เดอะมอลล์ กรุ๊ป เดินหน้าช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจ ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ขานรับนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทยผนึกกำลังภาครัฐและภาคเอกชน เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ เพื่อเศรษฐกิจไทย กับโครงการ “ประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ” จับมือ สถาบันการเงินชั้นนำธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารออมสินเข้าร่วมเป็นพันธมิตรเพื่อสนับสนุนสินเชื่อฟื้นฟู SOFT LOAN และเพิ่มศักยภาพ ให้ผู้ประกอบการร้านค้า ซัพพลายเออร์ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อย กว่า 6,000 รายได้เข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย และรักษาการจ้างงาน เพื่ออนาคตเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้จากการเปิดเผยของ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
(DR.SETHAPUT SUTHIWARTNARUEPUT, GOVERNOR OF THE BANK OF THAILAND) กล่าวว่า“ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง เห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการออกมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมจาก “พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. Soft Loan) โดยคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบต่อร่าง “มาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (มาตรการฟื้นฟูฯ)” วงเงินรวม 350,000 ล้านบาท มีระยะเวลาเบิกเงินกู้ 2 ปีนับตั้งแต่วันที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ และขยายต่ออายุได้อีก 1 ปีหากมีเหตุจำเป็นมาตรการฟื้นฟูฯ นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพให้สามารถประคับประคองกิจการ พยุงระดับการจ้างงาน และมีโอกาสในการฟื้นฟูศักยภาพ รองรับโลกยุคหลังวิกฤต COVID-19 โดยในการจัดทำมาตรการในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคสถาบันการเงิน และภาคเอกชน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสามารถตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจและสอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจำแนกมาตรการเป็น 2 หมวด ตามลักษณะปัญหาที่ต่างกัน ดังนี้
- มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู)วงเงิน 250,000 ล้านบาท มุ่งเน้นให้สถาบันการเงินส่งผ่านสภาพคล่องดังกล่าวแก่ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบแต่ยังมีศักยภาพ
- มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ชำระหนี้ และให้สิทธิลูกหนี้ซื้อคืน (โครงการพักทรัพย์ พักหนี้) วงเงิน 100,000 ล้านบาท มุ่งเน้นในการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรง
ต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว แต่ยังมีศักยภาพและมีทรัพย์สินเป็นหลักประกัน ด้วยการเจรจากับเจ้าหนี้สถาบันการเงินเพื่อหยุดหรือลดภาระหนี้
นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด(MS. SUPALUCK UMPUJH, CHAIRWOMAN, THE MALL GROUP CO., LTD.)กล่าวว่า “เดอะมอลล์ กรุ๊ป ในฐานะองค์กรเอกชนของคนไทยที่ยืนหยัดเคียงข้างคนไทยมาตลอด โดยได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการฝ่าวิกฤตโควิด-19ด้วยมาตรการความช่วยเหลือในทุกมิติอย่างต่อเนื่องนับแต่การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ประกอบด้วย 4 มาตรการคือ มาตรการรณรงค์ “ฉีดวัคซีน เพื่อชาติ”, มาตรการ “บริจาค ฟันฝ่าวิกฤตการณ์โควิด-19”, มาตรการ “สนับสนุน SME และเกษตรกรไทย” และมาตรการ “ประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ”
- มาตรการรณรงค์ “ฉีดวัคซีน เพื่อชาติ”
