“พระมหาสมปอง” เจ้าของแบรนด์ “ธรรมะเดลิเวอรี่” ที่ถูกใจทุกกลุ่มทุกวัย โดยนำ “ธรรมะ” เชื่อมโยงคนยุคใหม่ด้วยการฉีกแนวการเทศน์แบบเดิมๆ ไม่ใช้ใบลาน ไม่ต้องนั่งธรรมาสน์ ไม่ใช้น้ำเสียงเรียบเย็น แต่มีโน้ตบุ๊ก พรีเซนเตชั่นทั้งพาวเวอร์พอยต์และภาพเคลื่อนไหว พร้อมยิงมุกให้ได้ฮาเป็นระยะ ด้วยคอนเซ็ปต์ สนุก สาระ แต่จบแบบซาบซึ้ง เพื่อให้ผู้ฟังเข้าถึงความสงบตามแก่นของธรรมะ ทั้งหมดได้จัดการอย่างเป็นระบบ เป็นกุศโลบาย เพื่อให้การส่งธรรมะถึงผู้รับได้อย่างสะดวกและทั่วถึงมากที่สุด นี่คือเป้าหมายการเผยแผ่พุทธศาสนาในแบบฉบับของ “พระมหาสมปอง”
“วันนี้อาตมาไปบรรยายที่บริษัทหนึ่งมา ก็ถามไปว่าจุดยืนคืออะไร” พระมหาสมปองเงียบสักพักก่อนจะบอกกับทีม POSITIONING ว่า ”ก็ที่เรายืนนั่นเอง”
ฮาแรกสาดมาแบบไม่ทันตั้งตัวจากพระมหาสมปอง ที่ทำให้ทีม POSITIONING คอนเฟิร์มได้ว่า ”หลวงพี่มาแล้ว”
“มุกฮา” เพื่อให้ธรรมะไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ เกิดจากสิ่งที่พระมหาสมปองบอกว่า ”อาตมาเริ่มต้นจากความชอบ” จากที่เห็นพระรุ่นใหญ่หลายท่านเทศน์ได้เข้าถึงผู้คนแบบไม่ต้องนั่งธรรมาสน์ อย่าง ท่านหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ พระครูอุดมธรรมวาที ท่าน ว.วชิรเมธี หลวงพ่อพยอม กัลยาโณ ที่กรุยทางการเทศน์แบบยิงมุกมาก่อน เมื่อมีชื่อเสียง ก็มีโอกาสเผยแผ่ธรรมะได้มากขึ้น
การเทศน์ด้วยการยิงมุกเต็มที่ และร่วมสมัย ทำให้พระมหาสมปองมีชื่อเสียงตามตั้งใจ โดยเริ่มต้นจากการบอกปากต่อปากในช่วงเริ่มต้นที่ติดต่อเทศน์ตามโรงเรียน สถาบันการศึกษา จนได้ออกรายการทีวี โดยเฉพาะรายการ ”มันแปลกดีนะ” จนมาถึงรายการ “เจาะใจ” จากนั้นเริ่มมีรายการ ”ธรรมะเดลิเวอรี่” ที่ออนแอร์ในช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์ ที่ผลิตรายการโดยค่ายแกรมมี่ จึงทำให้พระมหาสมปอง บอกว่าได้สังกัดค่ายแกรมมี่ไปโดยปริยาย (ฮา) มีการออกอัลบั้ม (ซีดี) ธรรมะเดลิเวอรี่ตามมา และมีรายการหลวงพี่มาแล้ว ออนแอร์ช่อง 3 ในค่ายของกันตนา
พระมหาสมปองจึงเป็นที่รู้จักโดยผ่านสื่อแมสอย่างทีวีมาก่อน จากนั้นจึงเริ่มมีพ็อกเกตบุ๊ก จากการที่นักเรียน วัยรุ่นได้รับฟังการเทศน์จากพระมหาสมปองในโรงเรียนมาก่อน พ็อกเกตบุ๊กในยุคแรกๆ จึงเน้นไปที่กลุ่มวัยรุ่น อย่างธรรมะเดลิเวอรี่ (วัยรุ่น) จากนั้นจึงมาที่กลุ่มคู่รัก ครอบครัว วัยทำงาน และวัยเกษียณ กับการออกรายการทีวีต่างๆ เป็นระยะ ตั้งแต่ ตีท้ายครัว วีไอพี จนถึง เอเอฟ 6-7 เข้าถึงแมสอย่างไม่ต้องสงสัย
พลังของพ็อกเกตบุ๊ก และสื่อต่างๆ ที่ทำให้มีชื่อเสียง ทำให้พระมหาสมปองมีแผนต้องออกพ็อกเกตบุ๊กอย่างต่อเนื่อง 2-3 เล่มต่อปี ในทุกงานนิทรรศการหนังสือที่จัดปีละ 2 ครั้ง ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมาออกไปแล้วหลายสิบเล่ม ยอดขายเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าหมื่นต่อเล่ม จากหลายสำนักพิมพ์ โดยมีตั้งแต่ธรรมะทั่วไปจนถึงฉบับการ์ตูน