บ้านปูหนุน “โครงการ Banpu Champions for Change” ทะยานสู่รุ่นที่ 10 เผย 10 ทีมที่ผ่านเข้ารอบเน้นแก้ปัญหาสังคมด้วยนวัตกรรม พร้อมสร้างเครือข่ายกิจการเพื่อสังคมที่ยั่งยืน

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ ร่วมกับสถาบัน ChangeFusion เผยชื่อ10 กิจการเพื่อสังคมที่ผ่านเข้ารอบ โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม (Banpu Champions for Change) หรือ BC4C” รุ่นที่ 10 พร้อมให้ทุนสนับสนุนเบื้องต้นรวม 800,000 บาท สำหรับนำไปต่อยอดกิจการให้บรรลุเป้าหมายในเวลา 3 เดือน ในปีนี้ ทั้ง 10 ทีมที่ผ่านเข้ารอบต่างนำเสนอแผนธุรกิจที่มุ่งแก้ไขปัญหาสังคมด้วยไอเดียและนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ ที่สำคัญยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในกรอบของสากล (Sustainable Development Goals: SDGs) ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา (Quality Education) การสร้างงานสร้างรายได้ (Decent Work and Economic Growth) การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-Being) เป็นต้น โดยสะท้อนออกมาจากการนำเสนอประเด็นที่แต่ละกิจการมุ่งพัฒนาอย่างยั่งยืน  

นายรัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสาย  สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การดำเนินธุรกิจในช่วงโควิด-19 ถือเป็นความท้าทาย แต่การทำธุรกิจเพื่อคนอื่นหรือกิจการเพื่อสังคมในช่วงเวลานี้ถือว่าท้าทายยิ่งกว่า เพราะนั่นแสดงถึงพลังใจที่ผู้ประกอบการต้องมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม ในขณะที่บรรยากาศทางธุรกิจก็ไม่ได้เอื้อให้กับผู้ประกอบการ ทางเดียวที่จะนำพาให้กิจการเพื่อสังคมสามารถข้ามผ่านอุปสรรคเพื่อสร้างอิมแพคให้กับสังคม คือ การใช้ความคิดสร้างสรรค์ บ้านปูและ ChangeFusion เห็นถึงพลังของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นกับสังคมและชุมชนที่พวกเขาอยู่ เราจึงขอร่วมฉลอง 10 ปี ของโครงการ ด้วยการสนับสนุนและให้กำลังใจพวกเขาในการสร้างธุรกิจที่เข้มแข็ง ด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่ตอบโจทย์และยืดหยุ่นเพียงพอในการรองรับสถานการณ์ที่ท้าทายเช่นนี้” 

จุดเด่นของ 10 ทีมที่ผ่านเข้ารอบในปีนี้ คือ การนำวิธีคิดเชิงนวัตกรรม และแพลตฟอร์มดิจิทัลเข้ามาเพิ่มศักยภาพธุรกิจ เพื่อตอบโจทย์ประเด็นปัญหาสังคมที่หลากหลาย ได้แก่ 

ด้านสิ่งแวดล้อม

  • Food Loss Food Waste ธุรกิจที่ต่อยอดการจัดการขยะในชุมชนมาสู่การพัฒนาสินค้าที่ผลิตจากขยะอินทรีย์ โดยใช้หนอนและแมลงเป็นตัวช่วยในกระบวนการย่อยสลาย และแปรรูปขยะให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ปุ๋ย และอาหารสัตว์ เพื่อลดการฝังกลบขยะอินทรีย์และส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
  • Banana Land ธุรกิจที่ตั้งใจจะพัฒนาชุมชนในตำบลภูหอ จังหวัดเลย ให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ยั่งยืน และพึ่งพาตนเองได้ผ่านการจัดทริปที่พร้อมจะพาไปเรียนรู้วิถีชีวิตอันเรียบง่ายของคนในชุมชน ตั้งแต่การทอผ้าฝ้าย บวชป่า ทำสปา ไปจนถึงการรับประทานอาหารที่ใช้วัตถุดิบออร์แกนิกของชุมชน เพื่อสร้างรายได้และอาชีพให้กับคนในชุมชน
  • Reviv ธุรกิจให้บริการซ่อมและปรับแต่งเสื้อผ้าออนไลน์ที่เชื่อว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นก็ยั่งยืนได้บนพื้นฐานของเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยร่วมมือกับแรงงานนอกระบบที่มีทักษะฝีมือในการซ่อมแซมเสื้อผ้าเก่าให้กลับมาใช้ได้อีกครั้ง รวมถึงนำเสื้อเก่ามาปรับโฉมใหม่ด้วยสารพัดเทคนิค เพื่อชะลอการบริโภคสินค้าแฟชั่น และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด

