กสิกรไทย เผยไลฟ์สไตล์คนไทยยุคโควิดครองแชมป์ทำธุรกรรมการเงินผ่านโมบายแบงกิ้งเป็นอันดับ 1 ของโลก สูงถึง 68.1% ต่อเดือน ดันยอดผู้ใช้งาน K PLUS มากถึง 5 ล้านรายต่อวัน มีจำนวนธุรกรรม 14,500 ล้านรายการ เติบโตขึ้น 71% และมีผู้ใช้งานเป็นอันดับ 1 จำนวน 14.4 ล้านราย พบ 6 ฟีเจอร์ที่มีอัตราการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องรับกับไลฟ์สไตล์การใช้จ่ายเลี่ยงเงินสด ลดการเดินทางนอกบ้าน ช้อปออนไลน์ ได้แก่ ช้อปผ่าน K+ market, จัดพอร์ตการลงทุนอัตโนมัติด้วย Wealth PLUS, โอนเงินไปต่างประเทศ, สะสมคะแนน K Point, เติมเงินผ่าน K PLUS และสแกนจ่ายผ่าน K PLUS QR Code ตั้งเป้าลูกค้าเพิ่มเป็น 17.5 ล้านรายภายในสิ้นปี 2564
นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า กลยุทธ์ของธนาคารคือ ทำให้ K PLUS เป็น “Digital Lifestyle Ecosystem” ไม่ได้จำกัดการใช้แค่ในแอป K PLUS เท่านั้น แต่ไปอยู่ในทุกที่ ทุกเวลาที่ลูกค้าต้องการบริการทางการเงิน ทุกวันนี้ บริการของ K PLUS ได้เข้าไปอยู่ในทุกแอปที่ลูกค้าใช้เป็นประจำทุกวัน ทำให้ลูกค้าไม่ต้องสลับแอปเมื่อต้องการจ่ายเงินรวมถึงการขอสินเชื่อ โดยได้ร่วมมือกับแบรนด์ดังกว่า 50 แบรนด์ เช่น กลุ่มซูเปอร์แอป เช่น Grab และ LINE, กลุ่มอี-คอมเมิร์ซ เช่น Lazada และ Shopee, กลุ่มธุรกิจค้าปลีกยักษ์ใหญ่ เช่น Central JD FINTECH และ JD Central, กลุ่มธุรกิจพลังงาน เช่น PTTOR, Blue CONNECT, สถาบันการศึกษา เช่น โครงการ CU Nex จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ข้อมูลจาก We Are Social และ Hootsuite ระบุว่า ในปี 2563 คนไทยทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงกิ้งเป็นอันดับ 1 ของโลก คิดเป็น 68.1% ต่อเดือน ซื้อสินค้าอี-คอมเมิร์ซผ่านสมาร์ทโฟนเป็นอันดับ 2 ของโลก คิดเป็น 74% และมีการใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านมือถือสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก เฉลี่ย 5 ชั่วโมง 7 นาทีต่อวัน
นายพัชร กล่าวต่อว่า K PLUS ได้กลายเป็นช่องทางสำคัญที่ลูกค้าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ตอบรับกับไลฟ์สไตล์คนในปัจจุบันที่ลดการเดินทางออกนอกบ้าน เลี่ยงจับเงินสด และใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยในปี 2563 มีลูกค้าใช้งาน K PLUS มากถึง 5 ล้านรายต่อวัน มีจำนวนธุรกรรมรวมทุกประเภท 14,500 ล้านรายการ เติบโต 71% และมีผู้ใช้งานรวม 14.4 ล้านราย นอกจากนี้ยังพบว่า มีฟีเจอร์ไลฟ์สไตล์ของ K PLUS ที่มีปริมาณการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่
1) ฟีเจอร์ K+ market มีการใช้งานเพิ่มขึ้น 150% จากปีก่อน เป็นมาร์เก็ตเพลส แหล่งรวมดีล กิน เที่ยว ดื่ม ช้อป โดยลูกค้าเลือกชำระเงินได้ 2 วิธี ได้แก่ ด้วยเงินสดจากบัญชีที่ผูกกับ K PLUS หรือใช้คะแนนสะสม K Point แทนเงินสดได้