แต่ที่มีจุดเชื่อมโยงคือพระมหาสมปองได้ให้คอนเซ็ปต์มีรูปของท่านอยู่เพราะคนจดจำได้แล้วจากการออกทีวีบ่อยครั้ง และการตั้งชื่อหนังสือให้ทันตามกระแสและเข้าใจง่าย จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของสำนักพิมพ์ดำเนินการต่อ อย่างเช่น ขอเป็นพระเอกในหัวใจโยม หรือล่าสุด เทศน์ทั่วไทย ที่พ้องกับคำว่าเที่ยวทั่วไทย โดยไม่ได้เป็นพรีเซ็นเตอร์ให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แต่ต้องการนำมาชื่อที่คุ้นหูมาเป็นจุดขาย
ส่วนการบรรยายธรรม ในปี 2554-2555 จะเน้นไปที่บริษัทองค์กร และยังกำลังพิจารณาบทหนังของค่ายหนังแห่งหนึ่งว่าจะร่วมแสดงตามคำเชิญหรือไม่ และจะเป็นรูปแบบไหนจึงจะเหมาะสำหรับความเป็นพระสงฆ์
ปัจจุบันพระมหาสมปองมีงานบรรยายธรรมเดือนละกว่า 100 งานในช่วงเวลาเพียงประมาณ 3 ปี ด้วยความรู้สึกคุ้นเคยในการเทศน์ต่อหน้าผู้คนจำนวนมาก รู้จังหวะการเทศน์ว่าจะต้องโยนมุกออกไปอย่างไร ตอนไหน ซึ่งต่างจากการเทศน์ในวันแรกเมื่อครั้งยังเป็นเณรวัย 13 ปี ที่เพิ่งบวชไม่ถึงปี แต่ต้องเทศน์ให้ชาวบ้านในต่างจังหวัดฟัง ด้วยเนื้อหาศีล 5 เท่านั้น แต่ได้รับคำชมจากชาวบ้านด้วยมุกให้เลิกบุหรี่ที่ว่า เพียงแค่อ้าปาก บุหรี่ก็หลุดจากปากแล้ว เพียงแค่นั้นพระมหาสมปองก็บอกว่า ”เป็นสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ากำลังใจ” (ย้ำว่าไม่ใช่ชื่อหนัง “สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก”) โอกาสการเทศน์มากขึ้น โอกาสปล่อยมุกก็มากขึ้น งานใหม่ก็ตามมา
วิธีการส่งธรรมะเดลิเวอรี่นั้น พระมหาสมปองสรุปว่าต้องทำตามหลัก 5 ส. คือ1.สนุก ที่เปรียบเสมือนแพ็กเกจที่สวยงาม ดึงให้คนมาสนใจ เปิดใจรับฟัง อยู่ในกรอบสนุกที่ไม่ผิด เหมาะสมไม่ถูกติเตียน แล้วใส่ธรรมะคือ2.สาระ ได้ 3.ความสงบ มี4.สติ สมาธิและ5.สำนึกจากความซาบซึ้งที่ต้องปิดท้ายการเทศน์ทุกครั้ง เพื่อให้เกิดความสมดุลแบบไม่ใช่ฮาอย่างเดียวแต่ไม่ได้อะไร
การเทศน์ได้สนุกและได้สาระที่สำคัญคือการมีความรู้นอกจากการศึกษาพระธรรมแล้ว ยังต้องรู้เรื่องราวรอบตัวข่าวสารบ้านเมือง ข่าวทั่วไปตั้งแต่บันเทิงจนถึงกีฬา ทุกวันนี้พระมหาสมปองบอกว่าอ่านหนังสือพิมพ์รายวันทุกเช้าอย่างน้อยวันละ 5 ฉบับหลักๆ อ่านข่าวจากเว็บไซต์ ดูทีวีได้ข้อคิด แม้แต่การดูโฆษณาทุกวันนี้ก็นำมาพูดได้ ทุกอย่างเพื่อให้ร่วมยุคสมัยโยงกระแสปัจจุบันไปสู่การสอนธรรมะได้ไม่น่าเบื่อ
พระมหาสมปองบอกว่า ตามหลักอิทธิบาท 4 เมื่อมีฉันทะ ความชอบ ความรักแล้ว จะมีวิระยะ จิตตัง วิมังสา จึงทำได้นาน จะมีผลตอบแทนหรือไม่ก็ตาม แม้ปัจจุบันจะมีค่าบรรยายครั้งหนึ่งในหลักหมื่น แต่ก็นำเงินส่วนหนึ่งไปช่วยเหลือต่อในอีกหลายแห่งที่ขาดแคลน แต่ที่สุดแล้ว คือได้ผลตอบแทนทางใจ คือมีความสุขที่ได้เผยแผ่ธรรมะมากกว่า ในหลักที่ยึดว่า ”การให้ธรรมะชนะการให้ทั้งปวง” นี่คือสิ่งที่พระมหาสมปองบอกว่าอยู่ในวิสัยที่ทำได้ง่ายกว่าการหาเงินสร้างตึก และเห็นว่าความรู้และการพัฒนาคนด้วยคุณธรรม จริยธรรม เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะสามารถพัฒนาประเทศไทยได้ในอนาคต