IHG หนุนรัฐ “จับคู่” ต่างประเทศดึงนักท่องเที่ยว เปิดช้าไทยเสียโอกาส ดีมานด์เทไปจุดอื่น

เชนโรงแรม IHG มองอนาคตปี 2564 ขึ้นอยู่กับการเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ หนุนรัฐควรเจรจาข้อตกลงแบบจับคู่รายประเทศ เชื่อไทยยังเป็นจุดหมายอันดับต้นๆ ของโลก แต่หากเปิดประเทศช้าอาจเป็นความเสี่ยง ดีมานด์ถูกดึงไปยังประเทศที่เปิดก่อน ขณะที่กลยุทธ์การประคองตัวของ IHG ปีที่ผ่านมาปรับเมนูและโปรโมชัน “ร้านอาหารและเครื่องดื่ม” ให้โดนใจคนไทย ดึงกำลังซื้อกลุ่มใหม่

ความหวังภาคท่องเที่ยวผูกติดอยู่กับการเปิดประเทศให้ต่างชาติเข้าได้โดยไม่ต้องกักตัว เพราะดีมานด์ของคนไทยยังไม่เพียงพอที่จะโอบอุ้มทั้งอุตสาหกรรมไว้ได้

“ราจิต สุขุมารัน” กรรมการบริหาร ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเกาหลี อินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเทล กรุ๊ป (IHG) มองประเด็นนี้ว่า การเปิดประเทศไม่ใช่ว่าสามารถเปิดได้ง่าย เพราะต้องมีขั้นตอนรักษาความปลอดภัยทางสุขอนามัยทุกขั้นตอน ตั้งแต่สายการบิน สนามบิน ขนส่ง จนถึงโรงแรม ทำให้เชื่อว่า ความเป็นไปได้ที่จะเปิดประเทศขึ้นอยู่กับภาครัฐ ซึ่งควรจะมีการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ

“ไคลฟ์ เมอร์เรย์” ผู้จัดการทั่วไปประจำกรุงเทพฯ ของ IHG กล่าวเสริมว่า แน่นอนว่าสถานการณ์ในอุดมคติของธุรกิจโรงแรมคือการเปิดประเทศแบบอิสระ ทุกชาติสามารถบินเข้าได้ แต่เชื่อว่าความเป็นจริงไม่สามารถทำได้ จะต้องมีการเปิดแบบเป็นขั้นเป็นตอน มีการเจรจาเป็นรายประเทศไป

ไคลฟ์กล่าวว่า ขณะนี้แทบทุกประเทศบนโลกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน คือกำลังหารือวิธีการเปิดประเทศ และไทยไม่ควรจะตกขบวนนี้ เพราะดีมานด์เที่ยวต่างประเทศที่อั้นไว้ตั้งแต่ปีก่อนจะเริ่มเทไปที่ประเทศที่เปิดก่อนทันที แม้ว่าไทยจะเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางหลักในใจนักเดินทางมาตลอดก็ตาม

ยกตัวอย่างเช่น สิงคโปร์ คำค้นหาเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเมื่อปีก่อนของสิงคโปร์ มีประเทศไทยเป็นอันดับ 1 แต่ทันทีที่ UAE เปิดประเทศ คำค้นหาของ UAE กลายเป็นอันดับ 1 ในสิงคโปร์แทนไทยทันที ทำให้การเปิดประเทศช้าไปจะเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ไคลฟ์เห็นด้วยกับแผนนำเสนอของภาคเอกชนที่ต้องการให้เริ่มเปิดประเทศวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ เชื่อว่าไม่ใช่ไทม์ไลน์ที่ช้าเกินไป เพราะน่าจะเป็นช่วงเวลาที่การกระจายวัคซีนทั้งในโลกและในไทยเริ่มกระจายได้ปริมาณมากแล้ว ทำให้พร้อมต่อการเปิดการท่องเที่ยว

ราจิตมองข้ามช็อตว่า เมื่อการเปิดประเทศต่างๆ เริ่มขึ้น เชื่อว่าการเดินทางจะทยอยกลับมา จะไม่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลาอันสั้น เพราะคนเดินทางต้องการความมั่นใจด้านสุขอนามัยก่อน โดยกลุ่มที่จะกลับมาก่อนคือกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไป ตามด้วยกลุ่มเดินทางเพื่อธุรกิจ และปิดท้ายกลุ่มเดินทางเพื่อการประชุมจะฟื้นเป็นลำดับสุดท้าย

 