2) ฟีเจอร์ Wealth PLUS มีการใช้งานเพิ่มขึ้น 220% จากที่เปิดให้บริการในเดือนพฤษภาคม 2563 จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนในรอบปีที่ผ่านมา ทำให้ลูกค้าหันมาให้ความสำคัญกับการวางแผนการเงินมากยิ่งขึ้น โดย Wealth PLUS เป็นฟีเจอร์จัดพอร์ตกองทุนรวมให้อัตโนมัติ ตอบโจทย์ลูกค้าที่เริ่มต้นลงทุนหรือไม่มีเวลาดูพอร์ตเอง
3) ฟีเจอร์โอนเงินไปต่างประเทศ ในเดือนธันวาคม 2563 มีการใช้งานเพิ่มขึ้น 24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในช่วงที่ยังไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ ลูกค้าใช้ฟีเจอร์นี้สำหรับ โอนเงินสั่งซื้อสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศ โอนเงินให้กับสมาชิกในครอบครัวที่อยู่ต่างประเทศ เช่น ค่าเทอม หรือชาวต่างชาติที่ทำงานในไทยและต้องการโอนเงินกลับประเทศ ปัจจุบันสามารถโอนเงินได้ 12 สกุลเงินหลักใน 30 ประเทศปลายทาง
4) K Point เป็นคะแนนสะสมรูปแบบใหม่ที่ลูกค้าสามารถสะสมได้ 2 วิธี ได้แก่ 1. จากการทำภารกิจ (Mission) ต่างๆ ผ่าน K PLUS เช่น โอน ถอน เติม จ่าย ในช่วงเวลาและเงื่อนไขที่กำหนด 2. ผ่านการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตกสิกรไทย โดยสามารถนำคะแนนสะสม K Point ไปใช้ได้หลากหลายช่องทาง ได้แก่
- แลกซื้อสินค้าผ่าน K+ market
- ชำระบิล เติมเงิน หรือจ่ายสินเชื่อ ได้แก่ สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์
- แลกเป็นส่วนลดตามร้านค้าชั้นนำ
- แลกเป็นเครดิตเงินคืน
- โอนคะแนนไปยังบัตรสมาชิกต่างๆ บน K PLUS ของธนาคาร
5) ฟีเจอร์การเติมเงินเข้า e-Wallet ต่างๆ เช่น Blue CONNECT, TrueMoney Wallet, GrabPay Wallet และเป๋าตัง ทั้งการเติมเงินจากบน K PLUS และการเติมเงินจากแอปของพันธมิตรที่สามารถเชื่อมต่อกับ K PLUS ได้อัตโนมัติ โดยลูกค้าไม่ต้องสลับแอป และไม่ต้องกรอกเลขเอง ซึ่งในปี 2563 มีการใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 200% จากปีก่อน
6) การใช้ K PLUS QR Code สแกนจ่ายเงินที่ร้านค้า K PLUS shop ในปี 2563 มีจำนวนรายการเพิ่มขึ้น 125% จากปีก่อน โดยจำนวนรายการเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงหลังจากเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ธนาคารและบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG ยังได้ดำเนินการวางโครงสร้างด้านเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการจัดเก็บข้อมูลธุรกรรมทางการเงินปริมาณมหาศาลให้มีความปลอดภัย เพื่อรองรับการเติบโตของ K PLUS ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าหมายมีผู้ใช้งาน K PLUS รวม 17.5 ล้านราย และมีจำนวนธุรกรรมทั้งหมดผ่าน K PLUS มากกว่า 24,600 ล้านรายการ ภายในปี 2564