ในเวลาที่สังคมดิ่งลึกลงสู่ห้วงความทุกข์อันเกิดจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง เหมือนอย่างเหตุการณ์เลวร้าย “พฤษภาเพลิง 2553” ที่ผ่านมา “ธรรมะ” คือทางออกที่ผู้คนนึกถึง โดย “พระสงฆ์” ที่ออกมาชี้แนะทางสว่างในสถานการณ์เกี่ยวกับการบ้าน การเมืองมากที่สุดในช่วงนั้น คือ “พระไพศาล วิสาโล” เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ และล่าสุดยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ที่มีอดีตนายกรัฐมนตรี “อานันท์ ปันยารชุน” เป็นประธาน
“พระไพศาล” เป็นพระที่มีหลายคำขยายความต่อท้ายฉายา เช่น พระนักปฏิบัติ พระนักคิด พระนักเขียน พระนักพัฒนา และพระนักปฏิรูปการเมือง แต่ทั้งหมดได้บทสรุปที่บ่งบอกจุดยืนชัดเจน คือ “พระปัญญาชน” ด้วยเหตุผลอดีตเมื่อครั้งยังเป็นฆราวาส ขณะศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีบทบาทร่วมในแนวทางอหิงสาต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ถูกล้อมปราบภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และถูกคุมขังในเรือนจำ 3 วัน ก่อนถูกประกันตัวออกมาได้ เพราะเป็นนักศึกษา
พระปัญญาชน ยังได้สะท้อนออกมาตลอดการบวช 27 พรรษา จากการเผยแพร่ข้อเขียน บทความ ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ รวมเป็นพ็อกเกตบุ๊กแล้วกว่า 30 เล่ม ด้วยเนื้อหาที่หลากหลายตั้งแต่ ธรรมะเพื่อการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน ธรรมะในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ การเมือง มีบทสัมภาษณ์ตีพิมพ์ และออกทีวีเป็นระยะ โดยเฉพาะช่วงวิกฤตการเมือง ที่ผู้ผลิตรายการต้องการสื่อสารนำคำสอนของพระไพศาล ที่สามารถทำให้หลายคนยั้งคิด ลดโทนของความเกลียดชังระหว่างสี ด้วยการให้อภัย และละลายความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้วยความเข้าใจ
“ในยามที่เพลี่ยงพล้ำ ตกเป็นผู้แพ้ อาตมาไม่อยากเห็นคนโกรธ แก้แค้น ระบายความโกรธใส่เขา เพราะจะยิ่งทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงถูกตัดออกไป และกลายเป็นศัตรูมากกว่าเดิม การแตกแยกก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น คนเสื้อแดงก็ยิ่งฝังใจและเพิ่มจำนวนมากขึ้น” พระไพศาล ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ตีพิมพ์ 21 พฤษภาคม 2553 หรือหลังจากที่ทหารเข้าเคลียร์เวทีราชประสงค์แล้วเพียง 2 วัน
และอีกเพียงประมาณหนึ่งสัปดาห์ พระไพศาลก็ออกอากาศในรายการคนค้นคน ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี
“ถ้าเอาประวัติศาสตร์เป็นบทเรียน อาตมาเชื่อว่าสังคมไทยจะสามารถก้าวข้ามความหดหู่เศร้าหมอง ขอเพียงแต่เรามีศรัทธาในอนาคต ศรัทธาในความดีที่มียังอยู่ในมนุษย์ทุกคนในคนไทย แม้จะมีทั้งพลาดทั้งเผลอไปบ้าง…
หดหู่เป็นเพียงความรู้สึกไม่อยากทำอะไร หมดเรี่ยวหมดแรง เพราะไม่มีศรัทธาอะไรเลย แต่นั่นไม่ร้ายเท่าความโกรธเกลียดเคียดแค้นพยาบาท เพราะเมื่อโกรธเกลียด เราจะอยากทำอะไรบางอย่าง เราอยากจะแก้แค้นอยากตอบโต้ และมักนำไปสู่ความรุนแรงที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิม …ปัญหาตอนนี้ทุกฝ่ายรู้สึกว่าตัวเองถูกกระทำ ทุกฝ่ายมีความเจ็บปวดไม่น้อย ตอนนี้อาตมาเชื่อว่าตอนนี้คนเสื้อแดงและไม่ใช่เสื้อแดง เจ็บปวดทั้งนั้น เคียดแค้น เพราะตัวเองถูกกระทำ …ตอนนี้อาตมาคิดว่าทุกฝ่ายต้องมาช่วยกัน เยียวยาสมานแผลความเจ็บปวดตรงนี้ให้ได้”
