นของตารางปีนี้อยู่ที่ “เจียรวนนท์” จากประเทศไทยสามารถครองเก้าอี้อันดับ 3 ได้สำเร็จ แซงหน้าตระกูลลี เจ้าของซัมซุงจากเกาหลีใต้ไปได้แบบชัดเจน
นอกจากเจียรวนนท์ ตระกูลเศรษฐีของไทยอย่าง “อยู่วิทยา” และ “จิราธิวัตน์” ก็ติดโผในตารางเช่นกัน โดยเจ้าพ่อทีซีพีกรุ๊ปนั่งเก้าอี้อันดับ 6 ขณะที่ครอบครัวเซ็นทรัลกรุ๊ปรั้งอันดับที่ 20 ในทำเนียบตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชีย
ในภาพรวม ครอบครัวมหาเศรษฐีเอเชียทั้ง 20 ตระกูลสามารถครองความมั่งคั่งรวมกว่า 4.63 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 13 ล้านล้านบาท แถมตระกูลที่รวยที่สุดยังมีความมั่งคั่งมากขึ้นไปอีก เทียบแล้วมีทรัพย์สินมูลค่ามากเป็น 2 เท่าของตระกูลอันดับ 2 และหากเทียบกับตระกูลอันดับ 5 แชมป์จะมีความรวยมากกว่า 3 เท่าตัวเลยทีเดียว
รวยแล้วยิ่งรวยอีก
อันดับ 1 ที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กยกย่องว่าเป็นตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดคือตระกูล “อัมบานี“ ของอินเดีย มูลค่าทรัพย์สินคือ 7.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ตามประวัติ “ธีรุไภย อัมบานี” เคยอพยพจากอินเดียไปทำงานเป็นเสมียนตั้งแต่อายุ 17 ปี ก่อนจะกลับมาเริ่มตั้งบริษัท Reliance Retail ใน พ.ศ. 2500
45 ปีผ่านไป ธีรุไภยเสียชีวิตโดยไม่มีพินัยกรรม ลูกชายคือมูเกซได้ควบคุมกิจการของตระกูลทั้งโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่สุดของโลก บริษัทโทรคมนาคมที่มีสมาชิกรายเดือนกว่า 307 ล้านคน คิดเป็น 23% ของประชากรประเทศอินเดีย และบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดในอินเดียด้วยจำนวนสาขาไม่น้อยกว่า 10,901 แห่งใน 6,700 เมืองทั่วประเทศ เกร็ดน่ารู้ของตระกูลคือศิลปินดัง Beyonce และ Chris Martin แห่งวง Coldplay เคยร่วมแสดงในงานแต่งงานของสมาชิกหลายคนในครอบครัวอัมบานี
ตระกูลที่ร่ำรวยเป็นอันดับ 2 คือตระกูล “กว็อก“ แห่งฮ่องกง เจ้าของ Sun Hung Kai Properties มูลค่าทรัยพ์สิน 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์ บลูมเบิร์กเล่าว่า “กว็อกตักเส็ง” จดทะเบียนบริษัทใน พ.ศ. 2515 จนวันนี้บริษัทเติบโตเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่สุดของฮ่องกง ล่าสุด Thomas Kwok เพิ่งกลับมาเข้าร่วมธุรกิจของครอบครัวในปีนี้ หลังจากพ้นโทษจำคุกในข้อหาติดสินบน
อันดับ 3 คือตระกูล “เจียรวนนท์” แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ สถิติความมั่งคั่ง 3.17 หมื่นล้านดอลลาร์ ทุกอย่างเริ่มจาก “เจีย เอ็กชอ” คุณพ่อของ “ธนินท์ เจียรวนนท์” ได้อพยพจากภาคใต้ของจีนมาตั้งต้นชีวิตใหม่ในประเทศไทย จนกระทั่งเริ่มธุรกิจค้าขายเมล็ดพันธุ์พืชกับพี่ชายใน พ.ศ. 2464 ผ่านไปหลายสิบปีกิจการขยายออกไปทั้งการค้าปลีก อาหาร และโทรคมนาคม ประเด็นน่าสนใจของบริษัทในปีนี้คือแผนขยายไปตั้งฟาร์มกุ้งที่สหรัฐฯ
ซัมซุงนั่งที่ 5
อันดับ 4 คือตระกูล “ฮาร์โตโน” ของอินโดนีเซีย สถิติความมั่งคั่งคือ 3.13 หมื่นล้านดอลลาร์ ตระกูลนี้ร่ำรวยจากธุรกิจบุหรี่ Djarum ซึ่งเป็นรายใหญ่ที่สุดในประเทศ และการขยายไปสู่ธุรกิจธนาคาร Bank Central Asia ขณะที่อันดับ 5 คือตระกูล “ลี” แห่งเกาหลีใต้ เจ้าของ Samsung ซึ่งมีทรัพย์สินรวม 2.66 หมื่นล้านดอลลาร์ จุดเริ่มต้นของความร่ำรวยมาจาก “ลี บยองชอล” ที่เริ่มต้นกิจการ Samsung ในรูปของบริษัทส่งออกสินค้า ผัก และปลาใน พ.ศ. 2481 จากนั้นจึงมีการขยายเข้าสู่ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ด้วยการตั้งบริษัท Samsung Electronics ใน พ.ศ. 2512 จนกลายเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและชิพความจำรายใหญ่สุดของโลก
สำหรับตระกูล “อยู่วิทยา” นั่งอันดับ 6 ของตาราง เจ้าของทีซีพีกรุ๊ปถูกระบุว่ามีทรัพย์สินมูลค่า 2.42 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังจากที่ “เฉลียว อยู่วิทยา” ก่อตั้งบริษัทยา T.C. Pharmaceutical เมื่อ พ.ศ. 2499 บริษัทได้ขยายกิจการไปสู่สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเด่นคือเครื่องดื่มบำรุงกำลัง “กระทิงแดง” รวมถึงอีกหลายแบรนด์ที่อยู่ภายใต้ทีซีพีกรุ๊ป
ส่วนตระกูล “จิราธิวัฒน์” ครอบครัวธุรกิจเซ็นทรัลกรุ๊ปถูกจัดเป็นอันดับที่ 20 สถิติความมั่งคั่ง 1.29 หมื่นล้านดอลลาร์ วันนี้หนึ่งในกลุ่มบริษัทใหญ่ที่สุดของไทยมีบริษัทลูกกว่า 50 บริษัท ความมั่งคั่งของตระกูลไม่ได้รับผลกระทบใดจากวิกฤตที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ถูกวางเพลิงเมื่อ 10 ปีที่แล้วในระหว่างการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล
ผู้สนใจสามารถติดตามตาราง 20 อันดับตระกูลร่ำรวยที่สุดในเอเชียได้เพิ่มเติมจากที่มา.
ที่มา : https://www.bloomberg.com/features/2020-asia-richest-families/