แอลจี อีเลคทรอนิคส์ อิงค์ (แอลจี) ประกาศผลการดำเนินงานอันแข็งแกร่งในปี 2563 ด้วยรายได้รวม 56.45 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 1.75 ล้านล้านบาท) พร้อมสร้างสถิติด้วยผลกำไรจากการดำเนินงานประจำปีที่ 2.85 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 8.84 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.1 จากปี 2562 ซึ่งเป็นผลจากยอดขายที่สูงขึ้นในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านพรีเมียม และทีวี OLED รวมถึงการเติบโตที่แข็งแกร่งของกลุ่มผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์
สำหรับไตรมาสที่สี่ แอลจีได้สร้างผลงานด้วยยอดขาย 16.76 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 5.20 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.9 จากช่วงเดียวกันของปี 2562 และสูงกว่าไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 11
แม้ต้องเผชิญกับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 แอลจียังสร้างสถิติครั้งประวัติศาสตร์ด้วยผลกำไรจากการดำเนินงานประจำไตรมาสสูงถึง 580.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 1.80 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่สี่ของปี 2562 มากถึงร้อยละ 539 แม้ว่าสถานการณ์โรคระบาดและสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจะส่งผลต่อเนื่องมายังปี 2564 แอลจีคาดว่าสภาพเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวหลังจากที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเร่งออกนโยบายการคลังมาเพื่อรองรับวิกฤติโรคระบาดควบคู่ไปกับความสำเร็จจากการพัฒนาวัคซีน โดยในปี 2564 เทคโนโลยีหลัก เช่น AI, 5G, IoT และนวัตกรรมยานยนต์ จะกลายมาเป็นส่วนสำคัญในหน่วยธุรกิจต่าง ๆ ของแอลจี
กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและเครื่องปรับอากาศ ยังคงรักษาผลงานยอดเยี่ยมไว้ได้ด้วยรายได้ประจำปี 2563 ที่ 19.87 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 6.16 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 จากปีก่อนหน้า และสร้างผลกำไรจากการดำเนินงานที่ 2.10 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 6.51 หมื่นล้านบาท) สะท้อนถึงการเติบโตของยอดขายผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านกลุ่มใหม่และธุรกิจให้เช่าเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านในประเทศเกาหลีใต้ ขณะที่รายได้ประจำไตรมาสสี่ที่ 4.94 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 1.53 แสนล้านบาท) สร้างสถิติรายได้ประจำไตรมาสที่สี่สูงสุดในประวัติศาสตร์ คิดเป็นอัตราการเติบโตปีต่อปีสูงถึงร้อยละ 20 พร้อมสร้างอัตราการเติบโตในเลขสองหลักในเกาหลีใต้ อเมริกาเหนือ และยุโรป
กลุ่มผลิตภัณฑ์โฮมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ รายงานรายได้ประจำปี 2563 ที่ 11.76 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 3.65 แสนล้านบาท) และผลกำไรจากการดำเนินงานที่ 865.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 2.68 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.9 จากปีก่อนหน้า ยอดขายในไตรมาสสี่ที่ 3.82 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 1.18 แสนล้านบาท) เติบโตขึ้นร้อยละ 7.9 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2562 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.7 จากไตรมาสก่อนหน้า กำไรจากการดำเนินงานประจำไตรมาสสี่ที่ 182.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 5.66 พันล้านบาท) เป็นผลจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคอเมริกาเหนือและยุโรป
กลุ่มผลิตภัณฑ์โทรศัพท์มือถือ ประกาศรายได้ปี 2563 ที่ 4.66 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 1.44 แสนล้านบาท) และยอดขายประจำไตรมาสที่ 1.24 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 3.84 หมื่นล้านบาท) สูงกว่าไตรมาสเดียวกันในปี 2562 ร้อยละ 4.9 แต่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 9.2 จากการ
ขาดแคลนชิ้นส่วนชิปเซ็ต 4G และยอดขายที่ชะลอตัวของผลิตภัณฑ์มือถือพรีเมียมในตลาดต่างประเทศ ผลการดำเนินงานตลอดปี 2563 ขาดทุน 750.63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 2.33 หมื่นล้านบาท) จากการระดมลงทุนในด้านการตลาดเพื่อรองรับผลิตภัณฑ์รุ่นเรือธง แต่ยังสามารถชดเชยด้วยการลดต้นทุนคงที่ในกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ
กลุ่มผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์ เผยยอดขายในปี 2563 ที่ 5.18 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 1.61 แสนล้านบาท) เติบโตขึ้นร้อยละ 6.1 จากปี 2562 และรายได้ประจำไตรมาสสี่ที่ 1.71 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 5.30 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 41.3 จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า จากการ
ฟื้นตัวของความต้องการซื้อในตลาดยานยนต์หลักในอเมริกาเหนือและยุโรป รวมถึงยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากโครงการใหม่ต่าง ๆ ขณะที่การดำเนินงานในใตรมาสที่สี่ขาดทุน 1.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 55.18 ล้านบาท) ซึ่งพัฒนาจากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้าและไตรมาสที่สามของปี 2563 ด้วยยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของความต้องการซื้อในครึ่งหลังของปี รวมถึงการบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
กลุ่มธุรกิจลูกค้าองค์กร สร้างผลงานรายได้ประจำปี 2563 ที่ 5.36 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 1.66 แสนล้านบาท) และกำไรจากการดำเนินงานที่ 408.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 1.27 หมื่นล้านบาท) ซึ่งเป็นผลจากความต้องการซื้อสินค้าไอทีสำหรับการทำงานระยะไกลและการเรียนออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น ยอดขายประจำไตรมาสสี่ที่ 1.35 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 4.19 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 จากใตรมาสเดียวกันในปี 2562 ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานประจำไตรมาสที่ 62.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 1.94 พันล้านบาท) ลดลงจากปีก่อนหน้าด้วยราคาที่สูงขึ้นของชิ้นส่วนหลักและค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งทั่วโลก อย่างไรก็ตาม คาดว่าตลาดจอดิจิทัลเชิงพาณิชย์จะฟื้นตัวหลังความต้องการซื้อสินค้าไอทีทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจโซลาร์เซลล์มีแนวโน้มดีขึ้นเช่นกันจากการเติบโตของความต้องการด้านพลังงานทดแทนในประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นตลาดหลัก
ข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของไตรมาสที่ 4 ปี 2563
รายได้ที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบด้านบัญชีประจำไตรมาสของ แอลจี อีเลคทรอนิคส์ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ IFRS (International Financial Reporting Standards) สำหรับช่วงสามเดือน สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ทั้งนี้ อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐจะเท่ากับอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยของสามเดือนในไตรมาสเดียวกัน โดยอัตราแลกเปลี่ยน ณ ไตรมาสที่ 4 ปี 2563 อยู่ที่ 31 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ (ตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของธนาคารแห่งประเทศไทย)