เดอะมอลล์ กรุ๊ป ได้ผนึกความร่วมมือเอกชนทุกภาคส่วน สนับสนุนภาครัฐเพื่อให้การฉีดวัคซีนโควิด-19 เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและเร่งด่วน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและก้าวข้ามวิกฤติโควิด-19 โดยการสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ในการจัดตั้งหน่วยความร่วมมือบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ด้วยงบประมาณกว่า 200 ล้านบาท สนับสนุนพื้นที่ 6 สาขา แบ่งเป็นพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้แก่เดอะมอลล์ บางกะปิ, เดอะมอลล์ บางแค,
ดิ เอ็มโพเรียม และสยามพารากอน, พื้นที่ จังหวัดนนทบุรี ได้แก่ เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ งามวงศ์วาน และพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ เดอะมอลล์ โคราช รวมกว่า 16,800 ตร.ม.โดยจะดำเนินการระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึง ธันวาคม 2564ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร, จังหวัดนนทบุรี และ จังหวัดนครราชสีมาโดยคาดว่าจะบริการฉีดวัคซีนได้วันละ 2,000 – 5,000 คน / สาขา รวมทุกสาขา 12,000 คน / วันหรือ 400,000 คน / เดือน
นอกจากนี้เดอะมอลล์ กรุ๊ป ยังได้จัดหาเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร เพื่อช่วยดูแลความเรียบร้อยระหว่างดำเนินงาน พร้อมสนับสนุนชุดอาหาร-เครื่องดื่ม สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และจัดหาอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ ตลอดการดำเนินงาน
- มาตรการ “บริจาค ฟันฝ่าวิกฤตการณ์โควิด-19”
เดอะมอลล์ กรุ๊ป เล็งเห็นว่าโรงพยาบาลต่างๆ ประสบปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นอยู่เป็นจำนวนมากจึงได้ร่วมบริจาค“เงิน” และ อุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับ 5 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาล
ศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลราชวิถี และสถาบันบำราศนราดูรเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ที่สำคัญทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยโดยในปี2563ได้ร่วมบริจาคเงิน และ อุปกรณ์ทางการแพทย์รวมมูลค่า20 ล้านบาท และปี 2564 อยู่ระหว่างดำเนินการบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์และเครื่องช่วยหายใจ รวมมูลค่า10 ล้านบาท และรวมมูลค่าทั้งโครงการทั้งสิ้น 30 ล้านบาท
นอกจากนี้ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา เดอะมอลล์ กรุ๊ป ได้ร่วมบริการจัดส่งอาหารกล่อง รสชาติอร่อย สด สะอาด ปลอดภัย ส่งตรงถึงบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล รวมกว่า30,000 ชุดร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจจัดทำ“ชุดกำลังใจ”ซึ่งภายในประกอบด้วยสินค้าอุปโภค– บริโภคและสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวันมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน10,000ชุด พร้อมบริจาค“ถุงน้ำใจ ช่วยชุมชน”เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19โดยมอบถุงน้ำใจให้กับชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และ นครราชสีมาจำนวน 10,000 ชุด,โครงการบริจาคโลหิตเพื่อศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เพื่อร่วมบรรเทาการขาดแคลนโลหิตสำรอง ผ่านห้องรับบริจาคโลหิตที่เดอะมอลล์ทุกสาขา และดิ เอ็มโพเรียม โดย เดอะมอลล์ กรุ๊ป เป็นหน่วยงานที่บริจาคโลหิตมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย กว่า15 ปีรวมจำนวนทั้งสิ้นกว่า 450 ล้านซีซี, สนับสนุนโครงการผลิตวัคซีน เดอะมอลล์ กรุ๊ป ร่วมเป็นหนึ่งในภาคีโครงการ “วัคซีนเพื่อคนไทย” ของมูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผนึกกำลังพันธมิตรธุรกิจ เชิญชวนพนักงาน และลูกค้า ร่วมแรงร่วมใจสนับสนุนนักวิจัยไทย ค้นคว้า วิจัย และผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 โดยคนไทยเพื่อคนไทย ร่วมเป็น 1 ในล้านคนไทย บริจาคเงิน 500 บาท รวม 500 ล้าน
