สำหรับชีวิตคนเมืองในยุคที่มีแต่ความเครียดรอบตัวแบบนี้ การนำหา “ธรรมะ” เป็นที่พักพิงทางใจจึงเป็นทางเลือกที่นิยมของคนยุคนี้ และ “เสถียรธรรมสถาน” ซอยวัชรพล รามอินทรา ก็เป็นอีกที่หนึ่งที่หลายๆ คนโดยเฉพาะ “ผู้หญิง” เลือกมา “บำบัดใจ”
ความโดดเด่นของ “เสถียรธรรมสถาน” ที่หลายคนเลือกที่จะมาหาความสงบทางจิต คือ ความสวยงามของสถานที่ ด้วยความร่มรื่นของต้นไม่นานาพันธุ์ และสไตล์การตกแต่งที่คล้ายกับรีสอร์ตหรือสปาสวยๆ จึงแตกต่างจาก “วัด” หรือสถานที่สำคัญทางศาสนาอื่นๆ ที่เคยพบเห็นจนคุ้นตา แต่ก็สามารถให้ความสงบทางใจแก่ผู้พบเห็นได้ไม่ต่างกัน
เป็นเวลาถึง 23 ปีแล้วที่ “แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต” ได้ก่อตั้งที่แห่งนี้ขึ้นเพื่อส่งเสริมการศึกษา ปฏิบัติและเผยแพร่ธรรมะแก่คนทั่วไป พร้อมกับก่อตั้ง “บ้านสายสัมพันธ์” เพื่อเป็นที่เยียวยาจิตใจแก่ผู้หญิงที่ประสบปัญหาชีวิตและการตั้งครรภ์ทั้งที่ยังไม่พร้อม ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้ที่มาเยี่ยมเยียน “เสถียรธรรมสถาน” กว่า 80% มักจะเป็นผู้หญิงและเด็ก
วันนี้ โครงการดังกล่าวได้ขยายตัวมาสู่โครงการ “จิตประภัสสรตั้งแต่นอนอยู่ในครรภ์” เพื่อใช้ธรรมะบ่มเพาะจิตใจทารกตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ โดยมีพ่อและคนในครอบครัวช่วยเหลือ ต่อเนื่องด้วยโครงการ “โรงเรียนพ่อแม่” เพื่อใช้ธรรมะอบรมพ่อแม่ในการเลี้ยงดูลูกแล้วก็ตาม
นั่นหมายความว่า เสถียรธรรมสถาน ได้ขยับขยายสู่การรองรับ “กลุ่มครอบครัว” โดยมี “ผู้ชาย” ซึ่งเป็นคุณพ่อหรือคนในครอบครัว เป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ ที่มีขนาดใหญ่กว่าเก่า จะสร้างผลสะท้อนให้กับสังคมสูง ด้วยภาพนี้เอง ทำให้ค่ายอมรินทร์ธรรมะมองเห็นโอกาสนี้เช่นกัน ออกหนังสือ “มีความสุขให้ลูกเห็น เป็นคนดีให้ลูกดู” ขียนโดยแม่ชีศันสนีย์ นำออกมาวางขาย เพื่อรองรับกับกลุ่มครอบครัว เป็นการปูพื้นฐาน และหากพ่อแม่เข้าใจเรื่องธรรมะแล้ว จะออกหนังสือเด็กออกมา
ในขณะที่ยังมีโครงการอื่นๆ ที่เปิดกว้างให้คนทุกเพศทุกวัยได้เข้ามาพักพิงจิตใจไม่ว่าจะเป็นโครงการ “SOS” (Seeds of Spirituality) เพื่อปลูกฝังความดีให้แก่เยาวชนอายุตั้งแต่ 15-25 ปีโดยไม่จำกัดเพศ ศาสนา และเชื้อชาติ ไปจนถึงโครงการ “ปฏิบัติธรรม พักค้าง ถือศีล 8” ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกอาทิตย์ เพื่อเปิดกว้างให้คนทั่วไปได้เข้ามาปฏิบัติธรรมในวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ส่วนในวันทำงานก็จะมีหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ มาขอปฏิบัติธรรมด้วยเช่นกัน
