อโกด้าเผยผลสำรวจความคิดเห็นนักท่องเที่ยวทั่วโลกเกี่ยวกับมุมมองด้านการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม ผ่านรายงาน เทรนด์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 2021

ผลสำรวจในหัวข้อ เทรนด์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 2021 ซึ่งจัดทำโดยอโกด้า รายงานว่า 1.) ระบุตัวเลือกการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ง่าย 2.) จำกัดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง 3.) เสนอสิ่งจูงใจทางการเงินแก่ผู้ให้บริการที่พักที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ คือสามมาตรการเสริมที่นักท่องเที่ยวลงความเห็นว่าน่าจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน นอกจากนี้ยังมีมาตรการอย่าง 4.) สร้างพื้นที่คุ้มครองให้มากขึ้นเพื่อจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว และ 5.) เลิกใช้ผลิตภัณฑ์อำนวยความสะดวกในห้องพักและห้องน้ำแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เป็นมาตรการที่นักท่องเที่ยวให้ความสำคัญมากที่สุดตามลำดับ

การสำรวจถูกจัดทำขึ้นเพื่อฉลองวันสิ่งแวดล้อมโลก หรือ World Environment Day ซึ่งตรงกับวันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี โดยผลสำรวจยังชี้ให้เห็นถึงผลกระทบจากการท่องเที่ยวต่อสิ่งแวดล้อมที่นักท่องเที่ยวให้ความสำคัญมากที่สุดสามอันดับแรก ได้แก่ 1.) การท่องเที่ยวมากเกินที่แหล่งท่องเที่ยวจะรับได้ 2.) มลพิษและสิ่งปฏิกูลตามชายหาดและแหล่งน้ำ และ 3.) การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อการท่องเที่ยว และการใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการใช้น้ำ และไฟเกินความจำเป็น

ภาครัฐควรเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนมากขึ้น

นักท่องเที่ยวผู้ตอบแบบสำรวจลงความเห็นตรงกันทั่วโลกว่า เป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ (#1) ในการจะสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านการท่องเที่ยวย่างยั่งยืน ต่อมาคือหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว (#2) และตัวนักท่องเที่ยวเอง (#3) โดยผู้ตอบแบบสำรวจในอินโดนีเซีย และสหราชอาณาจักร (36%) จีน (33%) ออสเตรเลีย (28%) และมาเลเซีย (27%) ลงความเห็นว่าภาครัฐต้องเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการสร้างการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามนักท่องเที่ยวชาวไทย (30%) ญี่ปุ่น (29%) และสหรัฐอเมริกา (28%) มองว่าความรับผิดชอบนั้นควรเริ่มต้นจากตัวนักท่องเที่ยวเองในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ตรงข้ามกับนักท่องเที่ยวชาวจีน (11%) สหราชอาณาจักร (13%) และเวียดนาม (14%)

และเมื่อถามนักท่องเที่ยวว่า หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดีขึ้น นักท่องเที่ยวจะท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนขึ้นอย่างไร คำตอบของนักท่องเที่ยว โดยเรียงตามลำดับตามความนิยม มีดังนี้ 1.) จะจัดการขยะของตนเอง รวมถึงจะหลีกเลี่ยงการใช้ถพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง 2.) จะปิดแอร์ และไฟเมื่อออกจากห้องพัก และ 3.) จะเลือกใช้บริการที่พักที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า แม้การท่องเที่ยวมากเกินที่แหล่งท่องเที่ยวจะรับได้ จะเป็นเรื่องที่นักท่องเที่ยวให้ความสำคัญ แต่การไปท่องเที่ยวสถานที่ที่ยังไม่ค่อยได้รับความนิยม กลับอยู่ในอันดับที่ 7 จาก 10 ในสิ่งที่นักท่องเที่ยวจะทำ

ไม่มีความหมายตายตัวในด้านความยั่งยืน

แนวทางปฏิบัติที่นักท่องเที่ยวมองว่าสัมพันธ์กับการเดินทางอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือยั่งยืนมากที่สุดคือ 1.) พลังงาน และทรัพยากรหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม ไฟฟ้าพลังน้ำ และน้ำ 2.)ไม่ใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง และ 3.)การอนุรักษ์สัตว์ และการสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์ให้น้อยลง

วิธีอื่น ๆ ในการประหยัดพลังงาน เช่น การใช้คีย์การ์ด หรือเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว การใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจากธรรมชาติ ก็เป็นแนวทางปฏิบัติที่สำคัญ แต่น่าสังเกตว่าการซื้อผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น การใช้ผ้าปูที่นอน หรือผ้าเช็ดตัวซ้ำระหว่างท่องเที่ยว และการไปท่องเที่ยวสถานที่ที่ยังไม่ค่อยได้รับความนิยม เป็นแนวทางปฏิบัติที่อยู่ใน 3 อันดับสุดท้ายจาก 10 แนวทางปฏิบัติยอดนิยมที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางอย่างยั่งยืนมากที่สุด

คุณจอห์น บราวน์, ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, อโกด้า กล่าวว่า “เราสามารถเห็นได้จากผลการสำรวจเทรนด์การเดินทางอย่างยั่งยืนของอโกด้าว่า ตอนนี้ผู้คนทั่วโลกให้ความสำคัญกับการทำตามวิธีดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมง่าย ๆ อย่างการปิดไฟ และเครื่องปรับอากาศเมื่อออกจากห้องพัก และการลดปริมาณขยะโดยการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง อีกสิ่งหนึ่งเราเห็นได้อย่างชัดเจนคือทั่วโลกมองว่ารัฐบาลต้องเป็นผู้นำในการบริหารจัดการการเดินทางท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน แต่ในขณะเดียวกันหลายคนก็ตระหนักว่าความรับผิดชอบบางอย่างในเรื่องนี้นั้นขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของตนเองเช่นกัน”