3.มาตรการ “สนับสนุน SME และเกษตรกรไทย”
เดอะมอลล์ กรุ๊ป ได้สนับสนุนนโยบายภาครัฐ โดยมีมาตรการช่วยเหลือภาคเกษตรกรรม ด้วยการเปิดพื้นที่เดอะมอลล์ ทุกสาขา ตลอดทั้งปี เป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้า เพื่อช่วยระบายสินค้าภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรมแปรรูป ภาควิสาหกิจชุมชน OTOP ตลอดจน SME โดยเดอะมอลล์ กรุ๊ป ได้นำร่องด้วยโครงการตลาดคัดไทย,ตลาดเดอะมอลล์รวมใจ, THE MALL TOGETHER MARKET, เดอะมอลล์ บ้านของคนโคราชฯลฯ
4.มาตรการ “ประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ”
เดอะมอลล์ กรุ๊ป ขานรับนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทยผนึกกำลังภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมกับสถาบันการเงินชั้นนำธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารออมสิน ร่วมเป็นพันธมิตรเพื่อสนับสนุนสินเชื่อฟื้นฟู SOFT LOAN และเพิ่มศักยภาพ
ให้ผู้ประกอบการร้านค้า ซัพพลายเออร์ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อย กว่า 6,000 รายได้เข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย และรักษาการจ้างงาน เพื่ออนาคตเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างยั่งยืน
สำหรับการดำเนินมาตรการ“ประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ”เดอะมอลล์ กรุ๊ป ในฐานะผู้บริหารศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์,ดิ เอ็มโพเรียม, ดิ เอ็มควอเทียร์ และสยามพารากอน
มีความตั้งใจมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่งที่จะดูแลช่วยเหลือคู่ค้า ผู้ประกอบการร้านค้า ซัพพลายเออร์ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย รวมกว่า 6,000 รายพร้อมเดินหน้าเป็นตัวกลางในการประสานระหว่างทุกกลุ่ม
กับธนาคารพาณิชย์ชั้นนำทั้ง 6 แห่ง
การประชุมสัมมนาออนไลน์ (WEBINAR) ในวันนี้ จึงเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในประเทศไทยที่
คู่ค้าทุกราย จะได้ทราบในข้อมูลมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และข้อเสนอแนะพิเศษต่างๆจาก 6 ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของประเทศ อันจะเป็นประโยชน์ต่อคู่ค้าทุกรายในการพิจารณาทางเลือกที่ดีที่สุด ที่เหมาะสมที่สุด
โดย เดอะมอลล์ กรุ๊ป จะเป็นตัวกลางประสานงานรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นของผู้ประกอบการธุรกิจ ร้านค้า
ซัพพลายเออร์ SMEs ที่ต้องการเข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟูให้กับแต่ละธนาคาร และประสานการจัดประชุมในวาระต่อไป ระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจกับแต่ละธนาคาร เพื่อรับทราบมาตรการ ข้อมูลและรายละเอียด เพื่อให้ได้รับการพิจารณาวงเงินได้อย่างรวดเร็ว จากนั้นเข้าสู่กระบวนการขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของแต่ละธนาคาร
ซึ่งธนาคารจะติดต่อตรงกับผู้ประกอบการธุรกิจที่ยื่นขอวงเงินแต่ละราย โดยผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับอนุมัติวงเงินจะได้รับการแจ้งจากธนาคารโดยตรง และ เดอะมอลล์ กรุ๊ป จะอำนวยความสะดวกในส่วนที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ตกลงกันระหว่างผู้กู้และธนาคาร โดย เดอะมอลล์ กรุ๊ป ขอให้คำมั่นว่า จะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อเป็นตัวกลางในการประสานพลัง บูรณาการความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการเงินชั้นนำ เพื่อให้คู่ค้าทุกรายได้ก้าวข้ามผ่านวิกฤตการณ์โควิด-19 ในสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกัน พร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนสืบไป
