กลุ่มเซ็นทรัล แบรนด์ธุรกิจค้าปลีกและการบริการของคนไทย ชูนโยบายนำพาประเทศไทยก้าวพ้นวิกฤตโควิด-19 พร้อมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การสร้างคุณค่าร่วมกันระหว่างธุรกิจและสังคม (Creating Shared Value) โดยยึดหลักระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) เป็นแนวทางพัฒนา มุ่งให้ความสำคัญการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และสร้างชุมชนให้เข้มแข็งตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ โดยในปีนี้ ได้ตั้งเป้าสร้างรายได้ให้ชุมชน กว่า 1,300 ล้านบาท โดยการสนับสนุนพัฒนาผลิตภัณฑ์ การทำเกษตรอินทรีย์ และการพัฒนาตลาดขายให้กับชุมชน และโครงการ “เซ็นทรัลทำ” ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 1,500 ไร่ และตั้งเป้าหมายลดปริมาณขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งรวมจากบรรจุภัณฑ์ให้ได้ร้อยละ 30 ต่อปี ลดปริมาณขยะอาหารให้ได้ร้อยละ 10 ต่อปี และนำส่งขยะอินทรีย์ที่เกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจ เพื่อเข้าสู่กระบวนจัดการที่เหมาะสมให้ได้เพิ่มมากขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และสร้างสภาพแวดล้อมภายในและรอบศูนย์การค้าให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่วิสัยทัศน์การเป็นค้าปลีกสีเขียว ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์
ผลสำเร็จการขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อมในปีที่ผ่านมา พ.ศ. 2563- 2564 กลุ่มเซ็นทรัลและธุรกิจในเครือ ได้ดำเนินโครงการและกิจกรรม เช่น โครงการ “ฟื้นฟูป่า สร้างอาหารยั่งยืน อาหารปลอดภัย” ซึ่งได้ฟื้นฟูป่าต้นน้ำในพื้นที่1,000 ไร่ ของจังหวัดเชียงใหม่และน่าน สามารถกักเก็บคาร์บอน 39,353 ตันคาร์บอนเทียบเท่า โครงการ “ฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลด้วยการสร้างปะการังเทียม” 5,000 ต้น โครงการ “กาแฟภูชี้เดือนอนุรักษ์ป่า” โดยปลูกกาแฟควบคู่กับการอนุรักษ์ป่าในพื้นที่ 500 ไร่ ของจังหวัดเชียงราย โครงการ “ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย” ให้กับเกษตรกร 30,616 ครัวเรือนจากทั่วประเทศ นอกจากนี้ ในด้านพลังงาน มีการใช้ฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจากการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาศูนย์การค้า 41 สาขา รวม 24,621 MWh หรือ เทียบเท่ากับปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ใน 3,169 ครัวเรือน เป็นเวลา 1 ปี มีการติดตั้งสถานีชาร์ทรถไฟฟ้า (EV Charger) ใน 73 จุด และในด้านการจัดการขยะและระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน มีการนำถุงพลาสติกวนใช้ซ้ำ และส่งเข้าสู่การรีไซเคิลได้จำนวน 518,000 ใบ และจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกินรวม 454 ตัน สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม 56,287 ตันคาร์บอนเทียบเท่า
พิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า “ตลอดการดำเนินธุรกิจกว่า 73 ปีที่ผ่านมา กลุ่มเซ็นทรัลได้ให้สำคัญสำหรับการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการเป็นผู้นำการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม มีการก่อตั้งมูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2535 เพื่อขับเคลื่อนโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผ่านโครงการต่างๆ ภายใต้ “เซ็นทรัลทำ” มีแคมเปญ “เซ็นทรัล กรุ๊ป เลิฟ ดิ เอิร์ธ” (Central Group Love the Earth) ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีพ.ศ. 2551 ซึ่งมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน มีการตั้งเป้าหมายเพื่อลดขยะสู่หลุมฝังกลบขยะให้เหลือศูนย์ (Journey to Zero) ผ่านการมีส่วนร่วมของพนักงานและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เน้นการลดการเกิดขยะ (Waste Reduction) คัดแยก (Waste Segregation) และส่งเสริมการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่การตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัสดุรีไซเคิล การจัดการอาหารส่วนเกินและขยะอาหาร พร้อมเดินหน้าเป็นต้นแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืนของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกและบริการจากภายในสู่ภายนอกองค์กร”