ตัวอักษร และคำกล่าวของพระไพศาล เรียบง่าย ตรงไปตรงมา แต่มีแง่มุมให้ความคิดและเกิดปัญญา ทำให้ความนิยมและความศรัทธาในพระไพศาลชัดเจนในกลุ่มคนที่มีความรู้ เป็นที่ยอมรับของคนในสังคม จุดยืนในการแสดงความคิดเห็นให้ผู้คนในสังคมและการเมืองอยู่กันอย่างมีความสุข คือความพยายามในการปฏิรูปสังคมและการเมืองที่พระไพศาลทำมาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นพระนักปฏิรูปอย่างแท้จริงก่อนที่จะเข้าร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยเสียอีก
แนวคิดการปฎิรูปประเทศนั้น พระไพศาลได้กล่าวไว้กับสำนักข่าวเนชั่น เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า “แนวทางการปฏิรูปที่จะมีร่วมกัน ไม่อยากให้ไปคิดเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ ด้านเดียว ต้องร่วมไปสู่การปฏิรูปการศึกษา วัฒนธรรม ปฏิรูปจิตสำนึกคน ปัญหาของเมืองไทยวันนี้ไม่ใช่แค่โครงสร้างความเหลื่อมล้ำสังคม เศรษฐกิจ อย่างเดียว แต่มิติทางวัฒนธรรมก็สำคัญมาก เพราะตอนนี้วัฒนธรรมของคนไทยต้องเรียกว่าถดถอยลง หรือจิตสำนึก คุณภาพจิตสำนึกคนไทยถดถอยลง”
ในช่วงหลังยังสังเกตได้ว่า สื่อได้พยายามนำสารจากการสัมภาษณ์พระไพศาลมาเผยแพร่มากยิ่งขึ้น ชนิดถามตรง ตอบตรง แบบระบุตัวบุคคล พระไพศาลก็กล่าวอย่างตรงไปตรงมาในการวิเคราะห์ทางการเมืองตั้งแต่ทหารคือผู้มีอำนาจ ไปจนถึงเมืองไทยมีมีใครเป็นผู้อำนาจเด็ดขาด หรือแม้กระทั่งวิพากษ์ได้ชนิดตรงใจใครหลายคนว่า “อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ” นายกรัฐมนตรี มีสติปัญญา แต่ไม่ค่อยสนใจหาแนวร่วม
ท่ามกลางบริบทสังคมที่ซับซ้อนและขัดแย้งมากขึ้นเรื่อยๆ บทบาทของพระสงฆ์ในยุคนี้จึงไม่ใช่เพียงทำหน้าที่ภาวนาหาความสงบและนิพพานเพียงลำพังได้เท่านั้น สำหรับ “พระไพศาล” นอกจากปฏิบัติและมุ่งมั่นการสอนเรื่องการเผชิญความตายอย่างสงบและสันติวิธีแล้ว ยังมีคำสอนเข้าใจง่าย การกล่าวถึงปัญหาสังคมอย่างไม่อ้อมค้อม พร้อมนำ “ธรรมะ” มากำกับหาทางแก้ปัญหา คือยาขนานเอกที่เยียวยาสังคม การเมือง และประเทศได้อย่างชัดเจน
People | |
ฉายา | พระไพศาล วิสาโล ชื่อเดิม “ไพศาล วงศ์วรวิสิทธิ์” เป็นชาวกรุงเทพฯ |
เกิด | เมื่อปี 2500 บวชมาแล้ว 27 พรรษา ตั้งแต่ปี 2526 |
การศึกษา | มัธยม 5 โรงเรียนอัสสัมชัญ ปริญญาตรี คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ |
ประสบการณ์ | ปี 2518-2519 เป็นสาราณียกร ปาจารยสาร ปี 2519-2526 เจ้าหน้าที่กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม |
จุดเปลี่ยน | การผ่านประสบการณ์ทางการเมืองจากการร่วมแนวทางอหิงสาต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จนถูกล้อมปราบและถูกขัง 3 วัน ออกมาแล้วยังคงความใจร้อน จิตที่ไม่สงบ และเกิดความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน ทำให้ตัดสินใจบวชตั้งใจไว้ 3 เดือนที่วันทองนพคุณ
เมื่อเรียนกรรมฐานจากหลวงพ่อเทียน จิตตฺสุโภ วัดสนามใน ก่อนไปจำพรรษาแรก ณ วัดป่าสุคะโต อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ และศึกษาธรรมกับหลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณจนถึงปัจจุบัน |
บทบาทในทางสังคมปัจจุบัน | เป็นนักเขียนพ็อกเกตบุ๊กจำนวนมาก และมีคอลัมน์ประจำในสื่อสิ่งพิมพ์ 16 เล่ม เช่น นสพ.กรุงเทพธุรกิจ นสพ.มติชน นิตยสารอิมเมจ นิตยสารซีเครท สารโกมล ปาจารยสาร สารคดี |
สามารถหมวดหมู่ของบทความ แบ่งตามลักษณะเนื้อหา ได้ดังนี้ | |
1.ต้อนรับความตาย | |
2. ธรรมชาติ | |
3.ธรรมยาตรา | |
4.บุคคล | |
5.ประสบการณ์ชีวิต | |
6.พุทธศาสนา | |
7.สันติภาพ สันติวิธี | |
8.สุขภาพ | |
เป็นหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ที่มี “อานันท์ ปันยารชุน” เป็นประธาน | |
โซเชี่ยลมีเดีย | แฟนเพจ Phra Paisal Visalo 2,320 คน ณ วันที่ 25 สิงหาคม หน้า Facebook มี Friends 4,956 คน ณ วันที่ 25 สิงหาคม |
เว็บไซต์ www.visalo.org |