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (MR. PAYONG SRIVANICH, CHAIRMAN OF THE THAI BANKERS’ ASSOCIATION AND PRESIDENT OF KRUNGTHAI BANK)เปิดเผยว่า ภาคธนาคารยืดหยัดและพร้อมเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการช่วยเหลือให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤต ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะความช่วยเหลือทางการเงินเท่านั้น ยังได้ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน ต่อยอดนำดิจิทัลแพลตฟอร์ม และข้อมูลของภาครัฐ เข้ามาช่วยเสริมกลไกภาครัฐในการกระจายวัคซีนไปยังประชาชน เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ ยังได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ออกมาตรการสินเชื่อรายย่อย มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และมาตรการพักทรัพย์พักหนี้เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่อง และลดภาระทางการเงินให้กับผู้ประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้เม็ดเงินจำนวนมากหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ มีผู้ประกอบการSMEs ที่เป็นรากฐานของเศรษฐกิจไทยเกี่ยวข้องถึง 2.5 ล้านราย หรือประมาณ 81% ของผู้ประกอบการ SMEs ทั้งประเทศ และเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการจ้างงานมากที่สุด ถึง 9 ล้านคน คือเป็น 77% ของการจ้างงานในภาค SMEs หรือมากถึง 54% ของการจ้างงานทั้งหมด
ความร่วมมือระหว่างเดอะมอลล์กรุ๊ปและภาคสถาบันการเงิน ภายใต้โครงการ “ประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ” นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้าที่เป็นคู่ค้า และพันธมิตรของเดอะมอลล์กรุ๊ปกว่า 6,000 ราย ให้มีสภาพคล่องทางการเงิน ประคองธุรกิจ รักษาการจ้างงานให้ผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ โดยธนาคารกรุงไทย พร้อมเคียงข้างและสนับสนุนคู่ค้าและพันธมิตรของเดอะมอลล์กรุ๊ปอย่างเต็มที่ เพื่อให้ก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน ผ่าน 2 มาตรการ ประกอบด้วย 1. “สินเชื่อฟื้นฟู” เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปีในช่วง 2 ปีแรก ผ่อนชําระสูงสุดไม่เกิน 10 ปี 2. สินเชื่อประเภทเงินทุนหมุนเวียนสำหรับคู่ค้าของเดอะมอลล์กรุ๊ป ซึ่งเป็นวงเงินกู้เบิกเกินบัญชีโดยให้วงเงินตามธุรกรรมการค้า ข้อดีของสินเชื่อประเภทนี้ คือ ใช้หลักประกันต่ำ และได้อัตราดอกเบี้ยพิเศษ เริ่มต้น MRR สามารถกู้ได้สูงสุด 20 ล้านบาท อีกทั้งยังสามารถใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันร่วมกับการใช้หลักทรัพย์อื่นได้ อย่างไรก็ตาม ลูกค้าสามารถขอสินเชื่อโดยไม่มีหลักประกันได้เช่นเดียวกัน โดยมีวงเงินเริ่มต้นอยู่ที่ 1 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับขนาดธุรกิจและความต้องการใช้วงเงินของคู่ค้า สำหรับคู่ค้าของเดอะมอลล์ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการสามารถลงทะเบียนได้ที่ www.krungthai.com/link/themallgroup
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (MR.CHARTSIRISOPHONPANICH, PRESIDENT OF BANGKOK BANK) กล่าวว่าจากผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ธนาคารกรุงเทพมีความห่วงใยผู้ประกอบการทุกท่าน เพราะเหตุการณ์นี้มีผลทำให้ผู้ประกอบการ SME มีรายได้ลดลง ในขณะที่ทุกธุรกิจต้องบริหารสภาพคล่อง ดูแลการจ้างงาน และรักษาธุรกิจเพื่อจะได้กลับมาให้บริการอีกในไม่ช้า โดยธนาคารกรุงเทพมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในรูปสินเชื่อฟื้นฟูตามมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลังเพื่อวัตถุประสงค์หลัก 2 ด้าน คือ1.เพื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการประคับประคองธุรกิจไว้ และรักษาการจ้างงาน และ 2.เพื่อฟื้นฟูธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการ Restart ธุรกิจให้เดินหน้าได้ตามศักยภาพเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย
