ผลวิจัยล่าสุดโดยพรูเด็นเชียล และ EIU เผยเทรนด์ดิจิทัลเฮลธ์มาแรงในเอเชีย แนะเพิ่มความร่วมมือรัฐ-เอกชนเพื่อศักยภาพที่เหนือกว่า

  • 88 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศไทยมีการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในการเข้ามาช่วยดูแลจัดการสุขภาพส่วนตัว ซึ่งสูงเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียนที่มีการทำแบบสำรวจ
  • 81 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มผู้ทำแบบสอบถามในภูมิภาคเอเชียระบุว่าเทคโนโลยีช่วยให้พวกเขาเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น
  • 71 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มผู้ทำแบบสอบถามในภูมิภาคเอเชียเชื่อว่าอนาคตพวกเขาจะไว้วางใจในเทคโนโลยีได้มากขึ้นในแง่ของการช่วยเสริมสร้างสุขภาพของตนเองที่ดีขึ้น
  • รายงาน Asia-wide ฉบับใหม่เสนอให้เพิ่มความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของเทคโนโลยีดิจิทัลเฮลธ์

บริษัท พรูเด็นเชียล คอร์ปอเรชั่น เอเชีย (พรูเด็นเชียล) ได้เผยผลการศึกษาล่าสุดในหัวข้อ “The Pulse of Asia – The Health of Asia Barometer” ซึ่งจัดทำโดย The Economist Intelligence Unit (EIU) หน่วยงานวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจของนิตยสารชั้นนำระดับโลก “The Economist” โดยเป็นงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าเทคโนโลยีดิจิทัลเฮลธ์ได้มอบโอกาสให้คนในเอเชียสามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

งานวิจัยฉบับนี้ ได้ทำการศึกษาด้านทัศนคติของคนที่มีต่อการสาธารณสุขในเอเชีย โดยให้ความสำคัญเรื่องความต้องการด้านเครื่องมือและบริการที่จะช่วยนำทางให้ผู้คนในภูมิภาคนี้สามารถเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ งานวิจัยยังให้ความสำคัญในการศึกษาถึงโอกาสสำหรับภาครัฐในด้านความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาศักยภาพของดิจิทัล เฮลธ์แคร์ (Digital Healthcare) อีกด้วย

เมื่อการยอมรับเทคโนโลยีด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด

การศึกษาฉบับนี้ได้ทำการสำรวจประชากรในวัยที่บรรลุนิติภาวะจำนวน 5,000 รายในตลาดเป้าหมาย 13 แห่งทั่วทั้งทวีปเอเชีย โดยพบว่ามากกว่าครึ่งของผู้ทำแบบสอบถาม (54 เปอร์เซ็นต์) เชื่อว่าพวกเขาสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสามารถชำระค่าใช้จ่ายนั้นได้ และที่น่าสนใจกว่าคือ น้อยกว่าหนึ่งในสี่ (22 เปอร์เซ็นต์) สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในการออกกำลังกายและฟิตเนสได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งช่วยให้พวกเขาสามารถดูแลสุขภาพให้ดียิ่งขึ้นได้ในปีใหม่นี้

อย่างไรก็ตาม การวิจัยของทั่วภูมิภาคเอเซียนี้ยังเน้นย้ำถึงศักยภาพของเทคโนโลยีที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการรับมือกับความท้าทายที่ว่านี้  โดยสี่ในห้า (81 เปอร์เซ็นต์) ของผู้ทำแบบสำรวจ กล่าวว่า เทคโนโลยีได้ช่วยทำให้การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพดียิ่งขึ้น และสองในสาม (60 เปอร์เซ็นต์) เชื่อว่าเทคโนโลยียังช่วยเพิ่มความสามารถในการชำระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้อีกด้วย

และนับจากนี้ไปอีกสามปีก็ยังไม่มีสัญญาณใด ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าความต้องการของผู้บริโภคที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลด้านสุขภาพจะลดน้อยลงแต่อย่างใด โดย 71 เปอร์เซ็นต์ของผู้ทำแบบสอบถามกล่าวว่าพวกเขาจะยิ่งให้ความไว้วางใจกับเทคโนโลยีมากขึ้นเพื่อจะได้มีสุขภาพร่างกายและความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้นต่อไป