ผู้ประสานงานคนหนึ่งของแม่ชีบอกกับ POSITIONING ว่า ในแต่ละอาทิตย์จะมีผู้มาเยี่ยมเยียนที่นี่อยู่ที่หลักพันราย แต่ตัวเลขนี้ไม่แน่นอนเสมอไป เพราะหากอาทิตย์ใดมีการจัดกิจกรรมพิเศษขึ้น เช่น กิจกรรมจิตประภัสสร โรงเรียนพ่อแม่ ทำบุญในวันพ่อหรือวันแม่ ไปจนถึงคอนเสิร์ตที่แสดงโดยศิลปินจิตอาสาอย่างป๊อด โมเดิร์นด๊อก นภ พรชำนิ อ๊อด ครีรีบูน อ้อม สุนิสา ตัวเลขดังกล่าวก็จะมากขึ้นตามไปด้วย
แม้ว่าวันที่ไปผู้คนค่อนข้าง “บางตา” คาดว่าไม่น่าเกิน 200 คน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงวัยทำงานอายุ 25 ปีขึ้นไปที่มาปฏิบัติธรรม รองลงมาคือเด็กผู้หญิงอายุไม่เกิน 15 ปีที่มาพร้อมกับ “แม่” และที่เห็นประปรายคือ “ครอบครัว” ที่มากันพร้อมทั้งพ่อ แม่ ลูก เพื่อมาทำกิจกรรมต่างๆ ที่เสถียรธรรมสถานจัดขึ้นทุกอาทิตย์ เช่น ทำผ้าบาติก เทียนเจล เรียนทำลูกชุบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมโรงเรียนพ่อแม่
ส่วนระบบการจัดการภายในเสถียรธรรมสถานนั้น แบ่งออกเป็นหลายส่วนด้วยกัน มีทั้งทีมผู้ประสานงานของ “แม่ชีศันสนีย์” หรือ “คุณแม่” ประมาณ 20 คน ที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อคอยอำนวยความสะดวก คณะแม่ชีราว 10 คนที่คอยประสานงานด้านพิธีกรรมทางศาสนาไปจนถึงการติดต่อกับพระสงฆ์ และอาสาสมัครที่มาช่วยเหลืองานประจำประมาณ 100 คน โดยผู้ประสานคนเดิมได้ให้ข้อมูลเพิ่มว่าความจริงแล้วยังมีอาสาสมัครที่มาคอยช่วยงานเป็นครั้งคราวอีกคาดว่าถึงหลักพันคนจากทั่วโลก เนื่องจาก “คุณแม่” เคยเดินทางไปแสดงธรรมในหลายๆ ประเทศทำให้มีผู้คนเลื่อมใสและขอเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือตามโอกาสต่างๆ ด้วย
นอกจากจะมี “สื่อ” ต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศแวะเวียนมานำเสนอเรื่องราวของ “แม่ชีศันสนีย์” อย่างต่อเนื่องแล้ว ท่านเองก็มีสื่อที่จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่ธรรมะแก่คนทั่วไปเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นพ็อกเกตบุ๊กสำหรับกลุ่มคนต่างๆ ทั้งแม่ เด็ก ครอบครัว คู่รัก รายการวิทยุสาวิกาที่จัดเป็นประจำทุกเช้าวันเสาร์ บริเวณ “ธรรมศาลา” รายการธรรมสวัสดีที่ออกอากาศทางช่องเก้าเวลาหกโมงเช้าทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ ไปจนถึงสื่อ “โซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค” เพื่อเข้าถึงคนรุ่นใหม่อย่างแฟนเพจในเฟซบุ๊กที่มีจำนวนสมาชิกถึงเกือบ 14,000 คน ทวิตเตอร์มีคนตามอยู่ 166 คน และไฮไฟว์ที่มีเพื่อนในลิสต์เกือบ 300 คน