ผลประเมินจาก WWF ชี้ ธนาคารในกลุ่มประเทศอาเซียน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ต้องเร่งดำเนินการตามหลัก ESG ให้เท่าทันกระแสการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของโลก

Macro shot of financial concept
  • ผลประเมินการบูรณาการหลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม (E = Environment) สังคม (S = Social) และ
    ธรรมาภิบาล (G = Governance) หรือ ESGของธนาคารครั้งที่ 4 มีข้อบ่งชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน หากแต่ธนาคารในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ จำเป็นต้องตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจให้สูงขึ้นเพื่อเท่าทันกับกระแสโลก
  • ภาคการธนาคารของประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ด้านการตระหนักถึงบทบาทสำคัญในการนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่มีความยั่งยืน และการมีส่วนช่วยสนับสนุนวาระระดับสากลในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการประเมินปีนี้มีธนาคารที่ได้รับการประเมินในประเทศไทยทั้งหมด 7 ธนาคาร

รายงานการประเมินความยั่งยืนของธนาคาร (Sustainable Banking Assessment: SUSBA) ประจำปี 2563 ขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลหรือ WWF ที่ล่าสุดได้ประเมินธนาคาร 5 แห่งในประเทศญี่ปุ่นและ 5 แห่งในประเทศเกาหลีใต้ ร่วมกับธนาคารอีก 38 แห่งในภูมิภาคอาเซียน พบว่าธนาคารที่ได้รับการประเมินมีความก้าวหน้าในการบูรณาการหลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเข้าเป็นหนึ่งในการปัจจัยการพิจารณากิจกรรมด้านการเงินมากขึ้น แต่ยังคงมีช่องว่างขนาดใหญ่ที่อาจส่งผลให้ภาพรวมของภาคการธนาคารยังคงมีความเสี่ยงเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและความสูญเสียทางธรรมชาติอื่นๆ โดยการประเมินนี้ ตั้งอยู่บนกรอบการดำเนินงาน6 ด้านหลัก ภายใต้การบูรณาการหลักเกณฑ์ESG อันประกอบด้วย เป้าหมาย (Purpose) นโยบาย (Policies) กระบวนการ (Processes) บุคลากร (People) ผลิตภัณฑ์ (Products) และพอร์ตโฟลิโอ (Portfolio) พร้อมด้วยการวิเคราะห์ที่ลงลึกในรายละเอียดของภาคส่วนธุรกิจและประเด็นปัญหาต่างๆ (Sectors and Issues) ซึ่งเป็นส่วนที่เพิ่มขึ้นใหม่ในปีนี้

ผลการประเมินปีนี้แสดงให้เห็นความก้าวหน้าได้อย่างชัดเจน โดยธนาคารกว่าร้อยละ 75 ในภูมิภาคอาเซียนมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นและเกือบร้อยละ30 มีการพัฒนาขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10 อ้างอิงตามหัวข้อของการประเมิน แม้ว่าธนาคารในภูมิภาคอาเซียนที่สามารถผ่านการประเมินอย่างน้อยครึ่งหนึ่งจากทั้งหมด 70 หัวข้อจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น 2 เท่า โดยจากเดิม 4 ธนาคาร เพิ่มขึ้นเป็น 8 ธนาคาร หากแต่ยังนับเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบจากจำนวนธนาคารทั้งหมดที่ได้รับการประเมิน ซึ่งร้อยละ45 ของธนาคารผ่านหัวข้อการประเมินน้อยกว่า 1 ใน 4 เทียบกับร้อยละ 51 ในปีที่ผ่านมา โดยการประเมินปีนี้มี 5 ธนาคารจากประเทศญี่ปุ่นและ 5 ธนาคารจากประเทศเกาหลีใต้เข้าร่วม
ซึ่งธนาคารจากประเทศเกาหลีใต้มีผลการประเมินคล้ายคลึงกับค่าเฉลี่ยของภูมิภาคอาเซียน ในขณะที่ธนาคารจากประเทศญี่ปุ่นมีผลการประเมินสูงกว่าค่าเฉลี่ยดังกล่าว

สำหรับประเทศไทย การประเมินความยั่งยืนของธนาคาร (Sustainable Banking Assessment: SUSBA) ประจำปี 2563 นี้ มีธนาคารที่ได้รับการประเมินในประเทศไทยทั้งหมด 7 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีฯ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทย และธนาคารธนชาต* ซึ่งผลการประเมินพบว่า 1 ใน 7 ธนาคารไทย ติด 10 อันดับแรกของธนาคารในอาเซียนที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด ร้อยละ 71 ของธนาคารไทยมีความก้าวหน้ามากขึ้นในปีที่ผ่านมา และมีธนาคารไทย2แห่ง ที่ผ่านหลักเกณฑ์การประเมินมากกว่าร้อยละ 50 สิ่งที่น่าสนใจคือ ธนาคารส่วนใหญ่ตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อสังคม และเศรษฐกิจ รวมไปถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจและสังคมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โดยมีความก้าวหน้ามากขึ้นในด้านการมีส่วนร่วมในความร่วมมือและความคิดริเริ่มต่างๆ ซึ่งสามารถเห็นได้จากการที่ธนาคารมีการประสานงานกับหน่วยงานกำกับดูแลในประเด็นเกี่ยวกับการบูรณาการหลักเกณฑ์ ESG และการเงินยั่งยืน (Sustainable Finance) เพื่อยกระดับดำเนินงานของภาคการธนาคารในประเทศ ตลอดจนเพื่อต่อสู้กับความ
ท้าทายและบรรเทาความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้าอยู่ในปัจจุบัน