ด้านการพัฒนาอาชีพ

  • Rosecare แพลตฟอร์มดิจิทัลที่รวบรวมข้อมูลและให้บริการจัดหาผู้รับจ้างทำงานบ้าน เพื่อช่วยลดปัญหาการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม พร้อมกับคำนึงถึงการรักษาประโยชน์ร่วมกันระหว่างผู้รับจ้างและผู้ว่าจ้าง
  • Anywhere Work ธุรกิจที่มุ่งสร้างอาชีพและพัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับกลุ่มแรงงานเปราะบาง เพื่อให้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น เช่น การแปลงเอกสารเป็นไฟล์ดิจิทัล และการคีย์ข้อมูลให้ระบบ AI จดจำและเรียนรู้สิ่งต่างๆ

ด้านการศึกษา

  • Hmong Cyber ธุรกิจที่ต่อยอดจากโครงการพัฒนาทักษะของเยาวชนชาวม้งในหมู่บ้านน้ำจวง มาสู่การพัฒนาชุมชนที่พึ่งพาตนเองและสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและงานเทศกาล โดยใช้แอปพลิเคชันจองทัวร์และหาที่พักเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงนักท่องเที่ยวเข้ากับคนในชุมชน โดยมีเป้าหมายใหญ่คือการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างยั่งยืน
  • insKru แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการประเมินคุณภาพของครู ที่ให้ความสำคัญกับ ‘เสียง’ ของนักเรียนเป็นหลัก อีกทั้งยังเป็นมิตรกับทั้งครูและนักเรียน โดยมีระบบวิเคราะห์ข้อมูลและแนะนำเนื้อหาหลักสูตรเพื่อให้ครูนำไปปรับใช้ในการสอนได้อย่างเหมาะสม พร้อมส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (Active Learning)
  • แพลตฟอร์ม “โตแล้วไปไหน?” ระบบการเรียนรู้และพัฒนาตนเองที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ได้วิเคราะห์และทำความรู้จักตนเองมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่ความต้องการ ความถนัด ความชอบ และข้อจำกัดต่างๆ  รวมถึงได้ทำกิจกรรมทดสอบเลือกเส้นทางต่างๆ ผ่าน VDO Call เพื่อเพิ่มทักษะการตัดสินใจให้นักเรียนสามารถเลือกเส้นทางที่เหมาะกับตนเองในอนาคตได้อย่างมั่นใจ

ด้านสุขภาพ

  • HATO แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เปิดให้คนที่มีความเครียดได้แลกเปลี่ยนมุมมองและความรู้สึกร่วมกัน รวมถึงให้คำแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดการความเครียด โดยมีเป้าหมายคือการสร้างสังคมที่เข้าใจความสำคัญของปัญหาสุขภาพจิต รวมถึงให้กำลังใจคนที่เผชิญกับภาวะความเครียดและปัญหาทางจิตใจ

ด้านการเกษตร

  • นานาญ ธุรกิจที่คิดค้นพัฒนานวัตกรรมกับดักแมลงโซลาร์เซลล์อัตโนมัติ ที่สามารถใช้กำจัดแมลงได้ด้วยการติดตั้งบริเวณแปลงเพาะปลูก เพื่อช่วยให้เกษตรกรทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงลด ละ เลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช

นายสุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน ChangeFusion กล่าวว่า “โครงการ BC4C ได้เดินทางมาถึงหนึ่งทศวรรษแล้ว  BC4C รุ่นที่ 10 ต้องเจอกับความท้าทายมากขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 เพราะเป็นช่วงเวลาที่สังคมไทยต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ อีกทั้งเป็นจังหวะที่ยากสำหรับการทำธุรกิจใหม่ แต่พวกเขามีรุ่นพี่ BC4C ที่พร้อมให้คำแนะนำ ช่วยให้เข้าใจปัญหาและมองเห็นโอกาสการเติบโตในอนาคต โครงการนี้ยังสร้างระบบนิเวศที่ช่วยเหลือเกื้อกูลเครือข่ายกิจการเพื่อสังคมในประเทศไทยให้สามารถฝ่าฟันอุปสรรคและสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปด้วยกัน” 

ทั้ง 10 ทีมจะได้เข้าร่วมเวิร์คช็อปบ่มเพาะทักษะสุดเข้มข้น และลงมือทำธุรกิจจริงตลอดระยะเวลา 3 เดือน ก่อนที่โครงการฯ คัดเลือกเพียง 5 ทีมชนะเลิศในเดือนสิงหาคม 2564 โดยทีมชนะเลิศทั้งหมดจะได้รับเงินทุนสนับสนุนเพิ่มเติมรวม 1.25 ล้านบาท เพื่อนำไปสานต่อกิจการเพื่อสังคมให้บรรลุเป้าหมาย มาลุ้นกันว่ากิจการเพื่อสังคมทีมไหนจะสามารถปั้นกิจการให้เติบโตไปพร้อมๆ กับสร้างผลกระทบเชิงบวกแก่สังคมได้อย่างยั่งยืน และคว้าชัยชนะไปในที่สุด 

ผู้ที่สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและการแข่งขันที่เข้มข้นของผู้เข้ารอบ 10 ทีมสุดท้ายในโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม รุ่นที่ 10 หรือ Banpu Champions For Change (BC4C#10) ได้ที่ www.facebook.com/banpuchampions