สินเชื่อฟื้นฟูตามมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลังในครั้งนี้ มีเงื่อนไขที่ค่อนข้างยืดหยุ่นและเปิดกว้างขึ้น คือ อัตราดอกเบี้ยต่ำมาก ให้วงเงินสูงขึ้น ระยะเวลากู้ยาวขึ้น วงเงินสูงขึ้น และเปิดกว้างขึ้นทั้งสำหรับรายใหม่ที่ไม่เคยกู้ และ SME ที่ไม่มีหลักประกันโดยธนาคารกรุงเทพตั้งเป้าสำหรับการให้สินเชื่อตามมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู ของธนาคารแห่งประเทศไทยไว้ 15,000 ล้านบาท
ธนาคารกรุงเทพให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้าผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกค้าแต่ละราย ซึ่งเราแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ
- ช่วงแรก สำหรับผู้ประกอบการที่รายได้ลดลง ธนาคารก็จะช่วยเหลือในเรื่องสภาพคล่อง เพื่อให้สามารถประคับประคองกิจการและรักษาพนักงานไว้
- ช่วงที่ 2 เมื่อธุรกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว ลูกค้ามีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อผลิตสินค้าหรือให้บริการตาม Demand ที่เพิ่มขึ้น ธนาคารก็จะให้การสนับสนุนในรูปของ Working Capital
- และช่วงที่ 3 เมื่อธุรกิจดำเนินไปได้ระดับหนึ่ง อาจต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง Business Model ให้สอดคล้องกับสภาพและความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไป ธนาคารก็พร้อมสนับสนุนให้ลูกค้าสามารถดำเนินการได้ตามแผน
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (MR. ARTHID NANTHAWITHAYA, CHIEF EXECUTIVE OFFICER AND CHAIRMAN OF EXECUTIVE COMMITTEE) กล่าวว่า “ภาพรวมเศรษฐกิจไทยถูกกระทบหนักจาก
COVID-19 มีการฟื้นตัวที่ช้า สร้างความบอบช้ำและแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่ลึกกว่าเดิมอย่างที่ประเมินค่าไม่ได้ ธุรกิจต่าง ๆ ล้วนได้รับผลกระทบโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ธนาคารไทยพาณิชย์ตระหนักดีว่าภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ สภาพคล่องและเงินทุนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยพยุงธุรกิจของผู้ประกอบการให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ความร่วมมือในโครงการ “ประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ” ที่ขานรับมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) ตามนโยบายของธปท. ร่วมกับ เดอะมอลล์ กรุ๊ป และ 5 สถาบันการเงินชั้นนำของประเทศ ในครั้งนี้ นอกจากสินเชื่อซอฟท์โลนภายใต้โครงการสินเชื่อฟื้นฟูฯ แล้ว ธนาคารไทยพาณิชย์ยังได้เตรียมสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษเพื่อเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการที่เป็นคู่ค้าของเดอะมอลล์ กรุ๊ป โดยเฉพาะ รวมถึงโซลูชันทางธุรกิจต่าง ๆ ที่จะช่วยผู้ประกอบการรายย่อย “ลดรายจ่าย-เพิ่มยอดขาย-ขยายกิจการ” ธนาคารมุ่งมั่นยืนหยัดเคียงข้างลูกค้าและหวังเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถพยุงธุรกิจผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากและเดินหน้าต่อไปได้หลังวิกฤต COVID-19 เริ่มคลี่คลาย และเศรษฐกิจของประเทศกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง”
