มาสเตอร์การ์ดเผยทั่วโลกจับจ่ายผ่านอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้น 9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หนุนธุรกิจค้าปลีกในช่วงวิกฤต

เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกต้องอยู่บ้าน การจับจ่ายส่วนมากจึงกลายมาเป็นการซื้อผ่านออนไลน์ ตั้งแต่ของสดไปจนถึงอุปกรณ์ทำสวน โดยรายงาน Recovery Insights หรือรายงานอัตราการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศฉบับล่าสุดของมาสเตอร์การ์ดเผยว่า ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ทั่วโลกมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (หรือราว 28 ล้านล้านบาท) ในหมวดการค้าปลีกผ่านช่องทางออนไลน์ในปี 2563 กล่าวได้ว่าการค้าปลีกผ่านอีคอมเมิร์ซในปี 2563 มีสัดส่วนราว 1 เหรียญสหรัฐต่อทุกๆ 5 เหรียญสหรัฐของการค้าปลีกทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 1 เหรียญสหรัฐต่อทุกๆ 7 เหรียญสหรัฐของการค้าปลีกทั้งหมดในปี 25621

ข้อมูลจากรายงาน Recovery Insights: Commerce E-volution ของมาสเตอร์การ์ดประมาณอย่างคร่าวๆ ว่า 20-30% ของการเปลี่ยนแปลงสู่รูปแบบดิจิทัลที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จะเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบถาวร โดยรายงานฉบับนี้ได้รวบรวมข้อมูลจากการทำธุรกรรมและกิจกรรมต่างๆ ผ่านเครือข่ายของมาสเตอร์การ์ดแบบไม่เปิดเผยตัวตนของเจ้าของข้อมูล รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลโดยสถาบันวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ของมาสเตอร์การ์ด หรือ Mastercard Economics Institute ซึ่งรายงานฉบับนี้ได้เจาะลึกสถานการณ์การฟื้นตัวทั่วโลก โดยแบ่งตามประเทศและภาคอุตสาหกรรม ทั้งด้านสินค้าและบริการ และทั้งในและระหว่างประเทศ

แม้ว่าการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจจะไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับธุรกิจทุกราย เนื่องจากมีความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ สถานะทางเศรษฐกิจ และสภาพครัวเรือน แต่รายงายฉบับนี้ได้เผยถึงแนวโน้มสำคัญที่เกิดขึ้นกับทุกธุรกิจหลายประการ อันได้แก่:

  • กลุ่มประเทศที่นำกระแสดิจิทัลมาใช้ก่อนเห็นผลกำไรเร็วกว่า: ประเทศที่มีความเป็นดิจิทัลสูงตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์เช่นสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาเห็นผลกำไรจากการเปลี่ยนแปลงในประเทศสู่ความเป็นดิจิทัลที่ทั้งสูงกว่าและถาวรกว่าประเทศอย่างอาร์เจนตินาและเม็กซิโก ที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีสัดส่วนน้อยกว่า ทั้งนี้ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อเมริกาเหนือ และยุโรปเป็นภูมิภาคที่มีการขับเคลื่อนธุรกิจอีคอมเมิร์ซสูงที่สุด
  • ร้านขายของชำและซุปเปอร์มาร์เก็ตจะยังคงทำกำไรอย่างต่อเนื่อง: การค้าปลีกในหมวดสิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวันซึ่งมีสัดส่วนในตลาดดิจิทัลน้อยที่สุดในช่วงก่อนเกิดวิกฤตได้รับผลกำไรมากที่สุดเมื่อผู้บริโภคปรับตัว ด้วยพฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคและฐานผู้ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เดิมมีจำนวนน้อย มาสเตอร์การ์ดคาดว่า 70-80% ของการซื้อของชำบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจะกลายเป็นเรื่องถาวร
  • ธุรกิจอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศโตขึ้น 25-30% ในช่วงการแพร่ระบาด: ธุรกิจอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศมีทั้งปริมาณการซื้อของและจำนวนประเทศที่มีผู้สั่งซื้อเพิ่มขึ้น การใช้จ่ายของผู้บริโภคในตลาดอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 25-30% ในช่วงเดือนมีนาคมปี 2563 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2564 
  • ผู้บริโภคเพิ่มช่องทางการซื้อสินค้าปลีกบนอีคอมเมิร์ซ โดยจำนวนช่องทางที่ทำการซื้อเพิ่มขึ้นกว่า 30%: ผู้บริโภคทั่วโลกซื้อสินค้าปลีกจากหลากหลายเว็บไซต์และแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงตัวเลือกของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ประชาชนในประเทศเช่นอิตาลีและซาอุดีอาระเบียมีการซื้อสินค้าจากร้านค้าออนไลน์มากมาย โดยจำนวนของร้านค้าออนไลน์ที่ทำการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น 33% โดยเฉลี่ย ตามมาด้วยประเทศรัสเซียและสหราชอาณาจักร
  • การเปลี่ยนไปใช้การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์กำลังพุ่งขึ้นในสหรัฐอเมริกา: เนื่องจากโควิด-19 เร่งให้เกิดการเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัล ผู้บริโภคเลือกใช้จ่ายแบบไร้สัมผัสแทนเงินสดมากขึ้นแม้ในร้านค้า จากการวิเคราะห์ของมาสเตอร์การ์ดเกี่ยวกับรูปแบบการชำระเงินตามร้านค้าปลีกและร้านอาหาร พบว่าการชำระเงินที่ไม่ใช้เงินสดมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีก 5% จากแนวโน้มเดิมที่กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการชำระเงินที่รวดเร็วอย่างยิ่งในช่วงหนึ่งปี