นางสาวพิมพ์ภาวดี พหลโยธิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WWF ประเทศไทย กล่าวว่า “ภาคการธนาคารของประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ในเรื่องของการตระหนักถึงบทบาทสำคัญในการนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่มีความยั่งยืน พร้อมทั้งการมีส่วนช่วยสนับสนุนวาระระดับสากลในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการสร้างความมุ่งมั่นที่เข้มแข็งด้านความยั่งยืน ซึ่งนำโดยธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย ที่ผ่านมา ธนาคารต่างๆ ในประเทศไทยได้ร่วมมือกันพัฒนาและดำเนินงานตามหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อของธนาคารที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้นรวมถึงการจัดทำแนวทางการดำเนินกิจการธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking Guidelines) เรื่องการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) ซึ่งได้มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการในปีที่ผ่านมา”

โดยธนาคารในประเทศอื่นอย่างธนาคารญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะทำคะแนนประเมินได้ดีภายใต้หัวข้อการประเมินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ โดยทุกธนาคารเปิดเผยอย่างชัดเจนในด้านการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ กลยุทธ์ การจัดการความเสี่ยง ตัวชี้วัด และเป้าหมาย ซึ่งสอดคล้องกับข้อแนะนำของคณะทำงานด้านการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-related Financial Disclosures:TCFD) ทั้งยังมีผลประเมินเชิงบวกในด้านผลิตภัณฑ์ ซึ่งธนาคารส่วนใหญ่ไม่เพียงนำเสนอและเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หากแต่ยังสนับสนุนลูกค้าในเชิงรุกมากขึ้นด้วยการบริการให้คำปรึกษาหรือดำเนินกิจกรรมที่สร้างความตระหนักรู้ส่วนธนาคารเกาหลีใต้สามารถทำคะแนนประเมินได้ดีด้านการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการนำความยั่งยืนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ในระยาว ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับธนาคารจากภูมิภาคอาเซียน

ประเด็นสำคัญที่พบจากการประเมินธนาคารในกลุ่มประเทศอาเซียน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

  • ธนาคารญี่ปุ่นทั้ง 5 แห่งและร้อยละ 60 ของธนาคารเกาหลีใต้มีการวางกลยุทธ์รองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมีรายชื่อเป็นผู้สนับสนุน TCFDในขณะที่ร้อยละ 24 ของธนาคารในภูมิภาคอาเซียนมีกลยุทธ์เพื่อจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มมากกว่าปี 2562 ถึง4เท่า แม้จะนับได้ว่าเป็นความก้าวหน้า แต่ธนาคารในภูมิภาคอาเซียนยังคงตามหลังธนาคารในภูมิภาคอื่น
  • ร้อยละ 34 ของธนาคารในภูมิภาคอาเซียนมีความตระหนักถึงความเสี่ยงจากการทำลายป่า(Deforestation) และความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) โดยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยกว่าปีที่แล้ว 3 แห่ง
  • มีธนาคารเพียงร้อยละ 21 ในภูมิภาคอาเซียนและร้อยละ 20 ธนาคารในเกาหลีใต้ตระหนักถึงความเสี่ยงของทรัพยากรน้ำนอกเหนือจากเรื่องของมลพิษ ทั้งนี้ ความเสี่ยงด้านทรัพยากรน้ำมีสาระสำคัญมากต่อภาคธุรกิจ
    โดยมีมูลค่าความเสี่ยงสูงถึง 425,000 ล้านเหรียญสหรัฐทั่วโลก
  • จากการวิเคราะห์รายละเอียดของภาคส่วนธุรกิจและประเด็นปัญหาต่างๆ (Sectors and Issues) ยังพบว่าหากธนาคารยังคงดำเนินกิจกรรมการเงินที่เกี่ยวข้องกับโครงการถ่านหินธนาคารเหล่านี้จะเผชิญกับความเสี่ยงอันเกิดจากการเปลี่ยนผ่านที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ เช่นภาษีคาร์บอน และความล้าหลังทางเทคโนโลยีของโครงการที่ธนาคารให้สินเชื่อ

นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่ธนาคารได้ตั้งเป้าหมายเชิงปริมาณที่จะเพิ่มการสนับสนุนเงินทุนสำหรับโครงการหรือธุรกิจที่มีความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งธนาคารสามารถนำแนวทางที่เป็นเชิงกลยุทธ์มากขึ้นไปปรับใช้ โดยการกำหนดเป้าหมายตามหลัก Science-based targets หรือ SBTiเพื่อลดปริมาณคาร์บอนในพอร์ตโฟลิโอของธนาคาร

