พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก พระป่าสายเลือดเซน

สำหรับพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก การกล่าวว่าท่านคือพระป่าสายเลือดเซน เป็นเพียงการบรรยายลักษณะภายนอกจากเชื้อสายในฐานะที่ท่านเป็นชาวญี่ปุ่น ที่สละเพศฆราวาสเข้ามาบวชเรียนจนเป็นพระอาจารย์สายปฏิบัติที่มีชื่อท่านหนึ่งของเมืองไทย มีลูกศิษย์ลูกหาทางธรรมที่ติดตามคำสอนและปฏิบัติตามแนวทางของท่านมากมาย

บุคลิกของพระอาจารย์มิตซูโอะ ก็ไม่แตกต่างจากความเป็นเซน นั่นคือมีความเรียบง่ายและนิ่งสงบ เข้าใจง่ายเหมือนธรรมะที่ท่านแสดง อีกทั้งยังเหมือนกับหนังสือธรรมะซึ่งเป็นผลงานของท่านอีกหลายเล่ม ก็มีกลิ่นอายเช่นเดียวกันนี้ ด้วยภาพวาดประกอบเรียบง่าย ลายเส้นน้อยๆ มองแล้วสบายใจ

ปัจจุบันพระอาจารย์มิตซูโอะจำพรรษายู่ที่วัดป่าสุนันทวราราม บ้านลิ่นถิ่น ต.ท่าเตียน อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เป็นวัดที่รู้จักในฐานะวัดป่าสายวิปัสสนา มีแนวการปฏิบัติแบบอานาปานสติภาวนา ซึ่งมีการเปิดอบรม “อานาปานสติภาวนา” แก่ผู้สนใจครั้งละ 9 วัน ครั้งละมากถึง 100-150 คน ด้วยแนวปฏิบัติที่เคร่งครัดโดยรับประทานอาหารเพียงวันละ 1 มื้อ

พระอาจารย์มิตซูโอะ เป็นพระที่มีผลงานทางธรรมเผยแพร่ในรูปของหนังสือมานาน และเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อลูกศิษย์ที่ศรัทธาพิมพ์เผยแพร่ผลงานของท่านอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือสำนักพิมพ์ดีเอ็มจี ของดนัย จันทร์เจ้าฉาย ซึ่งนำผลงานของท่านจัดพิมพ์เป็นหนังสือธรรมะในรูปแบบพ็อกเกตบุ๊กสีสันสดใส ตามปีซึ่งพระอาจารย์มิตซูโอะได้เขียนไว้และมักจะแบ่งตามปีที่เขียน

หนังสือชุดดังกล่าวเคยได้รับการจัดพิมพ์เป็นเล่มขนาดเท่าฝ่ามือวางขายตามสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส เล่มละ 10 บาท ให้ผู้สนใจซื้อและหยอดเงินด้วยตัวเอง ซึ่งความเป็นหนังสือธรรมะที่หยิบจับง่าย รูปเล่มสีสันสวยงาม เนื้อหาสั้นๆ ของแต่ละบท ทำให้ผลงานของพระอาจารย์มิตซูโอะเข้าถึงกลุ่มคนที่ยังไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ธรรมะจากท่านโดยตรง

“งานของท่านอาจารย์มิตซูโอะเหมือนก๋วยเตี๋ยว จึงมีทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ชอบ ทานง่าย” ดนัย จันทร์เจ้าฉาย กล่าวถึงลักษณะงานเขียนของท่านอาจารย์มิตซูโอะ ซึ่งเขาบอกว่า ท่านเป็นผู้ที่มีลูกศิษย์ติดตามฟังธรรมจำนวนมาก ดังจะเห็นได้จากเมื่อไรที่ท่านมาบรรยายที่หอประชุมพุทธคยา ก็จะมีสานุศิษย์เข้ามาฟังอย่างเนืองแน่นครั้งละไม่น้อยกว่า 500 คน

ในขณะที่สำนักพิมพ์อมรินทร์มองเห็นถึงแนวโน้มกลุ่มคนอ่านบางกลุ่มที่นิยมธรรมะแนวเรียบง่าย จึงนำมาตีพิมพ์ด้วยรูปเล่มที่เน้นความเรียบง่าย ดูสบายใจ

“แนวธรรมะของท่านจะเป็นสไตล์เซน เรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง ช่วงหลังจะมีคนจำนวนไม่น้อยที่นิยมหันมาศึกษาธรรมะแนวเซนกันมากขึ้น เป็นกลุ่มผู้ใหญ่ และคนทำงาน”

ด้วยชื่อและฉายาที่ฟังดูแปลก ยิ่งทำให้คนสนใจศึกษาประวัติของท่าน และนั่นคือส่วนหนึ่งที่ช่วยเพิ่มเติมความเลื่อมใสศรัทธาให้กับผู้ที่มีโอกาสได้รู้จักท่านมากขึ้น ว่าเพราะเหตุใด คนต่างนิกายอย่างอดีตชาวญี่ปุ่นท่านนี้ จึงลงหลักปักฐานชีวิตกับพุทธศาสนาอย่างจริงจังในเมืองไทย

