บริษัท กรุงไทยพานิชประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ เคพีไอ (KPI) บริษัทประกันวินาศภัยในเครือธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ประกาศผลประกอบการภาพรวมตลอดปี 2563 เพิ่มขึ้น แม้เผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 โดยมีเบี้ยรับรวมเพิ่มขึ้นเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ จากปี 2562 พร้อมเดินหน้าผลักดันสามกลยุทธ์ด้วยการผสานเทคโนโลยีดิจิทัล เสริมศักยภาพบุคลากร และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ยืดหยุ่น เพื่อต่อยอดการทำธุรกิจให้ตอบโจทย์ทุกความต้องการของกลุ่มลูกค้าในยุคปัจจุบัน ตั้งเป้าเป็นบริษัทประกันวินาศภัยไทยที่เติบโตด้วยยอดขายที่โตขึ้นสองเท่าภายในปี 2567 ตามที่คาดหวังไว้
เคพีไอ เปิดเผยยอดสินทรัพย์รวมของบริษัท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ที่ 11,822 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่ 10,465 ล้านบาท โดยรายได้ส่วนเบี้ยประกันรับรวมอยู่ที่ 3,933 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 816 ล้าน หรือคิดเป็น 26.1 เปอร์เซ็นต์ จากปี 2562 (3,117 ล้านบาท) โดยแบ่งสัดส่วนเป็นประกันหมวดมอเตอร์ 37 เปอร์เซ็นต์ และนอนมอเตอร์ (Non-Motor) 63 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งรวมถึง ประกันอัคคีภัย ประกันภัยทางทะเล และประกันภัยเบ็ดเตล็ด
ดร. พงษ์ภาณุ ดำรงศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กรุงไทยพานิชประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “แม้ว่าในปี 2563 เศรษฐกิจไทยและทั่วโลกจะได้รับผลกระทบอย่างมากจากเหตุการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ในอีกด้านหนึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ทำให้ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากยิ่งกว่าที่เคย ผลคือคนมองหาผลิตภัณฑ์ด้านประกันวินาศภัยรูปแบบต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น”
ดร. พงษ์ภาณุ ดำรงศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กรุงไทยพานิชประกันภัย จำกัด (มหาชน)
เคพีไอ ได้มีการปรับและพัฒนาองค์กรมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการพัฒนาและปรับวิธีการดำเนินธุรกิจด้วยการนำสามกลยุทธ์หลักมาใช้เพื่อเสริมความคล่องตัวและให้สอดรับกับเทรนด์ของโลกในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาด้านบุคลากร การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงความต้องการเฉพาะของทุกกลุ่มลูกค้า รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเสริมทักษะและศักยภาพในการทำงานต่าง ๆ อาทิ การนำ Robotic Process Automation (RPA) เข้ามาใช้ในการพิจารณาการรับประกันในส่วนของประกันภัยรถยนต์และประกันอัคคีภัย โดยในปีนี้จะเริ่มพัฒนาคุณภาพการให้บริการสินไหมด้วยเช่นกัน
“เคพีไอได้ศึกษาวิจัยตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภคมาตลอด เพื่อให้มั่นในว่าเราจะสามารถออกผลิตภัณฑ์ได้สอดคล้องกับเทรนด์และความต้องการที่เปลี่ยนไปของกลุ่มลูกค้าในแต่ละช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นประกันภัยรถยนต์สำหรับกลุ่มผู้สูงวัย หรือประกันวินาศภัยสำหรับกลุ่มธุรกิจ BCG เป็นต้น และนอกจากความพร้อมในการพัฒนาเพื่อมอบประสบการณ์ใหม่ให้แก่ทุกกลุ่มลูกค้าเป้าหมายแล้ว ยังรวมไปถึงการดำเนินธุรกิจที่ต้องการทำงานให้ใกล้ชิดกับคู่ค้าและพันธมิตรมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถขับเคลื่อนให้ประสบความสำเร็จไปพร้อม ๆ กันบนความน่าเชื่อถือและมั่นคง” ดร. พงษ์ภาณุ กล่าวปิดท้าย