จากการสำรวจพบว่า 88 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศไทย ได้มีการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลเฮลธ์เข้ามาช่วยเหลือในการดูแลจัดการสุขภาพส่วนตัว รวมไปถึงอุปกรณ์วัดความดันเลือด สมาร์ทวอทช์ อุปกรณ์ตรวจจับการเคลื่อนไหวแบบสวมใส่ ซึ่งผลสำรวจนี้แสดงนัยยะว่าประชากรชาวไทยมีความตระหนักด้านสุขภาพ และเทคโนโลยีด้านดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของพวกเขา อย่างไรก็ตาม ราคาของอุปกรณ์ และเรื่องของเวลาในการใช้งาน อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจในการเลือกใช้เทคโนโลยีเหล่านี้

ความร่วมมือของรัฐและเอกชน หนทางสู่ความก้าวหน้าในด้านการสาธารณสุข

เพื่อให้การพัฒนาศักยภาพของดิจิทัล เฮลธ์แคร์ไปได้ถึงขีดสุด รายงานของ EIU ฉบับนี้ยังเสนอแนะเกี่ยวกับการเพิ่มความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนให้มากขึ้น โดยแนะนำว่ารัฐบาลควรร่วมมือกับผู้ประกอบการภาคเอกชนในการนำเสนอวิถีทางที่เป็นนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อส่งเสริมและจัดการในด้านสุขภาพที่ดี

ในรายงานได้เน้นให้เห็นถึงโอกาสสำหรับรัฐบาลในการปรับปรุงข้อมูลด้านการสาธารณสุขผ่านช่องทางดิจิทัล  โดยจากผลสำรวจพบว่า โซเชียลมีเดียได้กลายเป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงด้านสุขภาพส่วนบุคคลและข้อมูลในการดูแลสุขภาพที่ดีที่คนเข้าถึงบ่อยที่สุด  อย่างไรก็ตาม ผู้ทำแบบสอบถามยังเห็นด้วยอีกว่าอย่างไรเสียแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่สุดยังคงเป็นข้อมูลที่ได้จากรัฐบาลและหน่วยงานด้านสาธารณสุข  ดังนั้นรัฐบาลสามารถใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาแหล่งข้อมูลด้านสุขภาพของตนเองให้มีคุณภาพและน่าเชื่อถือที่สุดให้กับประชาชน

นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้ยังได้เสนอแนะเพิ่มเติมว่ารัฐบาลควรมุ่งไปที่การส่งเสริมเครื่องมือที่เชื่อมต่อด้านสุขภาพ แต่สิ่งเหล่านี้ยังต้องมีการวางรากฐานที่มั่นคงบนหลักธรรมาภิบาลข้อมูลอย่างเคร่งครัด  การรักษาความปลอดภัยของข้อมูลจะช่วยให้ข้อมูลด้านสุขภาพถูกรวบรวมเข้าสู่ส่วนกลางอย่างปลอดภัย และยังช่วยเพิ่มความสามารถให้รัฐบาลกำหนดนโยบายและสร้างสาธารณูโภคทางด้านสาธารณสุขตามที่วางเป้าหมายไว้ได้ดียิ่งขึ้น

นายนิค นิแคนดรู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พรูเด็นเชียล คอร์ปอเรชั่น เอเชีย กล่าวว่า “งานวิจัยที่น่าสนใจชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าขณะที่ภูมิภาคเอเชียได้เริ่มเปิดรับเทคโนโลยีดิจิทัลเฮลธ์แล้วนั้น ขณะเดียวกันก็ยังคงต้องหาหนทางที่จะให้คนในภูมิภาคนี้ได้ตระหนักถึงศักยภาพที่แท้จริงว่าเทคโนโลยีสามารถให้อะไรแก่พวกเขาได้ ด้านภาครัฐและเอกชนเองควรทำงานร่วมกันเพื่อทำให้โอกาสเหล่านี้เป็นจริงขึ้นมาให้ได้ นั่นคือการเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้กับคนทุกคน”

“การทำให้ดิจิทัล เฮลธ์แคร์เป็นจริงขึ้นมาได้นั้นเป็นส่วนสำคัญในความพยายามของ พรูเด็นเชียล  ซึ่งเราได้ดำเนินการผ่านแอปพลิเคชัน “Pulse by Prudential” ที่เราได้ร่วมกับพันธมิตรของเราในการนำเสนอนวัตกรรมสุดล้ำที่ช่วยให้ข้อมูลและคำแนะนำทางด้านสุขภาพ นอกจากนี้ยังรวมถึงการเข้าถึงบริการทางการแพทย์จากบุคลากรวิชาชีพอีกด้วย โดยเป้าหมายของเราก็เพื่อให้คนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพที่ดี และมีชีวิตยืนยาวยิ่งขึ้น” นาย นิแคนดรู กล่าวเสริม

