แคทเธอรีน เฉิน รองประธานอาวุโส หัวเว่ย ตอกย้ำความเชื่อมั่นในพลังของเทคโนโลยี

หัวเว่ย ร่วมกับ Global Mobile Association (GSMA), ศูนย์เศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฟู่ตัน, และ The Paper จัดงานสัมมนาในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ภายใต้หัวข้อ “การเชื่อมต่อเพื่อการเติบโตร่วมกัน” (Connected for Shared Prosperity) เพื่อหารือเกี่ยวกับคุณค่าด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และนำไปสู่โลกที่เชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลก ทั้งนักวิชาการและตัวแทนจากองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจากประเทศจีน มาเลเซีย ฮังการี สเปน โปรตุเกส และไทย

แคทเธอรีน เฉิน รองประธานอาวุโสและคณะกรรมการบริหารของหัวเว่ย ได้กล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ “เชื่อมั่นในพลังของเทคโนโลยี” ซึ่งอธิบายถึงบทบาทของเทคโนโลยีในการเป็นขุมพลังเพื่อพัฒนามนุษย์ พร้อมสนับสนุนให้บุคคลและองค์กรนึกถึงอนาคตในภาพกว้างและลงมือร่วมใจทำแม้จะเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่ง รวมถึงตอกย้ำการสนับสนุนองค์การสหประชาชาติของหัวเว่ย ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนสู่การสร้างโลกแห่งนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสำหรับทุกคน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

“วันนี้ หากเราพูดถึงเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง 17 ข้อขององค์การสหประชาชาติ โดยส่วนตัวแล้ว ดิฉันเชื่อว่าเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการจะทำให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้ โดยเราต้องร่วมกันทำตามแนวทาง 2 ประการ เพื่อปลดล็อกศักยภาพของเทคโนโลยีและขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน”

ประการแรก ความท้าทายในการก้าวข้ามความขัดแย้งและเห็นร่วมกันว่าเทคโนโลยีเป็นขุมพลังสำคัญในการพัฒนาของมนุษยชาติ

เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีต เห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเกิดขึ้นหลังการค้นพบครั้งใหญ่ด้านวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยี แต่ในปัจจุบัน การพัฒนาด้านเทคโนโลยีถูกพูดถึงอย่างเกินจริง ในแง่ร้ายและโยงกับการเมือง จนหลายฝ่ายเลิกเชื่อมั่นในพลังของเทคโนโลยีจากความกลัวและความไม่ไว้ใจ กระทั่งถึงจุดที่บางคนพยายามขัดขวางการพัฒนาของเทคโนโลยี

จากรายงานฉบับหนึ่งที่ดิฉันอ่านเมื่อไม่นานมานี้ กล่าวว่าแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ได้รับอิทธิพลจากประเทศจีนที่ไม่ได้รับการควบคุมอย่างเต็มที่จะเป็นแพลตฟอร์มที่อันตรายต่อประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่ง 5G ถือเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มนั้น

5G เป็นเทคโนโลยีมาตรฐานที่สามารถส่งมอบค่าแบนด์วิดท์ที่สูง ค่าความหน่วงต่ำ และการเชื่อมต่ออย่างทั่วถึงครอบคลุม ช่วยให้อุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นดิจิทัล และเป็นประโยชน์กับทุกคน ทั้งนี้ การติดตั้ง 5G ในวงกว้างมีให้เห็นแล้วในหลากหลายอุตสาหกรรมทั่วโลก ผู้บริโภคทั่วไปก็ได้รับประโยชน์จากประสบการณ์ด้าน 5G ในขณะที่ฝั่งภาคอุตสาหกรรมใช้ 5G ในอุตสาหกรรมการท่าเรือ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ และการคมนาคมที่ช่วยยกระดับศักยภาพของการดำเนินการ

หากเราจะกล่าวว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างมาก แต่การพัฒนาเทคโนโลยีนั้นเป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้อง การกล่าวเช่นนั้นก็จะทำให้เกิดเพียงแต่ความแตกแยก ความสับสน และความถดถอยเท่านั้น