“ในปีนี้ธนาคารหลายแห่งได้การพัฒนาอย่างก้าวหน้าขึ้นมาก ทว่าการรักษาระดับความก้าวหน้าแบบนี้ต่อไปในปี 2564 ก็เป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่จะมีความสำคัญเป็นอย่างมากเนื่องจากโลกกำลังต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธนาคารจึงมีบทบาทสำคัญ โดยขณะที่ธนาคารช่วยให้ธุรกิจฟื้นตัวจากการแพร่ระบาด ธนาคารเป็นหัวใจสำคัญในการชี้นำต่อประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและเหตุการณ์ฉุกเฉินของธรรมชาติ วิกฤตนี้แสดงให้เห็นว่าสังคมต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากธรรมชาติมากขึ้นกว่าเดิม แต่ด้วยการดำเนินการแก้ไขที่ถูกต้องเราจะกลับมาเข้มแข็งมากกว่าเดิม” ดร. คีท ลี รองประธานอาวุโสด้านการเงินยั่งยืนในเอเชียจาก WWF กล่าวสรุป

_______________________________
*ในรายงานปีนี้ ยังมีธนาคารธนชาตรวมอยู่ด้วย เนื่องจากการประเมินนี้ประเมินจากรายงานประจำปี รายงานความยั่งยืนปี 2562 หรือสิ่งที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ จนถึง 31 ตุลาคม 2563

เกี่ยวกับรายงานการประเมินความยั่งยืนของธนาคาร

รายงานฉบับนี้อัพเดทจาก ‘Sustainable Banking in ASEAN’ ของ WWF ในปี 2562 โดยเก็บผลสำรวจจากธนาคารในอาเซียน 38 แห่งใน 6 ประเทศ ธนาคารญี่ปุ่น 5 แห่ง และธนาคารเกาหลีใต้ 5 แห่ง เปรียบเทียบกับชุดตัวบ่งชี้ที่แสดงถึงการบูรณาการด้าน ESG หรือหลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล บนขอบเขต 6 ด้านอันได้แก่เป้าหมาย (Propose) นโยบาย (Policies) กระบวนการ (Processes) บุคลากร (People) ผลิตภัณฑ์ (Products) และพอร์ตโฟลิโอ (Portfolio) ยิ่งไปกว่านั้น การวิเคราะห์ต่อภาคส่วนและประเด็นใหม่ๆ ทำให้สามารถเจาะประเด็นไปยังด้านนโยบายได้มากขึ้น เปรียบเทียบภาระผูกพันของธนาคารและความคาดหวังของลูกค้า ผลลัพธ์จะถูกนำเสนอในรูปแบบของเว็บไซต์ (www.susba.org) ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้สามารถเปรียบเทียบธนาคารและตัวชี้วัดที่เลือกตามความต้องการของพวกเขา

หลักเกณฑ์การประเมินนี้จะพิจารณาจากข้อมูลภาษาอังกฤษที่เปิดเผยต่อสาธารณะและได้รับการเผยแพร่ก่อนวันที่ 31 ตุลาคม 2563  ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปแบบของรายงานประจำปี 2562 รายงานความยั่งยืน หรือ รายงานความรับผิดชอบต่อสังคม รวมไปถึงข้อมูลที่เผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ขององค์กร

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF สำนักงานประเทศไทย ในฐานะองค์กรวิทยาศาสตร์ ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์มาอย่างยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ และ WWF ถือเป็นหนึ่งในองค์กรขนาดใหญ่ที่สุดระดับโลกที่มุ่งมั่นทำงานด้าน การอนุรักษ์ ปัจจุบัน WWF มีผู้สนับสนุนมากกว่า 5 ล้านคนจากทั่วโลกและเครือข่ายขององค์กรทำงานร่วมกันในกว่า 100 ประเทศ พันธกิจของ WWF คือการหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาวะธรรมชาติของโลกในเชิงลบ และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนของโลก ที่มีมนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติได้อย่างมีความสมดุลด้วยการอนุรักษ์สภาพชีววิทยาที่หลากหลาย และมุ่งทำงานเพื่อรักษา ทรัพยากรด้านพลังงานให้ถูกนำกลับมาใช้งานอย่างสมดุลและยั่งยืน รวมทั้งสนับสนุนการทำงานเพื่อหยุดยั้งมลพิษและการบริโภค ที่เกินพอดี สามารถศึกษาข้อมูลการทำงานของเราเพิ่มเติมได้ที่ www.wwf.or.th

ทั้งนี้ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ขอแสดงความขอบคุณต่อผู้บริจาคต่อไปนี้ที่ให้ทุนในการทำรายงานแก่เรา มูลนิธิ Gordon and Betty Moore Foundation;International Climate Initiative (IKI) และ The Federal Ministry of the Environment, Nature Conservation and Nuclear Safety (BMU)สนับสนุนความคิดริเริ่มนี้บนพื้นฐานของการตัดสินใจที่นำโดย Bundestag ของเยอรมัน ความคิดเห็นที่แสดงในเอกสารฉบับนี้ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน แต่เพียงผู้เดียวและไม่จำเป็นต้องสะท้อนถึงความเห็นของ BMU