นายชาร์ลส รอสส์ บรรณาธิการอำนวยการ หน่วยงานวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจ (EIU) The Economist กล่าวว่า “งานวิจัยของเราสะท้อนให้เห็นว่าการทำให้เรื่องของสุขภาพเป็นสิ่งที่เข้าถึงและราคาสมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้นนั้น ภาครัฐและภาคเอกชนจำเป็นจะต้องร่วมมือกัน สิ่งสำคัญในการทำงานคือเลิกการเก็บข้อมูลแบบ silos ที่มีหน่วยงานด้านสาธารณสุขเพียงหน่วยงานเดียวสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลดังกล่าวได้ และควรสร้างการเชื่อมต่อที่มีความปลอดภัยระหว่างแอปพลิเคชันด้านสุขภาพต่าง ๆ เครื่องมือ และบันทึกข้อมูลผู้ป่วยแบบดิจิทัลที่รวมไว้ในส่วนกลาง”

หมายเหตุ

เกี่ยวกับ Pulse of Asia – Health of Asia Barometer

พรูเด็นเชียล ได้ดำเนินการ Pulse of Asia – Health of Asia Barometer ขึ้น เพื่อนำเสนอข้อมูลที่สำคัญและน่าสนใจเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้คนในภูมิภาคนี้หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลและเสริมสร้างสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น โดยอ้างอิงจากการสำรวจประชากรจำนวน 5,000 คนจาก 13 ประเทศและดินแดนทั่วทั้งเอเชีย ประกอบด้วย กัมพูชา จีน เขตปกครองพิเศษฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม โดยผู้ทำแบบสำรวจมีอายุระหว่าง 21 ถึง 55 ปี กระจายในหลายกลุ่มช่วงรายได้

สามารถชมรายงานการวิจัยฉบับเต็มได้ที่ pulseofasia.economist.com

เกี่ยวกับ พรูเด็นเชียล คอร์ปอเรชั่น เอเชีย

https://www.prudentialcorporation-asia.com/

พรูเด็นเชียล คอร์ปอเรชั่น เอเชีย เป็นหนึ่งในธุรกิจของกลุ่มบริษัทพรูเด็นเชียล (Prudential plc) ดำเนินธุรกิจด้านการประกันชีวิตในภูมิภาคเอเชียและแอฟริกา รวมถึงดำเนินธุรกิจการบริหารและจัดการกองทุนรวม ภายใต้ชื่อ อีสท์สปริง อินเวสเมนทส์ (Eastspring Investments) พรูเด็นเชียลช่วยให้ผู้คนไปให้ถึงจุดมุ่งหมายสูงสุดในชีวิตผ่านผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตประเภทการออม ความคุ้มครอง และการลงทุน ซึ่งตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ฮ่องกง

พรูเด็นเชียล เป็นผู้นำด้านธุรกิจประกันชีวิตใน 13 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ กัมพูชา จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม และยังดำเนินธุรกิจในอีก 8 ประเทศในทวีปแอฟริกา ได้แก่ แคเมอรูน ไอวอรีโคสต์ กานา เคนยา ไนจีเรีย โตโก และยูกันดา ทั้งนี้พรูเด็นเชียลออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมและมีความสร้างสรรค์ เพื่อตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันของลูกค้ากว่า 16 ล้านรายในทวีปเอเชียและแอฟริกา ผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลาย

อีสท์สปริง อินเวสเมนทส์ (Eastspring Investments) บริหารและจัดการการลงทุนให้แก่กลุ่มลูกค้ารายย่อยและลูกค้าสถาบันทั่วภูมิภาคเอเชีย โดยกว่าครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์ มาจากผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตและบำนาญซึ่งจัดจำหน่ายโดยกลุ่มบริษัทพรูเด็นเชียล และเป็นหนึ่งในบริษัทจัดการสินทรัพย์ที่ใหญ่ทีสุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค ดำเนินธุรกิจใน 11 ประเทศ รวมถึงสำนักงานขายในทวีปอเมริกาเหนือและทวีปยุโรป โดยมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการคิดเป็นมูลค่า 220 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563) ผ่านการบริหารกองทุนหลากหลายประเภท รวมถึงหุ้นทุนและตราสารหนี้

*กลุ่มบริษัทพรูเด็นเชียล จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน (PRU.L) ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (2378.HK) ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (K6S.SG) และตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (PUK.N) กลุ่มบริษัทพรูเด็นเชียลมิได้มีนิติสัมพันธ์หรือความเกี่ยวข้องใดๆ กับ Prudential Financial, Inc. ซึ่งเป็นบริษัทฯ ที่มีสถานประกอบธุรกิจหลักในสหรัฐอเมริกา หรือ Prudential Assurance Company ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ M&G plc ที่จดทะเบียนดำเนินธุรกิจในสหราชอาณาจักร