เราจึงจำเป็นต้องมีความเห็นในเรื่องนี้ที่ตรงกันในระดับโลก และต้องเชื่อมั่นในศักยภาพและพลังของเทคโนโลยีที่จะสามารถช่วยสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม

แน่นอนว่าเทคโนโลยีใหม่มีความเสี่ยงที่อาจจะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งประเด็นนี้ไม่ใช่ความกังวลที่เพิ่งเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เกิดการปฏิวัติทางอุตสาหกรรม เราเห็นการสร้างกฎข้อบังคับขึ้นมาเพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว กฎต่าง ๆ เหล่านี้จึงทำให้การพัฒนาทางเทคโนโลยีสามารถก้าวข้ามผ่านขอบเขตของแต่ละประเทศได้และยังช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของทุกคน

ความท้าทายอันดับที่สองของเราคือ ความมุ่งมั่นที่จะทำให้เทคโนโลยีมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง พร้อมสร้างคุณค่าสำหรับทุกคน

แม้ว่าการเห็นพ้องต้องกันจะเป็นเรื่องยาก แต่กลับเป็นเรื่องง่ายที่จะปิดกั้นทางเทคโนโลยี โดยองค์กรต่าง ๆ เชื่อว่าการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสามารถเริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ ก่อนได้

จากการเน้นความเข้าใจร่วมกันที่มีอยู่อย่างจำกัดในตอนนี้ รวมไปถึงการคำนึงถึงทรัพยากรที่มีอยู่ เราสามารถขับเคลื่อนไปได้ทีละก้าว โดยการปฏิบัติซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้เกิดความสมบูรณ์แบบ การสร้างความขัดแย้งจึงหมายถึงการหยุดนิ่ง

หัวเว่ยสนับสนุนการพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างสม่ำเสมอ เราเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วเทคโนโลยีจะนำมาซึ่งประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ และเทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยองค์การสหประชาชาติให้สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยหัวเว่ยได้ศึกษาการใช้งานของเทคโนโลยีดิจิทัลหลากหลายรูปแบบที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนดังกล่าว

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้คือ โซลูชัน Smart PV ของหัวเว่ยที่ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก โดยสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึง 148 ล้านตัน ซึ่งเท่ากับการปลูกต้นไม้มากกว่า 200 ล้านต้น เฉพาะในประเทศเอธิโอเปีย เราได้ช่วยลูกค้าของเราติดตั้งสถานีพลังงานแสงอาทิตย์กว่า 400 แห่ง ซึ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้กว่า 2,850 ตัน นอกจากนี้ ในประเทศจีน เรายังได้ช่วยสร้างสถานีพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจะนำไปใช้ในด้านเกษตรกรรมและการประมงในมณฑลหนิงเซี่ยและมณฑลซานตง

ยิ่งไปกว่านั้น หัวเว่ยและองค์การยูเนสโกยังได้เปิดตัวโครงการ Open Schools โดยมีระยะเวลาการดำเนินงานร่วมกันทั้งหมด 3 ปี เพื่อสนับสนุนโรงเรียนในประเทศอียิปต์ เอธิโอเปีย และกานา ด้านการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษผ่านการศึกษาทางออนไลน์

ในทุกกรณีตัวอย่างเหล่านี้ ทุก ๆ การเชื่อมต่อ ทุก ๆ ปริมาณของการปล่อยก๊าซที่ลดลง หรือแม้แต่ทุกๆ จำนวนวัตต์ของไฟฟ้าที่เราสามารถประหยัดได้ รวมถึงการพัฒนาก้าวเล็ก ๆ ที่เราทำมาทั้งหมด จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากไม่มีการพัฒนาทางเทคโนโลยีในก้าวเล็ก ๆ และสิ่งนี้เองคือคุณค่าที่เทคโนโลยีนำมาสู่โลก