ประวัติของท่านมิตซูโอะ เป็นชาวญี่ปุ่น อุปสมบทเมื่อ พ.ศ. 2518 ที่วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีหลวงพ่อพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ จำพรรษาที่วัดหนองป่าพงและดูแลหลวงพ่ออย่างใกล้ชิดเป็นเวลานาน และเป็นหนึ่งในคณะผู้บุกเบิกวัดป่านานาชาติ

ก่อนจะมาตั้งวัดป่าสุนันทวราราม ซึ่งถือเป็นสาขาที่ 117 ของวัดป่าหนองป่าพง ท่านปฏิบัติธรรม ธุดงค์ ทั้งในไทยและในต่างประเทศ และบำเพ็ญเพียรหลายรูปแบบทั่วทุกภาคของเมืองไทย จนตระหนักถึงศรัทธาที่คนไทยมีต่อพุทธศาสนา ทั้งที่ก่อนหน้านั้นท่านเคยคิดเสมอว่าชีวิตน่าจะมีอะไรดีกว่านี้ จึงเดินทางเพื่อแสวงหา ทั้งตามรอยพระพุทธเจ้าไปถึงพุทธคยา ฝึกโยคะที่สำนักโยคีอินเดียจนเกิดความพอใจจนคิดจะปักหลักเป็นโยคีที่อินเดียตลอดชีวิต แต่ด้วยความบังเอิญที่วีซ่าหมดจึงมีเหตุให้ได้มาเมืองไทย เพราะมีผู้แนะนำให้เดินทางากรุงเทพฯ จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ท่านได้มีโอกาสได้ไปกราบนมัสการหลวงพ่อชา ที่อุบลฯ และกลายมาเป็นลูกศิษย์ที่เป็นส่วนสำคัญของการเผยแพร่การปฏิบัติธรรมสายวัดป่ามาถึงปัจจุบัน

วัดป่าสุนันทวราราม เป็นอีกสถานที่ปฏิบัติธรรม ที่คนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ที่ใฝ่หาธรรมะ ต้องการหาความสงบทางใจ เรียนรู้ การภาวนา และวิปัสสนา โดยส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่เคยเข้าอบรมวิปัสสนากรรมฐาน ของยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย สถานที่ปฏิบัติธรรมย่านบางแค เป็นที่นิยมของคนชั้นกลาง ระดับบน คนทำงานของกรุงเทพฯ ค่อนข้างมาก ซึ่งท่านมิตซูโอะไปบรรยายธรรมอยู่เป็นประจำ และจากหนังสือธรรมะของท่านที่ถูกเผยแพร่มากขึ้น

มูลนิธิมายาโคตมีเพื่อตอบแทนประเทศไทย

พ.ศ.2533 พระอาจารย์มิตซูโอะ ก่อตั้งมูลนิธิมายาโคตมีเพื่อช่วยเหลือให้ทุนการศึกษาและจัดอบรม จริยธรรมให้เด็กและครู อาจารย์ เป็นการตอบแทนบุญคุณคนไทย ความคิดริเริ่มในการก่อตั้งมูลนิธิเกิดจากการที่พระอาจารย์มิตซูโอะเห็นว่า ในประเทศญี่ปุ่น เด็กๆ และเยาวชนถือเป็นสมบัติล้ำค่า เพราะเป็นทรัพยากรที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต และอยากให้เด็กไทยได้รับโอกาสเหมือนเด็กญี่ปุ่น จึงปรารภกับญาติธรรมและได้รับเงินสนับสนุนจากชาวญี่ปุ่นเริ่มต้นมาจำนวน 1.6 แสนบาท ต่อมาได้คณะชาวไทยร่วมสนับสนุนจนจัดตั้งและจดทะเบียนเป็นมูลนิธิได้สำเร็จ

ทั้งนี้ การดำเนินงานของมูลนิธิก็ไม่ต่างจากการที่ครั้งหนึ่งชาวอุบลราชธานี และพระอาจารย์รูปอื่นๆ ที่มีส่วนอุปถากพระอาจารย์มิตซูโอะมาตั้งแต่สมัยบวชเรียนใหม่ๆ ซึ่งไม่ต่างกับการเป็นผู้มีอุปการะเลี้ยงดูมูลนิธิแห่งนี้ จึงเท่ากับเป็นส่วนหนึ่งของการตอบแทนบุญคุญประเทศไทยได้อีกทางหนึ่งนอกเหนือจากบทบาทด้านศาสนา

ที่มา: http://www.watpahsunan.org/maya/his_data.html,
http://www.geocities.com/mindpoet_i/pramitsuo.html