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (MS. KATTIYA INDARAVIJAYA, CHIEF EXECUTIVE OFFICER OF KASIKORNBANK) กล่าวว่า“KBankเป็นธนาคารที่ได้ชื่อว่าเด่นเรื่อง SME ซึ่ง 76 ปีที่ KBankดำเนินธุรกิจมา เราทำเรื่อง SME มาโดยตลอดการระบาดของโควิด-19 สร้างผลกระทบให้กับผู้ประกอบการทั่วประเทศซึ่ง “วัคซีนที่ดีที่สุดของการประกอบธุรกิจ คือ การบริหารสภาพคล่อง” ตอนนี้ ทั้งภาครัฐและเอกชนก็ร่วมมือกันเร่งให้ความช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่
KBank มีโครงการช่วยเหลือ ทั้งที่เป็นมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูของธนาคารแห่งประเทศไทย และ ที่จัดเพิ่มเติมให้เองอีกสำหรับลูกค้า ทั้งลูกค้าธุรกิจและลูกค้ารายย่อยในรูปแบบต่างๆ มากมายในครั้งนี้ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาเพิ่มเติม KBankได้เตรียมวงเงินเข้าร่วมไว้อีก 15,000 ล้านบาท หวังว่าจะช่วยลูกค้าได้กว่า 10,000 รายและนอกจากเตรียมวงเงินแล้ว เรายังเตรียมช่องทางในการติดต่อ ทั้งผ่านช่องทาง Digital และ Call Center ที่ลูกค้าไม่ต้องออกจากบ้านก็สามารถได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารเราเตรียมพนักงานไว้กว่า 3,000 คน เพื่อติดต่อลูกค้า SME ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ และหากท่านใดต้องการความช่วยเหลือ แต่ยังไม่ได้รับการติดต่อจากธนาคาร สามารถติดต่อได้ที่ผู้ดูแลความสัมพันธ์ลูกค้าของท่าน และ มีช่องทาง Online ทั้งผ่าน LINE KBank Live (@KBanklive) และ Call center 02-8888822
นายพรสนอง ตู้จินดา ประธานกลุ่มธุรกิจลูกค้าธุรกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (MR. PORNSANONG TUCHINDA, HEAD OF COMMERCIAL BANKING, BANK OF AYUDHYA PCL) กล่าวว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะเป็นอีกหนึ่งพลังที่ร่วมสนับสนุน โครงการ “เดอะมอลล์ ประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ” และสนับสนุนมาตรการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทย ผมหวังว่ามาตรการช่วยเหลือต่างๆ รวมทั้งของกรุงศรีเอง จะช่วยบรรเทาภาระทางการเงิน ช่วยประคองกิจการและรักษาการจ้างงาน เพื่อให้ลูกค้าผู้ประกอบการธุรกิจสามารถก้าวข้ามวิกฤตครั้งนี้ไปได้และกลับมาดำเนินกิจการได้อย่างปกติในอนาคตอันใกล้นี้
นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาด ธนาคารได้ติดต่อลูกค้า SME เพื่อดูแลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องเสมอมาทำให้รู้ถึงผลกระทบที่แท้จริงและสามารถให้ความช่วยเหลือได้ตรงจุด ผ่านมาตรการของภาครัฐ และมาตรการของธนาคารเอง โดยล่าสุดเรายังแบ่งการดูแลลูกค้า ออกเป็น 2 ช่วง โดยช่วงที่ 1 เป็นช่วงที่ผู้ประกอบการยังคงเผชิญความยากลำบากจากผลกระทบของการแพร่ระบาด ธนาคารต้องการช่วยลูกค้าให้สามารถพาธุรกิจผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้โดยสนับสนุนตามนโยบายล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย คือ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ รวมทั้งช่วยเหลือด้วยมาตรการเพิ่มเติมจากกรุงศรีเอง สำหรับลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ เช่น 2 พัก 3 ปรับ คือ พักชำระเงินต้น พักชำระค่างวด ปรับลดจำนวนเงินผ่อนชำระ ปรับลดอัตราดอกเบี้ย และปรับประเภทวงเงินสินเชื่อ พร้อมทั้งช่วยปรับแผนธุรกิจให้ลูกค้า และช่วงที่ 2 เมื่อลูกค้าผ่านพ้นวิกฤตมาได้หรือได้รับผลกระทบน้อยกรุงศรีก็มีสินเชื่ออื่นๆเพื่อช่วยให้ธุรกิจดำเนินได้อย่างราบรื่นมากขึ้น เช่น สินเชื่อ SME Quick Loan เป็นสินเชื่อระยะยาวแบบมีหลักประกัน ให้วงเงินสูงสุดถึง 15 ล้านบาท ดอกเบี้ยคงที่ 5% ต่อปี 2 ปีแรก เลือกผ่อนชำระได้ยาวถึง 10 ปี สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยทั้งนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา
