กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ พร้อมผลักดันธุรกิจดิจิทัลคอนเทนท์ไทย กลุ่มอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นและคาแรคเตอร์ เร่งสร้างศักยภาพการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จัดเจรจาการค้าเจาะ 3 ตลาดคู่ค้าสำคัญ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และไต้หวัน ผ่านระบบออนไลน์ One-On-One Virtual Meeting โดยคาดว่าจะมีผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนท์ไทย-เทศตอบรับเข้าร่วมงานประมาณ 50 ราย
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า “อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ไทยเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) มีนโยบายผลักดันให้เติบโตอย่างต่อเนื่องกรมฯ จึงต้องเร่งสร้างศักยภาพเพื่อรักษาตลาดและขยายตลาดใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนท์ไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นและคาแรคเตอร์โดยวางแผนพุ่งเป้านำเสนอสินค้าและบริการด้านแอนิเมชั่น CGVisual Effect คาแรคเตอร์ไลเซนซิ่ง รวมไปถึงงานด้านคาแรคเตอร์ดีไซน์ไปยังประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ซึ่งเป็น 3 ตลาดสำคัญที่มีธุรกิจดิจิทัลคอนเทนท์เป็นตัวขับเคลื่อนและสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของประเทศ กรมฯ จึงได้กำหนดจัดงานAsian Digital Content Virtual Business Matching ขึ้น โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงโตเกียว นครโอซากา กรุงโซล และกรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) เชิญชวนผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน จำนวน 30 ราย เข้าร่วมเจรจาธุรกิจออนไลน์กับผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนท์ไทย จำนวน 20 รายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ในรูปแบบ One-On-One Virtual Meeting ระหว่างวันที่ 16-18 มิถุนายน 2564 โดยคาดว่าจะสร้างมูลค่าจากการเจรจาการค้ากว่า 30 ล้านบาท”
ในภาพรวมญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน มีอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ที่เจริญก้าวหน้ามีการผลิตแอนิเมชั่นคาแรคเตอร์ และเกมที่มีชื่อเสียงในระดับต้นๆ ของเอเชีย ซึ่งญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของผู้ประกอบการไทย มีความพร้อมในการทำแอนิเมชั่นทุกด้าน แต่ขาดแคลนแรงงาน ส่งผลให้ญี่ปุ่นมีแนวโน้มในการจ้างงานเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งในด้านแอนิเมชั่น โปรดักชั่น และในด้านคาแรคเตอร์
ขณะเดียวกันเกาหลีใต้มีอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ขนาดใหญ่ทั้งด้านแอนิเมชั่น คาแรคเตอร์ และตลาดเกมมีแนวโน้มว่าจ้างการผลิตทั้งในรูปแบบการจ้างงาน (Outsource) และการร่วมผลิต (Co-production) อย่างต่อเนื่องนอกจากนี้ยังมีความต้องการในด้านงาน 2DAnimation และงานด้าน VDO Graphic ในงานเกมอีกเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงมีตลาดซื้อขายลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์ขนาดใหญ่อีกด้วย
ด้านไต้หวันนับได้ว่าเป็นตลาดใหญ่อันดับต้นๆของเอเชีย อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์กำลังเติบโตเป็นอย่างมาก ผู้บริโภคนิยมใช้สื่อโซเชียลมีเดียเช่นเดียวกับไทย ตลอดจนมีไลฟ์สไตล์เปิดรับสินค้าคาแรคเตอร์ใหม่ๆ ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงและพร้อมที่จะสนับสนุนในระยะยาว
ทั้งนี้ Asian Digital Content Virtual Business Matchingได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนท์ไทยเตรียมเข้าร่วมงาน อาทิ บริษัท อาร์วามะ จำกัด (คาแรคเตอร์ WARBIE YAMA) บริษัท วิธิตา แอนิเมชั่น จำกัด (คาแรคเตอร์ ปังปอนด์) บริษัท ทูสปอตคอมมิวนิเคชั่น จำกัด (เกม BLOODY BUNNYใน NINTENDO SWITCH) บริษัท อิ๊กลู สตูดิโอ จำกัด (ภาพยนตร์แอนิเมชั่น 9 ศาสตรา) บริษัท เอ เอส เอ พี คอร์ปอเรชั่น จำกัด(รีฟสตูดิโอ) (ภาพยนตร์แอนิเมชั่นหนุมาน นักรบมนตรา) บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (ภาพยนตร์แอนิเมชั่นNezha Reborn) และบริษัท เดอะมั้งค์ สตูดิโอ จำกัด (ซีรี่ย์ใน Netflix เคว้ง – The Stranded)