ในด้านการจัดการพลังงาน คือการบริหารจัดการพลังงานให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยบริษัทในกลุ่มเซ็นทรัล ได้ดำเนินมาตรการประหยัดพลังงาน ทั้งการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อประหยัดพลังงาน การออกแบบศูนย์การค้าให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การลงทุนติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาของศูนย์การค้ารวม 41 สาขา และติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charger) ที่ศูนย์การค้า 38 แห่ง จำนวน 73 จุด ช่วยให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 145.3 ตันต่อเดือน และมีแผนที่จะขยายและเพิ่มปริมาณจุดบริการให้เพิ่มมากขึ้นภายในศูนย์การค้าอย่างต่อเนื่อง
ในด้านระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) กลุ่มเซ็นทรัลได้สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับพนักงาน ลูกค้าและผู้บริโภคในการใช้ทรัพยากรหรือสินค้าอย่างเต็มประสิทธิภาพ การรีไซเคิล การนำกลับมาใช้ซ้ำ การส่งเสริมนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมมีการประกาศกรอบนโยบายลดและแนวทางปฏิบัติเพื่อลดขยะพลาสติก (Plastic Reduction Policy) และส่งเสริมการจัดการและคัดแยกขยะ (Waste Segregation) เพื่อให้กลุ่มธุรกิจในเครือ อาทิ เซ็นทรัล รีเทล และ เซ็นทรัลพัฒนา ได้นำเป็นกรอบการทำงานและแนวทางปฏิบัติ และดำเนินแคมเปญรณรงค์ Say No to Plastic Bag และการใช้ถุงผ้าแทนการใช้ถุงพลาสติกและนำกลับมาใช้ซ้ำ การส่งเสริมให้ร้านอาหารในกลุ่มเซ็นทรัลเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยในปีพ.ศ. 2563 สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้ 236 ล้านใบ และกลุ่มเซ็นทรัลยังได้นำระบบบันทึกปริมาณขยะที่ถูกคัดแยกภายในศูนย์การค้าผ่าน CPN Waste Management ซึ่งเป็นเพลตฟอร์มที่เชื่อมการทำงานตั้งแต่ต้นทางเพื่อรายงานผลจากทุกศูนย์การค้า ร่วมกับกิจกรรมที่ทำกับภาคีความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการคัดแยกขยะต้นทาง และนำสู่การจัดการที่ปลายทาง เช่น การรีไซเคิล เพื่อใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด อาทิ โครงการ ดังนี้
โครงการคัดแยกขยะอินทรีย์ รวม 450 ตัน โดย CPN นำร่อง 6 ศูนย์การค้าในกรุงเทพฯ และนนทบุรี ร่วมกับ สำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร เทศบาลนครนนทบุรี ท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าเช่า และ พนักงาน คัดแยกขยะอินทรีย์สู่การแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ และก๊าซชีวภาพ
ติดตั้ง “ถังวนถุง by มือวิเศษ” ร่วมกับ PPP Plastic ที่ศูนย์การค้าในกรุงเทพฯ และ ปริมณฑลจำนวน 17 แห่ง เพื่อรับขยะพลาสติกชนิดยืด 12 ประเภท นำส่งรีไซเคิล ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน สามารถคัดแยกขยะพลาสติก ได้จำนวน 6.2 ตัน
ติดตั้งจุดเก็บรวบรวม ขยะอิเล็คทรอนิกส์ (E-waste) ร่วมกับ AIS ในศูนย์การค้าเซ็นทรัลจำนวน 34 จุดทุกสาขาทั่วประเทศ โดยสามารถเก็บรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ ได้ 1,942 กิโลกรัม เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลและกำจัดทำลายอย่างถูกวิธี
กิจกรรมร่วมกับลูกค้าด้านการมีส่วนร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้ถุง Bag for Life ที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ใช้ซ้ำได้หลายครั้งและสามารถนำกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิลต่อได้ โดยสามารถส่งถุงกลับเข้าสู่ระบบได้จำนวน 518,000 ใบ ช่วยลดคาร์บอนการปล่อยคาร์บอนได้ 24.7 ตันคาร์บอนเทียบเท่า