“ถึงแม้การตีความแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือยั่งยืนแตกต่างกันออกไป กระนั้นคนทั่วไปส่วนใหญ่ก็กระตือรือร้นที่จะทำหน้าที่ตัวเอง โดยสัญญาว่าจะเลือกที่พักที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือตัดสินใจเลือกตัวเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้รอบคอบมากขึ้นเมื่อเดินทาง หนึ่งในวิธีรับมือความกังวลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวมากเกินที่แหล่งท่องเที่ยวจะรับได้ที่ง่ายที่สุด คือการลองไปท่องเที่ยวสถานที่ที่ยังไม่ค่อยได้รับความนิยม เมื่อปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการเดินทางของผู้คน พวกเขาไปท่องเที่ยวที่ที่ยังไม่ค่อยได้รับความนิยมมากขึ้นเนื่องจากถูกจำกัดให้เดินทางได้แค่ภายในประเทศ ซึ่งเรามองว่า หากได้รับการบริหารจัดการที่ดี จะเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการโรงแรมอิสระ และผู้ให้บริการที่พักที่ต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว อีกทั้งเป็นการลดภาระด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากได้อีกด้วย”

“ในฐานะที่อโกด้าเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เราจำเป็นต้องหาวิธีอย่างต่อเนื่องที่จะช่วยให้ผู้คนทำตามเป้าหมายในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นการทำให้คนค้นหาที่พักที่ยั่งยืนบนอโกด้าได้ง่ายขึ้น การส่งเสริมสนับสนุนพาร์ทเนอร์ให้ใช้คีย์การ์ดจ่ายไฟในห้องพักมากขึ้นการใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน หรือนำการชดเชยคาร์บอนมาเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกให้คนเวลาซื้อผลิตภัณฑ์/บริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว”คุณจอห์น กล่าวเสริม

โควิดส่งผลกระทบเชิงลบต่อทัศนคติต่อการเดินทางอย่างยั่งยืน

ความปรารถนาที่จะการเดินทางอย่างยั่งยืนที่เพิ่มมากขึ้นแพร่หลายมากที่สุดในกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามจากเกาหลีใต้ (35%) อินเดีย (31%) และไต้หวัน (31%) อย่างไรก็ตาม เมื่อดูตัวเลขสำหรับทั่วโลก ขณะที่ผู้คน 25% ปรารถนาจะเดินทางอย่างยั่งยืนมากขึ้น ผู้คนอีก 35% กลับมีความปรารถนาเดียวกันลดลง โดยประเทศที่มีสัดส่วนความปรารถนานี้ลดลงมากที่สุด ได้แก่ อินโดนีเซีย (56%) ไทย (51%) และฟิลิปปินส์ (50%)

“เป็นที่น่ากังวลว่าตอนนี้หลาย ๆ คนมองการเดินทางอย่างยั่งยืนสำคัญน้อยลงกว่าที่พวกเขาเคยในตอนก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้น แต่ผมหวังว่านี่จะเป็นเพียงผลกระทบเชิงลบในระยะสั้น ซึ่งขับเคลื่อนโดยความกระหายที่จะท่องเที่ยว และเดินทางอย่างไรก็ได้ที่พวกเขาทำได้” คุณจอห์นสรุป

ประเทศไทย:

  • คนไทยส่วนใหญ่กังวลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวมากเกินที่แหล่งท่องเที่ยวจะรับได้ การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อการท่องเที่ยว และการใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ
  • 30% ของคนไทยเชื่อว่าตัวเองมีความรับผิดชอบมากที่สุดในการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตามมาด้วยหน่วยงานการท่องเที่ยว (25%) และภาครัฐ(24%)
  • คนไทยส่วนใหญ่สัญญาว่าเมื่อไปท่องเที่ยวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดีขึ้นพวกเขาจะจัดการขยะของตนเองระหว่างการท่องเที่ยว โดยใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งให้น้อยลง (53%) มองหาที่พักที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ (37%) และปิดเครื่องปรับอากาศรวมถึงไฟเวลาออกจากห้องพัก(31%)
  • แนวทางปฏิบัติที่คนไทยถือว่าเป็นประโยชน์ต่อการเดินทางอย่างยั่งยืนมากที่สุด ได้แก่ การที่ที่พักใช้พลังงานหรือแหล่งน้ำหมุนเวียน(31%) การใช้ผลิตภัณฑ์อำนวยความสะดวกที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ (20%) และการใช้คีย์การ์ดจ่ายไฟในห้องพัก (15%)
  • เมื่อถูกถามว่า มีแนวทางปฏิบัติอะไรที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนบ้างคนไทย 47%ตอบการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน 41% ตอบการอนุรักษ์สัตว์และ 35% ตอบการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจากธรรมชาติ
  • มาตรการเพิ่มเติมที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากขึ้นคือระบุตัวเลือกการท่องเที่ยวที่มีความยั่งยืน/เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ง่ายเสนอสิ่งจูงใจทางการเงินแก่ผู้ให้บริการที่พักที่เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานถึงขีดสุด และจำกัดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งของสายการบินหรือในที่พัก