“เอ็นไอเอ” หนุนพื้นที่อีอีซีสู่แซนด์บ็อกซ์แห่งใหม่ของการปั้นดีพเทคสตาร์ทอัพ พร้อมเดินเกมปั้นสตาร์ทอัพสาย “อารีเทค” ชี้มูลค่าสูงถึง 3 แสนล้านเหรียญ

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เร่งแผนพัฒนาดีพเทคสตาร์ทอัพในประเทศ ชูเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเป็นแซนด์บ็อกซ์แห่งใหม่ในการสานฝันสตาร์ทอัพไทยให้เติบโต และมีการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมได้มากขึ้น พร้อมเตรียมสนับสนุนสตาร์ทอัพกลุ่มอารีเทค:  ARI Tech (Artificial Intelligence – Robotics – Immersive, IoT) ซึ่งเป็นกลุ่มที่สามารถตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมได้หลากหลายด้าน และคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าสูงมากถึง 3 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ ผ่านโครงการ “NIA Deep Tech Incubation Program @EEC” โดยคาดว่าในปี 2566 จะมีสตาร์ทอัพกลุ่มนี้เกิดขึ้นอย่างน้อย 10 ราย และได้รับการลงทุนไม่ต่ำกว่ารายละ 30 ล้านบาท

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า แนวโน้มการเติบโต และความน่าสนใจสำหรับการลงทุนในสตารท์อัพขณะนี้ถูกมุ่งเป้าไปที่สตาร์ทอัพเทคโนโลยีเชิงลึก หรือดีพเทคสตาร์ทอัพ (DeepTech Startup) ซึ่งเป็นกลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานและผู้บริโภคได้อย่างหลากหลาย และเป็นกลุ่มที่มีแต้มต่อในการแข่งขันเนื่องจากเลียนแบบได้ยาก ตลอดจนมีวงจรการดำเนินธุรกิจที่ยาวนานกว่าเนื่องจากสามารถบูรณาการในอุตสาหกรรม ได้หลายรูปแบบ สำหรับในประเทศไทยกลุ่ม “ดีพเทค” ก็กำลังเป็นกลุ่มสตาร์ทอัพที่มีทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้ความสนใจในการส่งเสริมเช่นเดียวกัน ซึ่งจะเห็นได้จากการที่หน่วยงานด้านนวัตกรรม อุตสาหกรรม การศึกษา ตลอดจนธุรกิจขนาดใหญ่เริ่มมีการเฟ้นหาสตาร์ทอัพในกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่องมากขึ้น โดยมุ่งหวังให้เกิดการพลิกโฉมอุตสาหกรรมหรือธุรกิจแบบดั้งเดิมไปสู่ความทันสมัยและแข่งขันได้ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

จากข้อมูลพบว่าการทำดีพเทคสตาร์ทอัพในภูมิภาคอาเซียนมี 2 ประเทศที่ให้ความสำคัญอย่างจริงจังนั่นคือ ประเทศสิงคโปร์และประเทศไทย ในส่วนของสิงคโปร์นั้นมีสตาร์ทอัพกลุ่มดีพเทคเกิดขึ้นแล้วประมาณ 65 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มการเงินและทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้รับการลงทุนจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง สำหรับในส่วนของประเทศไทยแม้จะยังมีจำนวนดีพเทคสตาร์ทอัพไม่มากนัก แต่ถือว่ามีจำนวนผู้ให้ความสนใจอยู่ในระดับที่ดี รวมถึงมีโซลูชั่นให้ผู้ที่สนใจสามารถพัฒนาได้อีกมาก เช่น โซลูชั่นด้านอาหาร ระบบการบริการ การเกษตร หรือแม้แต่กระทั่งกลุ่มดิจิทัล “อารีเทค : ARI Tech (Artificial Intelligence – Robotics – Immersive, IoT) ซึ่งเป็นกลุ่มเทคโนโลยีที่สามารถตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมได้หลากหลายด้าน และมีการคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าสูงมากถึง 3 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในอีกประมาณ 5 ปีข้างหน้านี้ (ข้อมูลจาก www.statista.com)

Manager industrial engineer using tablet check and control automation robot arms machine in intelligent factory industrial on real time monitoring system software. Welding roboticts and digital manufacturing operation. Industry 4.0 concept