โครงการ Rethink-ทิ้งดี Challenge ที่สนับสนุนการคัดแยกขยะต้นทาง โดยรับบริจาคกล่องพลาสติกอาหารจากลูกค้าเพื่อนำมาแปรรูป เป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ และน้ำมันไพโรไลซิสเพื่อเป็นพลังงานทดแทน โดยสามารถรวบรวมขยะกล่องพลาสติกได้จำนวน 6,500 ชิ้น น้ำหนัก 159 กิโลกรัม
โรงแรมในเครือเซ็นทารา ที่ประหยัดน้ำกว่า 790,000 ลูกบาศก์เมตร หรือ เทียบเท่าสระโอลิมปิก 317 สระ โดยการจัดแคมเปญ Going Greener and My Green Day กับลูกค้า
นอกจากการจัดการขยะพลาสติกแล้ว กลุ่มเซ็นทรัลได้นำนโยบายการจัดการขยะอาหาร เพื่อลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร (Food Lost and Food Waste) รวมถึงขยะอาหารที่เหลือจากการจำหน่าย (Food Surplus) โดย ท็อปส์, แฟมิลี่มาร์ท, มิสเตอร์โดนัท และโรงแรมในเครือเซ็นทารา มีการนำอาหารส่วนเกินที่เหลือจากการจำหน่าย บริจาคให้ผู้เปราะบางทางสังคมผ่านมูลนิธิ SOS (Scholars of Sustenance) จำนวน 203 ตันต่อปี คิดเป็นมื้ออาหารจำนวน 855,869 มื้อในปีพ.ศ. 2563 โดยคิดเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 380 ตันคาร์บอนเทียบเท่า ในขณะที่ธุรกิจโรงแรม ยังมีโครงการลดปริมาณอาหารทิ้งตั้งแต่ต้นทางด้วยการทำงานร่วมกับหัวหน้าเชฟเพื่อวางแผนการใช้วัตถุดิบจากขั้นตอนการเตรียม จนสู่การแปรรูปขยะอาหารที่เกิดขึ้นเป็นปุ๋ยอินทรีย์และก๊าซชีวภาพ กลับนำมาใช้ภายในโรงแรม
จากความมุ่งมั่นตั้งใจในการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 FeedUp@UN โดยองค์การสหประชาชาติ ร่วมกับ สมาคมการตลาดเกษตรและอาหาร แห่งภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค (AFMA – อัฟมา) ได้มอบรางวัล ‘Climate Action Awards’ จำนวน 2 รางวัล ให้กับกลุ่มเซ็นทรัล ในฐานะเป็นองค์กรขับเคลื่อนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กลุ่มเซ็นทรัล เชื่อมั่นว่า การบูรณาการแนวนโยบายด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การส่งเสริมรูปแบบการบริโภคและผลิตที่ยั่งยืน และระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน นำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตั้งแต่การผลิต การบริโภค ไปจนถึงการจัดการของเสียด้วยกระบวนการใช้ซ้ำ (Reuse) หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และการผลิตใหม่ (Re-material ) จะเป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สอดคล้องกับเป้าหมายของกลุ่มเซ็นทรัลด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับชุมชน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และนำไปสู่ความยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจไทย
“บริษัทกลุ่มเซ็นทรัลเป็นภาคธุรกิจที่เป็นตัวกลางที่เชื่อมจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ และเซ็นทรัลต้องเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการผลิตและบริโภคของประเทศสู่จุดสมดุล ไม่สร้างภาระให้แก่สิ่งแวดล้อม การสร้างคุณค่าร่วมกันระหว่างธุรกิจ และสังคม การทำประโยชน์ให้สังคมและสิ่งแวดล้อมจะเป็นหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจของบริษัทกลุ่มเซ็นทรัลจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้” พิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าว
ในการบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมนี้ สำหรับปีพ.ศ.2564 บริษัทกลุ่มเซ็นทรัล ร่วมเป็นภาคีพันธมิตรกับทุกภาคส่วนและทุกองค์กรในการขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าว รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มระดมทุนสนับสนุนธุรกิจ startups ที่ช่วยแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม และการปลูกป่าฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำ และการสร้างแพลตฟอร์มเชื่อมเครือข่ายเกษตรกรต้นน้ำสู่ปลายน้ำผู้บริโภค และสนับสนับสนุนการนำนวัตกรรมมาใช้