กลยุทธ์สำคัญ “ร้านอาหารและเครื่องดื่ม” ต้องดึงคนไทยได้

สำหรับกลยุทธ์ของ IHG ในการประคองตัวผ่านวิกฤตเมื่อปีก่อน และจะยังคงทำต่อเนื่องปีนี้ คือ การใช้แผนกร้านอาหารและเครื่องดื่มเป็นจุดขายให้กับคนไทย โดยต้องมีการปรับเมนูและโปรโมชันให้ตรงกับความชอบของคนไทยแทน

ไคลฟ์ยกตัวอย่างร้านที่ประสบความสำเร็จเมื่อปีก่อน เช่น ร้านจรัส โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ภูเก็ต, CHAR รูฟท็อปบาร์ของโรงแรม อินดิโก้ กรุงเทพ ถ.วิทยุ, Beer Republic ร้านคราฟท์เบียร์ในโรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ กรุงเทพฯ ชิดลม หรือ Bar.Yard บาร์สไตล์สวนหลังบ้านบนโรงแรมคิมป์ตัน มาลัย กรุงเทพฯ เป็นที่นิยมในหมู่ชาวไทยทันที

F&B กลายเป็นธุรกิจหัวหอกเมื่อปีก่อนอย่างชัดเจน สังเกตได้จากการเปิดโรงแรมใหม่ของเครือคือ คิมป์ตัน มาลัย กรุงเทพฯ IHG ปรับกลยุทธ์เปิดตัวส่วนร้านอาหารทั้งหมดก่อนที่จะเปิดส่วนห้องพักโรงแรม ซึ่งเป็นวิธีทำงานที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ด้านสถานการณ์ภาพรวมของโรงแรม IHG ไทย จากทั้งหมด 31 แห่ง ยังมีโรงแรมที่ปิดบริการ 2 แห่งซึ่งอยู่ในภาคใต้ เนื่องจากขาดดีมานด์ ส่วนที่เหลือเปิดบริการตามปกติ

ไคลฟ์ยอมรับว่า ช่วงสิ้นปี 2563 ซึ่งเกิดการระบาดระลอกสอง ดีมานด์ของคนไทยสะดุดลงจริง แต่ดีมานด์กลับฟื้นตัวดีขึ้นแล้วตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา เชื่อว่าตลอดปีนี้จะเติบโตอย่างช้าๆ ไปจนถึงไตรมาส 3 และหากไตรมาส 4 เปิดประเทศได้ตามเป้าหมาย คาดว่า IHG จะกลับมาเติบโตได้ดี

 

เซ็นดีลใหม่ 2 ทำเล “พระราม 9 – สะพานตากสิน”

ในแง่ของการเซ็นดีลรับบริหารโรงแรมใหม่ สถานการณ์วิกฤต COVID-19 ไม่ทำให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ถอยหนีแต่อย่างใด “เซเรน่า ลิม” รองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจ IHG ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเกาหลี ยืนยันตามแผนเดิมที่จะขยายจำนวนโรงแรมเครือ IHG ในไทยเพิ่มเท่าตัว จากปัจจุบัน 31 แห่งเป็น 60 แห่ง ภายใน 3-5 ปี หรือคิดเป็นจำนวนห้องพักที่เพิ่มขึ้นประมาณ 8,000 ห้อง

อัปเดตเพิ่มเติมจากการแถลงข่าวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ปัจจุบัน IHG ได้ดีลรับบริหารโรงแรมเพิ่มเติมในไทยอีก 2 แห่ง คือ คราวน์ พลาซ่า กรุงเทพฯ พระราม 9 ตั้งอยู่บริเวณ MRT สถานี รฟม. (สายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) พัฒนาโดยเครือไซมิส แอสเสท ส่วนอีกแห่งหนึ่งคือ ฮอลิเดย์ อินน์ เอ็กซ์เพรส เซ็นทรัล เพียร์ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณ BTS สะพานตากสิน

ไคลฟ์ให้ความเห็นกับ Positioning เพิ่มเติมว่า ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยังมั่นใจว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะฟื้นกลับมา และวิกฤต COVID-19 ยิ่งทำให้บริษัทขนาดใหญ่ที่มีแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอแข็งแรง ได้เปรียบในการเจรจาดีลรับบริหารโรงแรม เพราะฐานลูกค้าที่มีในมือและชื่อเสียงที่การันตีลูกค้าได้ เป็นสิ่งสำคัญเมื่อโลกการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเป็นปกติ