ผู้สนใจสามารถดูรายงาน Recovery Insights: Commerce E-volution ฉบับเต็มได้ที่นี่

ในปีที่ผ่านมามาสเตอร์การ์ดได้จัดทำรายงาน Recovery Insights เพื่อช่วยให้ธุรกิจและรัฐบาลสามารถประเมินและจัดการกับความเสี่ยงด้านสุขอนามัย ความปลอดภัย และเศรษฐกิจที่เกิดจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ได้ดียิ่งขึ้น
โดยรายงานฉบับนี้ได้รวบรวมข้อมูลจากการวิเคราะห์และทดลองบนแพลตฟอร์มของมาสเตอร์การ์ด รวมถึงความเชี่ยวชาญจากการให้คำปรึกษามาอย่างยาวนาน และข้อมูลเชิงลึกที่ไม่เหมือนใคร เพื่อจัดทำเครื่องมือ นวัตกรรม และการวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

การจัดทำรายงาน

รายงานฉบับนี้ได้รวบรวมข้อมูลจากการทำธุรกรรมและกิจกรรมต่างๆ ผ่านเครือข่ายของมาสเตอร์การ์ดแบบไม่เปิดเผยตัวตนของเจ้าของข้อมูล รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลโดยสถาบันวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ของมาสเตอร์การ์ด

1สถาบันวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ของมาสเตอร์การ์ดรวบรวมข้อมูลจากการทำธุรกรรมและกิจกรรมต่างๆ ผ่านเครือข่ายของมาสเตอร์การ์ด และสร้างแบบจำลองการค้าปลีกออนไลน์ทั่วโลกด้วยการชำระเงินทุกประเภท เพื่อคำนวณยอดใช้จ่ายของการค้าปลีกผ่านอีคอมเมิร์ซที่นอกเหนือจากแนวโน้มปรกติ 

เกี่ยวกับสถาบันวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ของมาสเตอร์การ์ด

สถาบันวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ของมาสเตอร์การ์ดเปิดตัวในปี 2563 เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในระดับมหภาคผ่านมุมมองของผู้บริโภค ทางสถาบันมีทีมนักเศรษฐศาสตร์ นักวิเคราะห์ และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่คอยร่วมกันใช้ข้อมูลเชิงลึกของมาสเตอร์การ์ดเช่น Mastercard SpendingPulse™ และข้อมูลจากองค์กรที่สามเพื่อจัดทำรายงานเกี่ยวกับปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลูกค้าหลัก พันธมิตร และผู้กำหนดนโยบาย 

เกี่ยวกับมาสเตอร์การ์ด www.mastercard.com

มาสเตอร์การ์ด เป็นบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกด้านการชำระเงิน เป้าหมายของเราคือการเชื่อมต่อและขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลให้ครอบคลุมและเป็นประโยชน์แก่คนทุกคนในทุกพื้นที่ โดยการทำให้ธุรกรรมการเงินเป็นเรื่องปลอดภัย สะดวก และเข้าถึงได้ ด้วยข้อมูลที่ปลอดภัยและเครือข่ายพันธมิตร ทำให้เรามีนวัตกรรมและโซลูชั่นต่างๆ ที่สามารถช่วยบุคคลทั่วไป สถาบันการเงิน รัฐบาล และธุรกิจให้ตระหนักถึงศักยภาพของตัวเอง การทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อคนในองค์กร คือวัฒนธรรมที่ขับเคลื่อนทั้งภายในและภายนอกองค์กรของเรา ด้วยเครือข่ายในกว่า 210 ประเทศและพื้นที่ เราได้สร้างโลกที่ยั่งยืนและปลดล็อคความเป็นไปได้ในหลายๆ ด้าน

หมายเหตุ

© 2021 การวิเคราะห์และเนื้อหาในรายงานฉบับนี้มีจุดประสงค์เพื่อเป็นเครื่องมือทางการศึกษาในการให้ข้อมูลเท่านั้น ไม่ใช่คำแนะนำในการลงทุน หรือคำแนะนำสำหรับการดำเนินการใดโดยเฉพาะ และไม่ควรใช้ข้อมูลเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจด้านธุรกิจหรือการลงทุน เนื้อหาในรายงานไม่ได้มีการรับรองด้านความถูกต้อง และเป็นการให้ข้อมูลบนพื้นฐาน “ตามที่ระบุ” แก่ผู้ใช้โดยต้องรับผิดชอบความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นด้วยตัวเอง เนื้อหาในรายงานฉบับนี้ตั้งแต่การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการจำลองต่างๆ จากสถาบันวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ของมาสเตอร์การ์ด ไม่ได้สะท้อนถึงผลการดำเนินงานหรือสถานะทางการเงินของมาสเตอร์การ์ดแต่อย่างใด