นอกจากความช่วยเหลือทางการเงิน กรุงศรียังคงเดินหน้าสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับลูกค้าธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการเจรจาจับคู่ธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ (Krungsri Business Virtual Matching) และกิจกรรมที่ช่วยสร้างเครือข่ายใหม่ๆ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจได้ในระยะยาว พร้อมรับมือกับอนาคตที่เปลี่ยนไป
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน (MR. VITAI RATANAKORN, PRESIDENT & CEO, GOVERNMENT SAVING BANK) กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารออมสินขับเคลื่อนภารกิจการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ “ธนาคารเพื่อสังคม” หรือ Social Bank ที่มุ่งเน้นการช่วยเหลือประชาชนให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินด้วยต้นทุนที่เป็นธรรม และสนับสนุนภาครัฐในภารกิจการดูแลสังคม ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจปกติ สำหรับการเข้าร่วมโครงการ “ประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ” ครั้งนี้ ธนาคารออมสินไม่ได้มุ่งเน้นขยายฐานการทำธุรกิจ หากแต่มุ่งหวังที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงพนักงานและลูกจ้าง SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ให้สามารถประคับประคองธุรกิจและวิถีชีวิตประจำวันให้ผ่านช่วงเวลาวิกฤตินี้ไปได้ ผ่านการเสริมสภาพคล่องแก่ธุรกิจด้วยมาตรการต่าง ๆ เช่น มาตรการให้การสนับสนุนสินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจ ที่ธนาคารฯ เข้าร่วมโครงการของธนาคารแห่งประเทศไทย ปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยคงที่ 2% ต่อปี (2 ปีแรก) นอกจากนี้ ธนาคารฯ ยังจัดทำมาตรการพิเศษอื่นที่เป็นสินเชื่อผ่อนปรนหลักเกณฑ์ และลดดอกเบี้ยเป็นพิเศษอีกหลายโครงการเพื่อช่วยเหลือเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ ได้แก่ (1) สินเชื่อ Soft Loan ช่วยเหลือ SMEs ภาคการท่องเที่ยวและภาคธุรกิจอื่น วงเงินให้กู้สูงสุด 500.000 บาท อัตราดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี (2) สินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน โดยใช้ที่ดินเปล่าหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นหลักประกัน หรือไถ่ถอนจำนองจากสัญญาขายฝาก คิดอัตราดอกเบี้ยปีแรก 0.10% ต่อปี ปีที่ 2 เท่ากับ 0.99% ต่อปี และ (3) สินเชื่อเพื่อผู้เช่าและผู้ประกอบการธุรกิจ Supply Chain ในเครือข่ายของ บจ. เดอะมอลล์ กรุ๊ป อัตราดอกเบี้ย MOR-1% ต่อปี ส่วนพนักงานและลูกจ้างของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ อาจเข้าร่วมในโครงการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 ตามสิทธิ์ที่ปรากฎในแอป MyMo วงเงินให้กู้ไม่เกิน 10,000 บาท ปลอดชำระ 6 งวดแรก (ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย) และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ที่ธนาคารฯ ร่วมกับ บจ. เงินสดทันใจ จัดโปรโมชัน 2 เดือน ลดอัตราดอกเบี้ยเหลือเพียง 0.49% ต่อปี โดยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ GSB Contact Center โทร. 1115 หรือ GSB SMEs Call Center โทร 02-299-8899
คุณศุภลักษณ์ กล่าวปิดท้ายว่า การผนึกกำลังกับทั้ง 6 ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำในการให้ผู้ประกอบการทางธุรกิจได้เข้าถึงสินเชื่อเงินกู้เพื่อฟื้นฟูในโครงการ “ประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ” ครั้งนี้ เดอะมอลล์ กรุ๊ป เชื่อมั่นว่าจะเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจไทยให้สามารถกลับมาแข็งแกร่งและเติบโตต่อไปได้เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน และรักษาการจ้างงาน เพื่ออนาคตเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างยั่งยืน