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ประเทศไทยจะยังไม่เห็นสัดส่วนของดีพเทคสตาร์ทอัพในจำนวนที่สูง และเพียงพอต่อความต้องการในภาคอุตสาหกรรม แต่ประเทศไทยก็มีความได้เปรียบในเชิงพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่เป็นเสมือนแซนด์บ็อกซ์ (SandBox) หรือพื้นที่เพื่อการพัฒนาและทดสอบนวัตกรรม เนื่องจากมีสิ่งอำนวยความสะดวก สิทธิพิเศษ และความพร้อมในการลงทุนจากภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และจากการมีข้อได้เปรียบของ Sandbox ในพื้นที่อีอีซี NIA จึงได้ ริเริ่มกิจกรรม “NIA Deep Tech Incubation Program @EEC” โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกในสาขาอารีเทคให้มีโอกาสเติบโตในพื้นที่ศักยภาพของประเทศ และเพื่อให้สตาร์ทอัพได้มีโอกาสทำงานกับบริษัทขนาดใหญ่ ตลอดจนส่งเสริมให้อุตสาหกรรมในภาคส่วนต่าง ๆ มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้าไปใช้กระบวนการทำงานมากขึ้น รวมถึงเป็นการยกระดับพื้นที่เพื่อดึงดูดบริษัทระดับโลกเข้ามาลงทุนหรือเกิดการจัดตั้งบริษัทดีพเทคต่อไปในอนาคต

Industrial health measures during corona virus pandemic.

“โอกาสการเติบโตของดีพเทคสตาร์ทอัพสาย ARItech ในพื้นที่อีอีซีนั้นมีค่อนข้างมาก เพราะปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรินิกส์ เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอาหาร เป็นต้น ดังนั้น สิ่งที่ NIA จะต้องเร่งส่งเสริมคือการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่เอื้อต่อการเข้าไปทำงานร่วมกันระหว่างสตาร์ทอัพและเอกชนในพื้นที่ เพื่อทดลองและทดสอบเทคโนโลยีเชิงลึกของสตาร์ทอัพ ผ่านการพัฒนาย่านนวัตกรรมในพื้นที่ EEC เพื่อเร่งการเพิ่มจำนวนดีพเทคสตาร์ทอัพในประเทศไทย รวมถึงกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมดึงเอาเทคโนโลยีเชิงลึกที่เกิดขึ้นจากสตาร์ทอัพไทยเข้าไปใช้งาน  อย่างไรก็ดีในอนาคตหากสามารถสร้างดีพเทคสตาร์ทอัพในสาขาอารีเทคได้สำเร็จจะทำให้อุตสาหกรรมสามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเหล่านี้เข้าไปแก้ปัญหาและต่อยอดทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี รวมทั้งจะช่วยให้อุตสาหกรรมในพื้นที่เกิดการขับเคลื่อนด้วยการใช้เทคโนโลยีเชิงลึกมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของทั้งดีพเทคสตาร์ทอัพและบริษัทเอกชนในพื้นที่ ทั้งนี้ แม้ว่าดีพเทคจำเป็นต้องใช้เวลานานกว่า 3-5 ปีในการสร้างเทคโนโลยี แต่ NIA มองว่าประเทศไทยจะต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ เพื่อสร้างความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคอตสาหกรรม 4.0 อย่างเต็มรูปแบบและฟื้นฟูประเทศหลังจากเกิดวิกฤติ ในรอบนี้ผ่านพ้นไป”

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในปี 2564-2566 NIA มีแผนและนโยบายส่งเสริมให้สตาร์ทอัพไทยเริ่มผันตัวเองเข้ามาทำดีพเทคผ่านโครงการส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกระดับภูมิภาค (Deep-Tech Regionalization) ซึ่งเป็นการกระจายองค์ความรู้ นวัตกรรมไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศโดยตั้งเป้าหมายว่าในปี 2566 จะต้องมีบริษัทที่สามารถจดทะเบียนเป็นบริษัทดีพเทคได้ประมาณ 100 ราย และหนึ่งในจำนวนดังกล่าวต้องมีบริษัทสตาร์ทอัพด้านอารีเทคประมาณ 10 ราย พร้อมทั้งคาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดการลงทุนในสตาร์ทอัพในระดับ Pre-series A อย่างน้อยประมาณรายละ 30 ล้านบาท โดยนอกเหนือจาการผลักดันกลุ่มอารีเทคให้เติบโตในพื้นที่อีอีซีแล้ว สาขาอื่น ๆ ที่มีศักยภาพก็จะได้รับการสนับสนุนในรูปที่เหมาะสมเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ หากทั้งสตาร์ทอัพและกลุ่มอุตสาหกรรมได้พัฒนาไปพร้อมกัน NIA เชื่อว่าจะได้เห็นพื้นที่อีอีซี เต็มไปด้วยความทันสมัยและมีความเชื่อมั่นในการลงทุนเทียบเท่ากับประเทศชั้นนำด้านเทคนโลยีได้แน่นอน