วีซ่า ผู้นำการให้บริการการชำระเงินดิจิทัลระดับโลก เผยข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมจากการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปีของวีซ่า (Visa Consumer Payment Attitudes Study) ว่าเกือบครึ่งหนึ่งของผู้บริโภคชาวไทย (45 เปอร์เซ็นต์) มีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายด้วยเงินสดถึงแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะสิ้นสุดลง
การศึกษาฉบับนี้ยังได้เจาะลึกในเรื่องของกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผู้บริโภคชาวไทยตั้งตารอเมื่อสถานการณ์ในปัจจุบันคลี่คลายลง โดยสามกิจกรรมที่ผู้คนสนใจมากที่สุด คือ การท่องเที่ยวภายในประเทศ (35 เปอร์เซ็นต์) การท่องเที่ยวไปยังจุดหมายปลายทางต่างประเทศที่ปลอดภัยจากโควิด-19 (29 เปอร์เซ็นต์) และการจัดทริปสั้น ๆ ภายในเมืองที่อาศัยอยู่ (19 เปอร์เซ็นต์)
สุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “วิกฤตการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อความเป็นอยู่ รวมถึงด้านการงาน และการจับจ่ายของผู้คนทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก เป็นเวลากว่าหนึ่งปีนับแต่การเริ่มระบาดของโควิด-19 เราได้จับตามองว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตจะส่งผลอย่างไรต่อการดำรงชีวิตของเราในอนาคต ซึ่งวีซ่าเองก็ได้ใช้โอกาสนี้ในการศึกษาและนำสิ่งที่เราค้นพบมาแบ่งปันด้วยความเชื่อที่ว่าในท้ายที่สุดสิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ให้กับทุกคนเพื่อใช้ในการเตรียมตัวและวางแผนในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้”
การศึกษาฉบับนี้แสดงให้เห็นว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยที่น่าจะกลายเป็นนิวนอร์มัลหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ คือ การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าในชีวิตประจำวัน (62 เปอร์เซ็นต์) และการหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนชุมนุมกันหนาแน่น (43 เปอร์เซ็นต์)
นอกจากนี้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้บริโภคชาวไทยช้อปปิ้งผ่านช่องทางใหม่ ๆ ซึ่งช่องทางที่ผู้ตอบแบบสำรวจใช้เป็นครั้งแรกมากที่สุดหลังการเกิดวิกฤตการณ์โควิด คือ การช้อปผ่านแอปและเว็บไซต์ (65 เปอร์เซ็นต์) การใช้บริการส่งตรงถึงบ้านหลังการสั่งซื้อทางโทรศัพท์กับร้านค้าในพื้นที่ (47 เปอร์เซ็นต์) และการช้อปผ่านโซเชียลมีเดีย (44 เปอร์เซ็นต์)
สิ่งที่น่าสนใจ คือ กลุ่มผู้บริโภคชาวไทยได้ถูกปรับพฤติกรรมให้ต้องมีการคิดทบทวนเพื่อจัดลำดับความสำคัญในการใช้จ่ายไปโดยปริยาย โดยผลการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง ชี้ให้เห็นว่า หมวดการใช้จ่ายที่มีการลดลงอย่างเห็นได้ชัดคือการเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ (63 เปอร์เซ็นต์) การไปชมภาพยนตร์หรือร่วมงานกิจกรรมต่าง ๆ (60 เปอร์เซ็นต์) การซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น กระเป๋า นาฬิกา และเครื่องประดับ (60 เปอร์เซ็นต์) การรับประทานอาหารในร้านอาหารแบบ Fine-dining (58 เปอร์เซ็นต์) การใช้บริการเสริมสุขภาพและความงาม (57 เปอร์เซ็นต์) และการซื้อเสื้อผ้าใหม่ (54 เปอร์เซ็นต์)
นอกจากนี้ นอกเหนือไปจากเรื่องของการเดินทางท่องเที่ยวทั้งภายใน ต่างประเทศ และทริประยะสั้น ผลวิจัยยังพบว่าผู้บริโภคชาวไทยเตรียมที่จะกลับไปซื้อสินค้าจำพวกแก็ดเจ็ตต่าง ๆ (16 เปอร์เซ็นต์) ของชำและของใช้ส่วนตัว (15 เปอร์เซ็นต์) และการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านและกิจกรรมเพื่อความบันเทิงนอกที่พักอาศัย (10 เปอร์เซ็นต์) โดยน้อยกว่าหนึ่งในสิบวางแผนที่จะเปลี่ยนเครื่องใช้ในบ้านใหม่ (9 เปอร์เซ็นต์) และซื้อสินค้าแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย (8 เปอร์เซ็นต์)
“เราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เกิดขึ้นนี้ จะกลายมาเป็นพฤติกรรมถาวรมากกว่าการเปลี่ยนแปลงเพียงชั่วคราว ซึ่งรวมถึงการเลือกใช้วิธีการชำระเงินแบบไร้สัมผัส อย่างเช่น การแตะเพื่อจ่ายผ่านบัตรหรือสมาร์ทโฟน ซึ่งมอบประสบการณ์ทางการชำระเงินที่ดีกว่า แถมยังปลอดภัยทั้งกับผู้ซื้อและผู้ขายอีกด้วย เราหวังว่าสถานการณ์จะกลับสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว และในขณะเดียวกันวีซ่าเองได้มีการทำงานอย่างต่อเนื่องร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางธุรกิจต่าง ๆ ของเราทั้งในและนอกวงการธุรกิจด้านการชำระเงิน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตที่น่าจะใกล้เข้ามาก่อนเวลาที่ได้เราคาดการณ์ไว้”, สุริพงษ์ กล่าวสรุป